วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เผด็จการรัฐสภา ?

เผด็จการรัฐสภา?

คำว่า เผด็จการรัฐสภาในเมืองไทย มีความสำคัญมาก และเป็นหนึ่งในคีย์เวิร์ดของการชุมนุมทางการเมือง  
คำ ๆ นี้มีที่มาจากไหน เป็นจริงหรือไม่ และส่งผลกระทบอย่างไรต่อประชาธิปไตยของไทย
น่าจะนำมาวิเคราห์ด้วยกัน

1. ที่มา
โดยคำนี้มุ่งหมายวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลของคุณทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลอื่น ๆ ที่เป็นนอมินี หรือได้รับอิทธิพลของคุณทักษิณ ที่เรียกกันว่า  ระบอบทักษิณ” 
พวกเขาใช้คำว่า "เผด็จการรัฐสภา" ไปอธิบายรัฐบาลที่นำโดยคุณทักษิณ และรัฐบาลต่อ ๆ มาที่ชนะการเลือกตั้ง เพื่ออธิบายข้อเสียของระบอบทักษิณ คำว่าเผด็จการรัฐสภา จึงถูกใช้สลับสับเปลี่ยนกับคำว่า ระบอบทักษิณได้เต็มที่ ภายใต้การอธิบายนี้ เขาพูดถึงการทำงานในแบบพวกพ้องเครือญาติ (สภาผัวเมีย) ใช้อำนาจอย่างเผด็จการในการครอบงำอำนาจทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ จนฝ่ายค้าน ประชาชน และองค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีได้  
โดยทางทฤษฎีแล้ว คำว่า เผด็จการรัฐสภาไม่ได้เป็นของใหม่ในทางรัฐศาสตร์ แต่เกิดขึ้นมานานแล้วในหลายประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมืองที่รัฐบาลสามารถควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติได้อย่างเต็มที่ เพราะมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง มีวินัยพรรคที่รัดกุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแตกแถวแทบไม่ได้ (ผู้ที่ต้องการความรู้เพิ่มเติมอาจสืบค้นด้วยคำว่า elective dictatorship หรือ executive dominance)
ในทางทฤษฎีนั้น หากจะพิจารณาว่า ระบอบการเมืองใดเป็นเผด็จการรัฐสภาหรือไม่นั้น อาจจะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ตีความ ส่วนในทางหลักการแล้ว สิ่งที่เราน่าจะกำหนดตัวชี้วัดของความเป็นเผด็จการรัฐสภาน่าจะประกอบไปด้วย 
1. รัฐบาลมีเสียงข้างมากแบบสมบูรณ์
2. กระบวนการนิติบัญญัติอยู่ในมือรัฐบาล เช่น กฎหมายส่วนใหญ่ริเริ่มโดยรัฐบาล
3. ฝ่ายค้านไม่อาจทำอะไรรัฐบาลได้
4. องค์กรตามรัฐธรมนูญไม่อาจทำอะไรรัฐบาลได้ องค์กรตามรัฐธรรมนูญเช่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความทางการเมืองเข้าข้างรัฐบาล
5. สื่อและประชาชนต่อต้านรัฐบาลแต่ไม่อาจทำอะไรรัฐบาลได้ หรือสื่อเป็นพวกเดียวกับรัฐบาล
6. พรรคการเมืองทำตามมติพรรค ไม่ทำตามฉันทามติที่ได้จากประชาชน

ปัญหาของการมี เผด็จการรัฐสภาจึงทำให้เกิดปัญหาอย่างน้อยใน 3 ประเด็นคือ 
1) รัฐบาลมีอำนาจมากเกินไปจนไม่สามารถตรวจสอบได้ 2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิบัติตามวินัยพรรค ทำให้ความเป็นตัวแทนของประชาชนต้องเป็นรองความเป็นตัวแทนพรรค 3) กระบวนการนิติบัญญัติตกอยู่ในมือรัฐบาล หรืออีกนัยหนึ่งคือพรรคการเมือง ซึ่งไม่ได้สะท้อนความหลากหลายของการเป็นตัวแทนของประชาชน

2.  มีเผด็จการรัฐสภาในเมืองไทยจริงๆ หรือไม่
ถ้าตามทฤษฎีก็คงต้องบอกว่า "เข้าขั้น" เพราะรัฐบาลภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีอำนาจมาก ๆ เลย สาเหตุมาจากอย่างน้อย  2 ประการ 
     1. รัฐธรรมนูญ 2540 
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมให้นายกรัฐมนตรีเข้มแข็งมากขึ้น อันเนื่องมาจาก 
 1). การบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง
 2). การกำหนดให้ผู้เป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สองประการนี้ทำให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไปเป็นรัฐมนตรีจึงต้องลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เหลือเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีตำแหน่งเดียว ทำให้การปรับคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งทำให้อำนาจต่อรองของของนายกรัฐมนตรีมีความเข้มแข็งมากกว่าเดิมขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กลไกที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กำหนดให้มาควบคุมรัฐบาลคือ วุฒิสภาและองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ถูกมองว่าไม่สามารถควบคุมการทำงานของรัฐบาลได้

    2. นโยบายของพรรคไทยรักไทย 
การเปิดของกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) บวกกับ "นโยบาย" ของพรรคไทยรักไทย ที่ทำให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชนอย่างล้นหลาม ทำให้พรรคไทยรักไทยซึ่งในสมัยสุดท้าย ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว มีอิทธิพล

3. ผลกระทบ

ความกลัวในเผด็จการรัฐสภานั้น มีได้ แต่อย่ากลัวให้มากจนมาทำลายรัฐสภา 

เพราะในที่สุดแล้ว ปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 โลกได้เป็นประจักษ์พยานของเผด็จการรัฐสภาของไทย ที่ถูกทำลายลง พร้อม ๆ กับระบอบรัฐสภาด้วย เพราะไม่ว่าเผด็จการรัฐสภาจะทำลายตัวของมันเองด้วยความไม่ชอบธรรมของตัวเองจนถูกต่อต้านโดยภาคประชาชน (อีกฝั่งหนึ่ง) หรือถูกทำลายลงจากรัฐประหาร ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 แล้วก็ทำลายอีกครั้งในปี พ.ศ. 2557

แต่ด้วยธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลจะอยู่ในตำแหน่งได้เป็น "วาระ" 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลจะเข้มแข็งอย่างไร ถ้าอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มันก็จะมีวาระของมันอยู่แล้ว ดังนั้น มันคุ้มหรือไม่ ที่จะนำข้ออ้างเรื่องเผด็จการรัฐสภามาทำลายประชาธิปไตยด้วยตัวของมันเอง
ความกลัวในพลังด้านลบของเผด็จการรัฐสภา ส่งผลอย่างมากต่อกรอบการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และ 2558-59 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีโจทย์สำคัญคือ ทำยังไงจะไม่ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป โดยใน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ส่งผลให้มีการเพิ่มอำนาจขององค์กรอิสระ และศาลมากขึ้น ในขณะที่ รัฐธรรมนูญ 2558 (ฉบับที่ตกไป) นั้น ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งรัฐบาล "ผสม" ที่มีเอกภาพ

นี่คือสิ่งที่สะท้อนถึงความกลัวในผลด้านมืดของเผด็จการรัฐสภา  
ซึ่งมีบ้างก็ดี แต่อย่ามีมากเกินไป จนไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยได้เบ่งบานในสังคม 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น