วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ดุลแห่งอำนาจ ในทวีปยุโรป และทั่วโลก (ปี ค.ศ.1814-1990)

ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร
“…เราไม่ได้เผชิญหน้ากับระเบียบโลกใหม่ แต่สิ่งที่เราพบอยู่คือ ระบบโลกเก่าที่มีพื้นฐานอยู่บนระบบโครงสร้างแห่งอำนาจ ดุลอำนาจ และความขัดแย้งของอารยธรรม”
                (นาย Henry Kissinger ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำหนดนโยบายต่างประเทศและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ประเทศของสหรัฐอเมริกา)[1]

โลกในปัจจุบันนี้เป็นยุคสมัยที่การศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมี ความน่าสนใจมากที่สุด นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของ สงครามเย็น, สงครามอ่าวเปอร์เซีย, ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีและปัญหาตะวันออกกลาง จนกระทั่งวิกฤติการณ์ผู้ก่อการร้ายและการบุกอิรักรอบสองของสหรัฐอเมริกา ได้ทำให้โลกเราในปัจจุบันดูห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่า “ระเบียบโลกใหม่” ที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาเคยลั่นวาจาไว้เมื่อจบสงครามอิรักรอบแรกในปี 1991 เป็นยิ่งนัก
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่มีทั้งความขัดแย้งและความร่วมมือ หากประเทศต่างๆ ในโลกเน้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความร่วม มือ การแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และเคารพกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ระหว่างกัน จะทำให้เกิดความก้าวหน้าต่อมวลมนุษย์ และเกิดสันติสุขขึ้นได้ แต่ในสภาพความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น ช่วงสงครามเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและยาวนานมากกว่าช่วงสันติ และมักกินเวลายืดเยื้อยาวนาน และส่งผลกระทบเรื้อรังต่อการสร้างความเจริญของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ปัญหาที่น่าสนใจก็คือ แนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคนี้จะเป็นเช่นใด ในมุมหนึ่งของประเทศเกิดสงครามอย่างรุนแรง เช่นในบอสเนีย อิรัก และหลายๆ ส่วนของอาฟริกา ในขณะที่เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง เช่นการประสบความสำเร็จของการประชุม GATT จนนำมาซึ่งองค์กรการค้าโลก (WorldTradeCenter) แต่ทั้งความขัดแย้งและความร่วมมือที่เกิดขั้นไม่ได้ทำให้เราสามารถคาดการณ์ แนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคต่อไปได้ว่าจะเป็นอย่างไร
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน สามารถอธิบายได้โดยเริ่มต้นจากโลกของ Thomas Hobbes    ใน Leviathan (ค.ศ.1651) โลกที่ Hobbes มองว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่เห็นแก่ตัวและโหดร้ายซึ่งมีแนวโน้มที่ก่อสงคราม ตลอดเวลา วิธีการเดียวที่จะนำมาซึ่งสันติภาพ ความสงบสุขและความผาสุกก็คือการที่มนุษย์ได้มอบอำนาจบางส่วนเพื่อที่จะกลาย เป็นสัญญาประชาคม (social contract) ภายใต้ Leviathan ผู้ซึ่งจะเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและสร้างความผาสุกและสังคมที่มีแต่ความสงบสุข ด้วยวิธีการดังกล่าวของมนุษย์จะสามารถหลีกเลี่ยงความตายซึ่งเกิดจากความไร้ ซึ่งอธิปปัตย์ หรืออนาธิปไตย (anarchy) ซึ่งถึงแม้ว่า Hobbes จะเห็นว่า อนาธิปไตย คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายและปราศจาก การปกครองโดยรัฐบาล แต่ฮอบส์ก็ไม่ได้หมายความว่าอนาธิปไตยจะสร้างระเบียบบางอย่างไม่ได้
ถึงแม้ว่า Hobbes จะไม่ใช่นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยตรง แต่เขาก็กล่าวว่า ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นระบบที่ใกล้เคียงกับสภาวะแรกเริ่มของ มนุษย์ ที่มีความไม่แน่นอนว่าจะเกิดความขัดแย้งและสงครามมากที่สุด ในโลกของ Hobbes รัฐสามารถใช้อำนาจมากเท่าที่ต้องการ เพื่อนำมาซึ่งความต้องการอันเห็นแก่ตัว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีความอ่อนไหวที่จะเกิดสงครามในระบบความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศมากที่สุด และนี่คือสภาพธรรมชาติของระบบอนาธิปไตยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
จุดมุ่งหมายของการศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะแรกคือ ความพยายามที่จะหาหนทางหลีกเลี่ยงสงคราม วิธีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงอยู่ที่ การศึกษาสาเหตุของสงคราม และวิธีในการหลีกเลี่ยงสงคราม
การศึกษาวิชา “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ทุกชนิดที่เกิดจากตัวแสดง (actors) ในระบบนานาชาติ ซึ่งตัวแสดงเหล่นี้มีตั้งแต่ตัวแสดงที่เป็นปัจเจกบุคคล (เช่น ผู้นำประเทศ, ผู้นำองค์การก่อการร้าย), องค์การภายในรัฐ, กลุ่มผลประโยชน์ภายในรัฐ, องค์การระหว่างประเทศ, กลุ่มผลประโยชน์ระหว่างประเทศ, จนกระทั่งถึงการดำเนินงานของบรรษัทข้ามชาติ อย่างไรก็ตามในการเรียนระดับนี้ ผู้เขียนต้องการให้นักศึกษาได้ใช้ภาพของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในลักษณะ ของความสัมพันธ์แบบรัฐต่อรัฐเป็นหลัก เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่ศึกษาได้ง่ายและเป็นตัวตนที่สุด
นอกจากนี้ในส่วนของคำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น มีการศึกษาอย่างจริงๆ จังๆ แบบเป็นองค์วิชาการเมื่อไม่นานที่ผ่านมานี้เอง เรียกได้ว่าเกิดพร้อมๆ กับการกำเนิดของภาควิชาการเมืองระหว่างประเทศ (Department of International Politics) เป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ (The University of Wales, Aberystwyth) ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ.1919 ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์แรกเริ่มในการก่อตั้งภาควิชานี้ก็คือ การหาหนทางในการหลีกเลี่ยงสงคราม (เพราะในปีนั้นเพิ่งจบสงครามโลกครั้งที่ 1 พอดี) โดยหวังว่าหากมีการศึกษาการเมืองระหว่างประเทศอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะค้นหาสาเหตุหลักของสงครามระหว่างประเทศ จะทำให้พบแนวทางป้องกันการกระทบกระทั่งระหว่างประเทศ อันจะนำมาสู่ความขัดแย้งและสงครามต่อไป
วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการ สร้างสันติภาพให้กับโลก จึงเกิดเป็นแนวคิดที่ในสมัยต่อมาเรียกว่า พวกอุดมคตินิยม (Idealist) อัน เป็นกลุ่มพวกที่ใฝ่ฝันว่า โลก “ควร” จะเป็นอย่างไร และพยายามสร้างโลก ให้เป็นแบบนั้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น พวกนี้สร้างองค์การระหว่างประเทศขึ้นมา (องค์การสันนิบาตชาติ) เพื่อจัดการกับความขัดแย้งระหว่างประเทศก่อนที่มันจะลุกลามไปเป็นสงคราม หรือว่าได้จัดตั้งการประชุมเพื่อเรียกร้องให้ประเทศมหาอำนาจต่างๆ พากันลดอาวุธ ไม่ให้เกิดความตึงเครียดระหว่างกัน (การประชุมวอชิงตัน ค.ศ. 1921-1922 The Washington Conference 1921-1922) กระบวนการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการของพวกอุดมคตินิยม
อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะในที่สุด แผนการต่างๆ ก็ไม่สามารถสกัดกั้นความพยายามของเยอรมันในการก้าวเข้ามาสั่นสะเทือน สันติภาพของโลก ในปี ค.ศ.1939 เมื่อฮิตเลอร์บุกยึดโปแลนด์ได้เป็นผลสำเร็จ เหตุการณ์จึงบานปลายเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กินอาณาเขตกว้างขวางทังยุโรป และเอเชีย ไปจนถึงเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิค คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาล และได้ทำให้หน้าตาของการศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงรูป แบบไปอย่างสิ้นเชิง
เมื่อพวกอุดมคตินิยมไม่สามารถหยุดยั้งสงครามระหว่างประเทศด้วยวิธีการที่ ตัวเองใฝ่ฝัน จึงเกิดพวกใหม่ขึ้นมาที่ต่อต้านวิธีการของพวกอุดมคตินิยมนี้ พวก สัจนิยม (Realist)  (ที่จริงพวกนี้ ล่ะที่เรียกพวกก่อนหน้านี้ว่า อุดมคตินิยม ซึ่งมีความหมายไปในทางค่อนแคะว่า พวกเพ้อเจ้อ) พวกนี้เน้นว่า เราควรจะลืมได้เลย ว่าโลกควรจะเป็นอย่างไร แต่เราน่ามานั่งวิเคราะห์ว่า โลกเรานี้จริงๆ แล้วเป็นอย่างไรมากกว่า คือการไม่ต้องไปคิดว่า โลกเราควรจะมีสันติภาพอย่างไรๆ แต่ควรคิดว่า จริงๆ แล้วธรรมชาติของมนุษย์เป็นสิ่งที่โหดร้ายและเห็นแก่ตัว จึงสะท้อนมาที่พฤติกรรมของรัฐ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่โหดร้าย เห็นแก่ตัว และมุ่งได้มาเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest) แนวคิดสัจนิยมนี้เรียกได้ว่า เป็นแนวคิดที่ทรงอิทธิพลมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นหนึ่งในทฤษฎีหลักทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แนวคิดสัจนิยมจึงครองโลกตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง หรือตลอดช่วงสงครามเย็นเลยทีเดียว แม้แต่แนวคิดในการเผชิญหน้าระหว่างประเทศอเมริกา และสหภาพโซเวียต จนกระทั่งถึงแนวคิดในการดึงประเทศจีนเข้ามาในสงครามเย็น การทำสงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม ก็เป็นผลของแนวคิดแบบสัจนิยมที่ครองโลกอยู่ในทุกวันนี้
โดยหลักแล้ว แนวคิดสัจนิยมเป็นแนวคิดที่เน้นหนักในเรื่องการเมืองมากกว่าประเด็นด้าน เศรษฐกิจ แต่ในช่วงปี ค.ศ.1970 ได้เกิดแนวคิดใหม่ในการมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยนำประเด็นด้านเศรษฐกิจเข้ามาศึกษามากขึ้น พวกนี้คือแนวคิดทฤษฎีระบบโลก (World System Theory) ที่มองว่ามีประเด็นทางเศรษฐกิจอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมต่างๆ ของมหาอำนาจที่เห็นแก่ตัว มุ่งแต่จะกอบโกย แต่แล้วในทศวรรษเดียวกันก็เกิดแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberal Institutionalism) ที่ เน้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจเช่นเดียว กัน โดยแนวคิดนี้มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องของการพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence) ไม่ใช่เรื่องของการกอบโกย ของการเห็นแก่ตัว และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะไม่สามารถมองโดยอาศัยตัวแสดงหลักคือรัฐชาติ ได้อย่างเดียวในช่วงทศวรรษที่ 1980 จึงกลายเป็นทศวรรษที่เต็มไปด้วยกระแสการถกเถียงของพวก 3 ทฤษฎีนี้
ในปัจจุบันที่เป็นยุคโลกาภิวัตน์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “ความสัมพันธ์” และ “ตัวแสดง” ที่เข้ามามีความสัมพันธ์ระหว่างกัน เนื่องจากสภาวการณ์ของโลกที่มีความสัมพันธ์กันในทุกระดับ ตั้งแต่ระกับบุคคลขึ้นไป ระดับรัฐ จนถึงระดับองค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้ประเด็นที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันก็ไม่ได้จำกัดแต่เรื่อง เศรษฐกิจ และเรื่องการเมืองอีกแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีอยู่รอบตัวเรา ตั้งแต่ราคารกระเทียมที่ถูกขึ้น จนกระทั่งถึงแพนด้า 2 ตัวที่ประเทศจีนให้ไทยเรายืมมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันเป็นความสัมพันธ์ที่มีความสลับซับซ้อน เกี่ยวพันกันวุ่นวายไปหมด ความทันสมัยของเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารทำให้โลกทั้งโลกถูกเชื่อมโยงให้ อยู่ใกล้กันมากขึ้น ลองคิดว่า เรารู้เรื่องตึกเวิร์ลเทรดถูกถล่ม พร้อมๆ กับคนอเมริกา อาจจะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าโลกมันแคบลงเรื่องๆ ได้อย่างไร หรือย้อนกลับไปอีกสักนิดหนึ่ง ตอนที่เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นที่ประเทศไทย ถามว่าไปมาอย่างไรจึงไปกระทบต่อรัสเซียได้ แล้วทำไมเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจจึงไปกระทบต่ออาร์เจนตินา แล้วส่งผลให้เกิดเหตุการณ์น้ำมันแพงหรือไม่ ทั้งนี้มีบรรษัทข้ามชาติเข้าไปมีความสัมพันธ์อย่างไรบ้าง จอร์จ โซรอส คือใคร อะไรคือกองทุนบริหารความเสี่ยง และ มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ นี้มากน้อยอย่างไร
หนังสือเล่มนี้ต้องการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยภาพ ลักษณ์แบบสัจนิยม ด้วยเหตุนี้จึงต้องวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเริ่มต้นที่การทำ ความเข้าใจ “รัฐ” อันเป็นตัวแสดงที่มีความสำคัญที่สุดในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ตามแนวทางของภาพลักษณ์แบบสัจนิยม)
อำนาจคือพฤติกรรมที่รัฐพยายามแสวงหาตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้หนังสือเล่มนี้จึงพยายามอธิบายความหมายของคำว่าอำนาจให้ละเอียด เท่าที่จะทำได้ โดยได้นำแนวคิดของนักทฤษฎีอำนาจต่างๆ มาอธิบาย รวมทั้งการนำเรื่องปัจจัยแห่งอำนาจ เรื่องการวัดอำนาจมาอธิบาย
เราจะทำความเข้าใจประเด็นทั้ง 3 ประกานี้ โดยใช้ประโยชน์การการศึกษาผลกระทบของระบบ นโปเลียน ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ.1789) และระบบคองเกรสแห่งเวียนนา (ค.ศ.1815) ดุลอำนาจ และการก่อกำเนิดของรัฐชาติเยอรมัน ความขัดแย้งในยุโรป การแตกสบายของอาณาจักรออตโตมันและอาณาจักรออสเตรียฮังการี และการเข้าสู่สงครามโลกครั้งยิ่งใหญ่ ทั้ง 2 ครั้ง
ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคดังกล่าว จะเน้นที่ 2 คำคือ “ดุลแห่งอำนาจ” และคำว่า “รัฐชาติ” นักศึกษาจะได้เห็นความสัมพันธ์ของ 2 สิ่งนี้ และวิเคราะห์ประเด็นการทำให้ “รัฐ” เป็นที่รวมของคนที่มี “เชื้อชาติ” เดียวกัน ซึ่งจะนำมาสู่การเล่าขานแห่งบรรพบุรุษสืบต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคดังกล่าว เป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่น่าจะเป็นตัวอย่างในการศึกษาความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีลักษณะเหมือกัน แต่ก็มีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะการปะทะกันของแนวคิดชาตินิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาก
นอกจากนี้การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงสงครามเย็นเป็นช่วง เวลาที่สำคัญอีกช่วงเวลาหนึ่งที่เราต้องให้ความสนใจ ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน หน้าตาของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไปจากในช่วงนี้เป็นอย่างมาก แต่โครงสร้างต่างๆ ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปัจจุบัน ไม่ว่าโครงสร้างทางการเงิน การคลังระหว่างประเทศ และการค้าระหว่างประเทศ (เช่น องค์การการค้าโลก, ธนาคารโลก, องค์การการเงินระหว่างประเทศ) โครงสร้างความมั่นคงระหว่างประเทศ (นาโต้, สมัชชาความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ, ความยิ่งใหญ่ทางการทหารของสหรัฐอเมริกา) หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งทางศาสนา วัฒนธรรม (ปัญหาตะวันออกกลาง, ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์) ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็นทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็น จึงมีประโยชน์ในฐานะที่จะเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจรากฐานของปัญหาบาง ประการที่อยู่ในปัจจุบัน
การศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องสนุกและต้องการความรู้ ในหลายสาขาวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา การเมืองเปรียบเทียบ และต้องการหลักตรรกะในการวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ค่อนข้างสูง และยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้ให้ได้ เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันอย่างมีทางหนีทีไล่ต่อไปในอนาคต


บทที่ 1 รัฐและผลประโยชน์แห่งชาติ

บทที่ รัฐและผลประโยชน์แห่งชาติ
(State and The National Interest)
                ในบทแรกนี้ จะเป็นการปูพื้นให้ผู้ที่ศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้าใจกับตัว แสดงที่มีความสำคัญที่สุดในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้แก่ “รัฐ” เพราะเป็นตัวแสดงที่มีบทบาทหลัก มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจและกองกำลัง ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของการท้าทายอำนาจทั้งมวลจากตัวแสดงอื่นๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นทุกวัน
ตัวแสดงระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตัวอื่นๆ ได้แก่ “องค์การระหว่างประเทศ” “บรรษัทข้ามชาติ” และ “องค์กรเอกชนระหว่างประเทศ” แต่หนังสือเล่มนี้จะเน้นเฉพาะตัวแสดงที่เป็นรัฐ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ให้ภาพทั้งหมดในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพราะเน้น แค่ตัวแสดงใดตัวแสดงหนึ่งเท่านั้น แต่วัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้คือ พยายามทำให้การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศง่ายที่สุด นักศึกษาหรือผู้ที่สอนใจวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะได้สามารถใช้ หนังสือเล่มนี้เป็นพื้นฐานในการศึกษาวิชานี้ต่อไปในอนาคต
ความหมายและความสำคัญของ “รัฐ”
                รัฐ เป็นตัวแสดงที่มีความสำคัญที่สุดในการเมืองระหว่างประเทศ คำว่า “รัฐ” “ชาติ” และ “รัฐชาติ” เป็นคำที่ใช้แทนกันเสมอในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่จริงๆ แล้วทั้ง 3 คำมีความแตกต่างกันพอสมควร การเผชิญหน้ากันของ 3 คำนี้อาจนำมาซึ่งประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ ในบทนี้เป็นบทที่จะทำความเข้าใจกับ 3 คำนี้ก่อน
“รัฐ” คือองค์กรทางการเมืองที่มีศูนย์กลางแห่งอำนาจ ซึ่งสามารถสร้างระเบียบ กฎหมาย และสามารถบังคับใช้กฎระเบียบหรือกฎหมายนั้นๆ ได้ภายในขอบเขตดินแดนของรัฐตน รัฐสามารถใช้นโยบายต่างๆ ได้ในการสร้างรูปแบบของรัฐบาลได้ตามที่ตนเองต้องการ ใช้ควบคุมประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในขอบเขตของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองหรือไม่ได้เป็นพลเมืองของรัฐนั้นก็ตาม หากอยู่ในขอบเขตของดินแดนรัฐนั้นจะต้องถือว่าอยู่ภายใต้กฎหมายที่กำหนดโดย รัฐนั้น
อำนาจอธิปไตย (sovereignty) คืออำนาจสูงสุดในการปกครอง รัฐในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจใดๆ ทุกรัฐมีอำนาจอธิปไตยเท่าเทียมกัน ไม่มีรัฐใดอยู่ใต้อำนาจของรัฐอื่นๆ ที่จริงแล้วแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐได้พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปลายยุค กลาง เมื่อกษัตริย์บางคนพยายามถอนตัวออกจากอำนาจครอบงำของสันตะปาปาในระบบรัฐ ฟิวดัล รัฐที่เกิดใหม่จากระบบรัฐฟิวดัลคือรัฐที่มีอำนาจสูงสุดเหนือดินแดนและ ประชากรที่อาศัยอยู่ในดินแดนโดนไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังหรือยอมรับอำนาจอื่นใด เลย
ในทางทฤษฎีมีการให้คำจำกัดความว่า ทุกรัฐมีอำนาจอธิปไตยเท่าเทียมกัน ไม่มีรัฐใดสามารถเข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของรัฐอื่นได้ แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน รัฐแต่ละรัฐมีอำนาต่างกัน และมีบางรัฐอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐอื่น คำจำกัดความที่ว่า “ไม่มีใครก้ามก่ายอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่นได้” นี้ได้ถูกท้าทายหลายต่อหลายครั้ง
ในปี ค.ศ.1994 สหรัฐอเมริกาแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาโดยถูกต้องตาม กฎหมายของไฮติถูกคณะปฏิวัติขับไล่ออกไป และในที่สุดสหประชาชาติได้ออกมติที่ 940 เพื่อก่อตั้งกองกำลังหลายฝ่าย (multinational force) เพื่อขับไล่รัฐบาลคณะปฏิวัติออกไป ซึ่งในที่สุดกองกำลังก็ได้ถูกตั้งขึ้นโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ และได้ขับไล่รัฐบาลของคณะปฏิวัติสำเร็จ[1]
วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ได้เข้ามาท้าทายประเด็นที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยไม่มีอำนาจอื่นใดเข้ามาแทรกแซงได้ จริงอยู่ที่ถึงแม้ว่ารัฐบาลของคณะปฏิวัติได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรม แต่การที่รัฐบาลได้อำนาจแล้ว และดำรงตำแหน่งแล้ว ถือว่ามีอำนาจอธิปไตยแล้ว การที่สหรัฐอเมริกาหรือแม้กระทั่งสหประชาชาติจะเข้ามาก้าวก่าย น่าจะเป็นเรื่องที่ขัดกับทฤษฎีของอำนาจอธิปไตย
“ชาติ” จะมีความหมายที่ต่างออกไป คือไม่ได้มีความหมายติดอยู่กับดินแดน หรือการให้จำกัดความทางกฎหมาย ชาติคือกลุ่มคนที่มีทัศนคติว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันบางอย่าง ชาติชาติหนึ่งจึงเป็นความผูกพันทางจิตใจ ซึ่งอาจจะเป็นความผูกพันทางด้านชาติพันธุ์ วัฒนธรรม หรือการใช้ภาษาเดียวกัน ชาติอาจเกิดขึ้นโดยปราศจากดินแดนรองรับ (เช่น ชาติยิวที่กระจัดกระจายทั่วโลกสมัยก่อนการสร้างรัฐอิสราเอลในปี ค.ศ.1947) หรือชนเผ่าอินเดียนแดงในประเทศอเมริกาในปัจจุบัน แม้กระทั่งพวกมอญ มูเซอ และชาวเผ่าต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย กลุ่มบางกลุ่มอาจจะเรียกตนเองว่า “ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยชาติ” เช่น องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization – PLO) เป็นองค์กรที่สร้างกิจกรรมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องดินแดนและอำนาจอธิปไตย เหนือดินแดนที่เป็นของชาติตน
“ชาตินิยม” เป็นความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นมาของคนที่เรียกตนเองว่าเป็นชาติเดียวกัน มันคือความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างชาติต่างๆ และความภาคภูมิใจในสิ่งที่ชาตินั้นๆ มี ชาตินิยมอาจะแสดงออกด้วยวิธีการหลายๆ อย่าง ตั้งแต่การแข่งขันเอาชนะชาติอื่น จนกระทั่งถึงการแย่งชิงดินแดนของชาติอื่นมา ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ประเด็นชาตินิยมกลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงบ่อยที่สุด และเป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้งที่สำคัญประเด็นหนึ่งในโลกยุคปัจจุบัน
“รัฐชาติ” หมายความถึงรัฐที่ผู้คนภายในรัฐมีความคิดร่วมกันว่าพวกเขาเป็นชาติเดียวกัน ดังนั้นรัฐชาติจึงเป็นองค์กรทางกฎหมายภายใต้รัฐบาลเดี่ยวที่ผู้คนในรัฐนั้น มีความผูกพันและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รัฐชาติเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นภายหลัง “รัฐ” และ “ชาติ” ซึ่งประเทศในปัจจุบันมักจะหมายถึง “รัฐชาติ” (ถึงแม้ว่าบางประเทศจะไม่ใช่ก็ตาม)
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน เป็นระบบความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของระบบรัฐชาติ (nation-state system) ซึ่งเป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีตัวแสดงหลักเป็นรัฐชาติ อันเป็นองค์การทางการเมืองสูงสุด ที่มีอำนาจเหนือองค์กรทางการเมืองอื่นๆ ทั้งในระดับสูงและระดับต่ำกว่ารัฐ[2]
นอกจากนั้น ลักษณะสำคัญของระบบรัฐชาติยังประกอบไปด้วย
1) องค์การทางการเมืองส่วนใหญ่ในโลกต้องเป็นรัฐชาติ ไม่ใช่ นครรัฐ (city state) หรือจักรวรรดินิยม (colonial empire) องค์การทางการเมืองที่เป็นรัฐชาติจะต้องมีมากกว่าองค์กรทางการเมืองอื่นๆ รัฐชาติเป็นระบบทางการเมืองที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 เป็นต้นมา จนในที่สุดมากกว่าองค์กรทางการเมืองอื่นๆ
2) ภายในขอบดินแดนแห่งหนึ่ง รัฐชาติจะต้องสามารถใช้อำนาจควบคุมและใช้อำนาจทางการศาลเหนือองค์กรทุก องค์กรและปัจเจกบุคคลทุกคน การที่รัฐเพียงองค์กรเดียวที่มีอำนาจดังกล่าวทำให้รัฐเป็นองค์กรที่มีความ สำคัญที่สุด รัฐอื่นไม่สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องในกิจการภายในของรัฐตน ซึ่งการไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกันนี้เป็นหลักการที่สำคัญมากของระบบรัฐชาติ
3) รัฐชาติจะต้องรับผิดชอบการกระทำของตนต่อชาติของตนเอง ไม่จำเป็นต้องไปรับผิดชอบต่อการกระทำของรัฐอื่นๆ ทำให้เกิดความสำนึกต่อสิ่งที่เรียกว่า “ผลประโยชน์แห่งชาติ” อันเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการดำเนินนโยบายของทุกๆ รัฐ ซึ่งการที่ทุกรัฐจะต้องคำนึงถึง “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ทำให้ไม่มีรัฐใดสนใจ “ผลประโยชน์ร่วมกันของโลก”
4) รัฐเป็นองค์กรเดียวที่สามารถดำเนินกิจกรรมระหว่างประเทศได้ สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างความร่วมมือ การประชุมระหว่างประเทศ การเจรจาระหว่างประเทศ การบริหารความขัดแย้ง ตลอดจนการทำสงคราม รัฐจึงเป็นองค์กรเดียวที่สามารถมีเอกสิทธิ์ในการกำหนดนโยบายต่างๆ ภายในประเทศรวมทั้งการดำเนินกิจการระหว่างประเทศ
5) การไม่มีองค์กรใดมีอำนาจเหนือรัฐ ทำให้รัฐทุกรัฐจะต้องยึดถือหลักการในการ “ช่วยเหลือตนเอง” (self-help) รัฐต่างๆ จึงมีภารกิจที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้รัฐอยู่รอดปลอดภัย สามารถรักษาและสรรหาผลประโยชน์แห่งชาติ และไม่ให้รัฐอื่นเข้ามาก้าวก่ายกำกับกิจการภายในของรัฐตน
ภายใต้ระบบรัฐชาติที่ทุกรัฐต่างมีอำนาจเด็ดขาดนี่เอง นำมาซึ่งอำนาจอธิปไตยคือ อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ และเอกราช อันเป็นอำนาจที่รัฐจะใช้กีดกันองค์กรอื่นเข้ามาแทรกแซงอำนาจของรัฐ และประชาชนต้องอยู่ภายใต้รัฐและเคารพการตัดสินใจทุกอย่างของรัฐ ประชาชนไม่อาจจะเคารพองค์กรอื่นใดนอกจากรัฐ
การที่ทุกรัฐมีอำนาจอธิปไตย นำมาซึ่งระบบรัฐชาติที่อยู่ภายใต้ระบบที่ไม่มีองค์กรใดสามารถควบคุมกันและ กันได้ หรือ ระบบอนาธิปไตยแบบหนึ่ง (Anarchy) ซึ่งหมายความถึงสภาวะวุ่นวายอันเนื่องมาจากการขาดผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่มีผู้วางกฎเกณฑ์ ไม่มีผู้บังคับใช้กฎเกณฑ์ จึงเป็นสภาพการณ์ที่ทุกคนต่างต้องถือปืน เพราะทุกคนต่างต้องป้องกันตนเอง
อย่างไรก็ตามสภาวะอนาธิปไตยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ใช่สภาวะที่มี แต่ความวุ่นวายโดยสิ้นเชิง หากแต่เป็นสภาวะที่มีระบบระเบียบ กฎเกณฑ์ของมัน ซึ่งระบบระเบียบนี้ เกิดขึ้นมาจากลักษณะของความเป็น “มหาอำนาจ” ของรัฐบางรัฐ ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า รัฐอื่นๆ ที่เหลืออย่างชัดเจน และมหาอำนาจนี้เองใช้ความเหนือกว่าของอำนาจ ในการจัดการกับระบบระหว่างประเทศให้เป็นไปตามที่ใจต้องการ ในหนังสือเล่มนี้จะเสนอระบบการจัดการของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 2 ระบบ ได้แก่ ระบบยุโรป และระบบสงครามเย็น
อย่างไรก็ดี การเป็นมหาอำนาจ ไม่ใช่เรื่องถาวร ประวัติศาสตร์บอกเราว่า มหาอำนาจมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและตามเทคโนโลยีในการผลิต อาทิเช่นการเปลี่ยนผ่านของมหาอำนาจ จาก โปรตุเกส เป็น สเปน เป็น อังกฤษ เป็นสหรัฐอเมริกา และเป็นสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต
ผลประโยชน์แห่งชาติ
                ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ระบบรัฐในปัจจุบัน เป็นที่ตกลงกันว่าภายในดินแดนหนึ่งของรัฐ ไม่มีองค์กรใดที่จะมีอำนาจเหนือรัฐ รัฐเป็นผู้กำหนดว่าผลประโยชน์ของรัฐอยู่ที่ไหน ผลประโยชน์ของรัฐเรียกว่าผลประโยชน์ของชาติ (National Interest) หมายความว่า สิ่งใดๆ ก็ตามที่รัฐเห็นว่ามีความสำคัญต่อพลังอำนาจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกำลังทางการทหาร ความมั่งคั่ง ความมีอิสรภาพ แม้กระทั่งการรักษาวัฒนธรรม เป็นต้น ส่วนวิธีการที่รัฐจะนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาตินี้ เรียกว่า นโยบายของชาติ (National Policies)
การจะดูว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แห่งชาติจึงจะต้องดูที่การวางนโยบายแห่ง ชาติ (Policy Making) ไม่ว่าจะเป็นนโยบายภายในประเทศหรือนโยบายระหว่างประเทศ เช่น นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประกาศออกมาว่ารัฐจะต่อสู้กับยาเสพติด หมายความว่ารัฐมองเห็นผลประโยชน์ของชาติคือการปลอดยาเสพติด สหรัฐอเมริกาประกาศว่าจะล้างแค้นกับคนที่ทำลายเสรีภาพของประชาชนชาวอเมริกัน ก็แสดงว่าเสรีภาพของประชาชนชาวอเมริกันคือผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐ อเมริกา เป็นต้น อุดมการณ์มีการเรียงลำดับความสำคัญเอาไว้ก็จริง แต่การเปลี่ยนลำดับขั้นของอุดมการณ์ก็เกิดขึ้นเสมอ เวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงหรือเกิดความไม่แน่นอน ผลประโยชน์แห่งชาติของทุกชาติมีดังนี้
1. ความมั่นคงทางการทหาร
                หมายถึงการที่มีกำลังอำนาจอยู่ในจำนวน ที่เหมาะสมต่อการป้องกันตัวเอง และความเข้มแข็งของอำนาจทางการทหาร โดยไม่ได้รับการท้าทายจากอำนาจจากภายในหรืออำนาจจากภายนอกอื่น ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงแต่ความมั่นคงภายในประเทศเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกาเคยถูกท้าทายความมั่นคงทางการทหาร ณ สถานทูตภายนอกประเทศมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้ความมั่นคงทางการทหารยังหมายถึงการที่ชาติคู่แข่งไม่ได้สะสมอาวุธ ขึ้นมากจนแซงหน้าชาติตน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าความเข้มแข็งทางการทหารได้ลดลงไปโดยเปรียบเทียบ
2. อำนาจ
                คือพลังที่สามารถบังคับตัวแสดงที่มี อำนาจน้อยกว่าให้กระทำตามที่ตัวแสดงที่มีอำนาจมากกว่าต้องการ อำนาจจึงเป็นทั้งผลประโยชน์แห่งชาติและเป็นที่มาให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่ง ชาติอื่นๆ รวมทั้งอำนาจเองด้วย ด้วยเหตุผลนี้หลายๆ ชาติจึงต้องการแสวงหาอำนาจไว้ อำนาจอาจจะอยู่ในรูปที่วัดได้ เช่น อาวุธ กำลังทางการทหาร ความร่ำรวยทางเศรษฐกิจ หรืออาจจะเป็นสิ่งที่วัดไม่ได้ เช่น อุดมการณ์ ความสามัคคีของคนในชาติ เป็นต้น
3. เศรษฐกิจ
                ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นอำนาจที่ ทวีความสำคัญมากขึ้นๆ ในแต่ละรัฐ อำนาจทางเศรษฐกิจเป็นที่มาของอำนาจทางการทหาร และเป็นเครื่องมือวัดความชอบธรรมของรัฐบาลในแต่ละรัฐด้วย ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับความมั่นคงทางการทหารด้วย หากมีการใช้งบประมาณแผ่นดินไปเพื่อความมั่นคงมากเกินไปก็จะทำให้ประเทศนั้น มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจลดลง เช่นสหรัฐอเมริกาช่วงปลายทศวรรษที่ 80 เป็นต้น ซึ่งทำให้ตั้งแต่ปลายยุคสงครามเย็นจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบันเป็นต้นมาความ สำคัญของเศรษฐกิจได้ถูกยกขึ้นมาเป็นความสำคัญอันดับแรกๆ ของผลประโยชน์แห่งชาติ
4. อุดมการณ์
ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถจับต้อง หรือวัดอุดมการณ์ได้ แต่อุดมการณ์ก็เป็นผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญมากประการหนึ่ง อุดมการณ์นำมาซึ่งทางเลือกของชาติ และเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการตัดสินนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งของรัฐ สหรัฐอเมริกาได้เคยใช้นโยบายต่างประเทศคู่กับอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย และมันได้ถูกเปลี่ยนเป็นอุดมการณ์สิทธิมนุษยชนในต้นทศวรรษที่ 90 ในช่วงทศวรรษเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้มีการเชิดชูอุดมการณ์ขงจื้อในเอเชีย เพื่อสร้างความชอบธรรมของรัฐบาลในเอเชียในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและการ ปกครองแบบวางแผนจากส่วนกลาง เป็นต้น
5. ศีลธรรมและหลักกฎหมาย
เป็นหลักการที่นำมาใช้โต้เถียงเวลาที่การตัดสินผลประโยชน์ของชาติเกิด ปัญหา ถึงแม้ว่าการกระทำบางอย่างจะผิดหรือถูกโดยตัวของมันเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในปี 1989 อยู่ๆ รัฐบาลสหรัฐก็บุกปานามาและจับรัฐบาลของพลเอกนอริอากาลงจากตำแหน่ง สิ่งที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกก็คือ สหรัฐอเมริกามีอำนาจอย่างไรถึงได้กล้าทำแบบนั้น สหรัฐอเมริกาก็อ้างหลักศีลธรรมและหลักกฎหมายในการสร้างความชอบธรรมของการ กระทำดังกล่าว ว่ารัฐบาลของนอริอากา เป็นรัฐบาลที่ได้มาจากการรัฐประหาร เป็นรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมและรังแกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐ อเมริกาที่อยู่ในปานามา สหรัฐอเมริกาจึงมีความชอบธรรมที่จะไปบุกจับนอริอากาลงมา เป็นต้น

จากที่ได้กล่าวมา ผลประโยชน์แห่งชาติคือสิ่งที่ทุกรัฐแสวงหาและตั้งไว้ให้เป็นเป้าหมายของการ กำหนดนโยบายหรือกิจกรรมต่างๆ ของทุกรัฐ ด้วยเหตุนี้การกล่าวอ้าง “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ในการดำเนินนโยบายใดๆ ก็ตาม จึงถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง กล่าวในอีกแง่หนึ่งคือ ศีลธรรมของรัฐไม่สามารถใช้ร่วมกับศีลธรรมของปัจเจกบุคคลได้ เพราะศีลธรรมของรัฐคือการบรรลุซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ นั่นเอง
สรุป
                ในบทนี้ ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านทำความเข้าใจตัวแสดงที่มีความสำคัญที่สุดในระบบ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้แก่ รัฐ รวมทั้งสามารถอธิบายที่มาของรัฐ วัตถุประสงค์ของรัฐ และพฤติกรรมของรัฐ รวมทั้งเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติอันเป็นศีลธรรมสูงสุดของรัฐ (อาจไม่ใช่ประชาชน) ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ง่าย ขึ้น
ในบทถัดไป ผู้เขียนจะอธิบายถึงองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการเมืองระหว่าง ประเทศ ได้แก่เรื่อง อำนาจ และดุลอำนาจ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐแต่ละรัฐเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน และเป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิด หรือระงับความขัดแย้งระหว่างประเทศได้


บทที่ 2 อำนาจ

บทที่ อำนาจ
(Power)
                หลังจากที่เราได้ศึกษาภาพกว้างๆ ของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนได้ทำความเข้าใจ รัฐ อันเป็นองค์กรที่มีความสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บทนี้จะเป็นบทที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องอำนาจ อันเป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่สุดในการศึกษาเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ทำให้รัฐต่างๆ เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีผู้ศึกษาเรื่องอำนาจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลโต อริสโตเติล แม็คเคียวเวลลี ฮอบส์ มองเตสกิเออร์ บุคคลต่างๆ เหล่านี้ได้ศึกษาเรื่องอำนาจและวิเคราะห์เรื่องอำนาจในแบบของเขา ซึ่งมีความแตกต่างกันไป
นักวิชาการทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่วิเคราะห์เรื่องอำนาจที่ คลาสสิกที่สุดเห็นจะไม่พ้น Hans Morganthau ในหนังสือชื่อ Politics Among Nations : The Struggle for Power and Peace ซึ่งได้เปิดศักราชใหม่ในการศึกษาอำนาจ และเป็นที่ถกเถียงในแวดวงวิชาการมาจนถึงปัจจุบัน Morganthau ได้นำเสนอไว้ในหนังสือของเขาว่า อำนาจคือความสัมพันธ์ทางจิตวิทยาแบบหนึ่งระหว่างผู้ที่ใช้กับผู้ที่ถูกใช้ อำนาจ Morganthau มองว่าผู้ที่ใช้อำนาจเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือผู้ที่ถูกใช้ ทั้งนี้เพราะความด้อยกว่าในหลายๆ ประการ หรือาจเพราะเป็นความเกรงในอำนาจของผู้ที่มีอำนาจมากกว่า Morganthau ยังได้ศึกษาวิเคราะห์ผลประโยชน์แห่งชาติในความหมายของอำนาจไว้ว่า นโยบายหรือการกระทำต่างๆ ของรัฐที่ทำให้รัฐใดรัฐหนึ่งมีอำนาจมากขึ้นนั้นเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ และนโยบายหรือการกระทำใดๆ ที่ไม่ได้ทำให้รัฐใดรัฐหนึ่งมีอำนาจมากขึ้นก็ไม่ใช่ผลประโยชน์แห่งชาติ

นอกจากนี้ Morganthau ยังให้ความหมายเกี่ยวกับบทบาทของอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ 4 ประเด็นดังต่อไปนี้
1) อำนาจและอิทธิพลเป็นคนละเรื่องกัน อำนาจจะหมายถึงความสามารถในการตัดสินผลที่จะออกมา ในขณะที่อิทธิพลเป็นเพียงความสามารถหนึ่งที่จะส่งผลให้เกิดการตัดสินใจของคน ที่จะตัดสินผลที่ออกมาได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า หากในประเทศหนึ่งๆ ผู้กำหนดนโยบายคือประธานาธิบดีที่จะคอยฟังข้อมูลต่างๆ จากที่ปรึกษา กล่าวได้ว่าประธานาธิบดีคือผู้มีอำนาจในขณะที่ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีเป็น ผู้มีอิทธิพล
2) Morganthau กล่าวว่า อำนาจและพละกำลัง (force) มีความแตกต่างกัน โดยพละกำลังคือการที่จะการมีความสามารถที่จะทำลาย ซึ่งจะทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะสูญเสียอำนาจขึ้นได้ ในความคิดของ Morganthau ตัวแสดงที่มีอำนาจจึงเป็นตัวแสดงที่อาจจะไม่ต้องใช้พละกำลังเลยก็ได้ ด้วยเหตุนี้การมีกำลังทหารที่มีความเข้มแข็งซึ่งจะทำให้เกิดการคุกคามหรือ แนวโน้มที่จะคุกคาม ก็เป็นสิ่งที่จะสร้างอำนาจทางการเมืองของรัฐใดรัฐหนึ่งได้
3) อำนาจสามารถแบ่งแยกเป็น อำนาจที่สามารถ “ใช้ได้” และอำนาจที่ “ไม่สามารถใช้ได้” ยกตัวอย่างเช่นอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นอาวุธที่ยังไม่เคยถูกนำมาใช้หลังเหตุการณ์ที่ฮิโรชิมา และนางาซากิเลย แต่อาวุธนิวเคลียร์ก็เป็นที่มีอาวุธที่มีความสำคัญและถูกนำมาใช้ต่อรองในการ เมืองระหว่างประเทศหลายหนในช่วงสงครามเย็น ด้วยเหตุนี้อาวุธนิวเคลียร์จึงเป็นทั้งอำนาจที่ ใช้ได้และ ไม่สามารถใช้ได้ ต่อพลังอำนาจของชาติ
4) Morganthau มีความเห็นว่า อำนาจสามารถแบ่งได้ เป็นอำนาจที่ถูก หรืออำนาจที่ชอบธรรม และอำนาจที่ผิด หรืออำนาจที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งการใช้อำนาจที่ชอบธรรมจะทำให้ตัวแสดงอื่นยอมรับในการใช้อำนาจที่แสดงออก ไป
แนวคิดอำนาจของ Morganthau ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เช่นการเน้นการอธิบายวิธีการใช้อำนาจแบบโหดร้าย มากกว่าการใช้อำนาจด้วยวิธีการนุ่มนวมและเชิญชวน ซึ่งการใช้อำนาจมีหลายวิธี การมองแบบ Morganthau อาจเป็นการมองด้านลบหรือด้านการขู่บังคับของอำนาจมากเกินไป
นอกจาก Morganthau แล้ว นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ให้ความสนใจที่จะศึกษาบทบาทของ อำนาจมาก เรียกได้ว่าการศึกษาเรื่องอำนาจเป็นศูนย์กลางของการศึกษาความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศเลยก็ว่าได้ จะเห็นได้จากการแบ่งประเทศต่างๆ เป็นประเทศอภิมหาอำนาจ (superpower) เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ประเทศมหาอำนาจ (great power) เช่น ฝรั่งเศส ยุโรป รัสเซีย ประเทศมหาอำนาจระดับกลาง (middle-range power) เช่น อิรัก ไทย ประเทศขนาดเล็ก (small power) เช่น กัมพูชา ลาว และประเทศขนาดจิ๋ว (mini state) เช่น สิงคโปร์ การแบ่งเป็นประเภทเช่นนี้ ทำให้ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสามารถศึกษาและคาดเดาพฤติกรรมของรัฐ ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น สาเหตุเพราะว่าแต่ละรัฐจะแสวงหาผลประโยชน์แห่งชาติต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับของอำนาจที่ตนเองยืนอยู่ ชาติที่มีอำนาจในระดับเดียวกัน จะมีการแสวงหาผลประโยชน์แห่งชาติคล้ายคลึงกัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องเกิดการกระทบกระทั่งในทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ผู้ที่สนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงพยายามจับกลุ่มประเทศเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน และเป็นคำตอบว่า ทำไมคนจึงสนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนมากกว่าสนใจศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย
นอกจาการสนใจแบ่งประเทศเป็นอันดับอำนาจแล้ว ในการศึกษาเรื่องอำนาจยังมีผู้นำเอาวิธีการเชิงปริมาณ (quantitative approach) เข้ามาศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้แก่ Ray S. Cline ในหนังสือชื่อ “The World Power Trends” โดยหนังสือเล่มดังกล่าวมีสูตรในการหาอำนาจดังต่อไปนี้[1]

อำนาจที่รับรู้ได้ (Pp)
ประชากรและดินแดน (C) + ความสามารถทางเศรษฐกิจ (E) + ความสามารถทางการทหาร (M) X แผนการที่วางไว้ (S) + ยุทธศาสตร์แห่งชาติ (W)



=

หรือ Pp = (C+E+M) x (S+W)
โดยทั้งนี้สูตรดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากการเก็บข้อมูลของการเกิดสงครามใน อดีตนับร้อยๆ ปี เพื่อใช้วัดเปรียบเทียบแนวโน้มที่จะเกิดสงคราม (Correlation of War-COW)
อย่างไรก็ตาม มีคนศึกษาปัจจัยที่จะนำไปสู่อำนาจอีกหลายวิธี โดยวิธีที่มีความแพร่หลายมากที่สุดคือ การดูที่ปัจจัยด้านต่างๆ ของประเทศ ดังต่อไปนี้
1. ปัจจัยทางกายภาพ
ภูมิศาสตร์
ภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยทางอำนาจที่มีความสำคัญปัจจัยหนึ่งที่จะให้โอกาส ความเป็นไปได้ที่รัฐใดรัฐหนึ่งจะสามารถสร้างตัวเองจนกลายเป็นมหาอำนาจได้ ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาเกิดมาเพื่อเป็นมหาอำนาจเพราะอยู่ติดมหาสมุทรที่ สามารถเดินเรือออกทะเลได้ตลอดทั้งปีทั้งทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ส่วนทิศเหนือและทิศใต้อยู่ติดรัฐขนาดกลางที่ไม่แข่งขันกับสหรัฐอเมริกาอย่าง แน่นอน แล้วยังสามารถควบคุมได้อีกด้วย ในทางความเป็นจริงแล้วสหรัฐอเมริกาจึงไม่มีศัตรูใกล้ตัว ทำให้สามารถใช้สมองและอาวุธที่มีอยู่นำไปสร้างอำนาจนอกเหนือประเทศของตนเอง ได้ นอกจากนี้การที่อยู่ติดมหาสมุทรถึง 2 แห่ง ทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถใช้เป็นเส้นทางในการลำเลียงศาสตราวุธต่างๆ ไปรอบโลกได้ในชั่วระยะเวลาสั้นๆ เช่นในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย สหรัฐอเมริกาใช้เวลาเพียง 3 เดือน ในการเตรียมบุกอิรัก ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก
นอกจากนี้หากย้อนกลับไปดูในอดีตก็จะเห็นว่า อังกฤษมีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเป็นมหาอำนาจในช่วงหนึ่งสาเหตุ เพราะการที่อังกฤษอยู่ห่างจากฝรั่งเศสเป็นระยะทาง 20 ไมล์ ด้วยช่องแคบอังกฤษ เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้อังกฤษรอดพ้นเงื้อมมือของนโปเลียนและฮิตเลอร์ได้ ถึงแม้ว่ารัฐที่เป็นเกาะ จะมีโอกาสที่ดีกว่ารัฐอื่น ในการพัฒนาศักยภาพตัวเองสู่ความเป็นมหาอำนาจทางเรือ แต่การที่อยู่เป็นเกาะโดดเดี่ยวก็อาจจะมีข้อเสียในการเสี่ยงที่รัฐจะถูกปิด ล้อมได้โดยง่าย
ในขณะที่รัสเซียมีเมืองหลวงของประเทศอยู่ไกลจากชาติมหาอำนาจอื่นๆ ในยุโรป ทำให้รัสเซียไม่เคยถูกตีแตกได้ ไม่ว่าในสมัยนโปเลียนหรือฮิตเลอร์ จะเคยถูกตีแตกก็แค่ครั้งเดียวในสมัยของเจงกีสข่าน (ปี ค.ศ.1162-1227)
ในช่วงศตวรรษที่แล้ว การศึกษาภูมิศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความสำคัญมาก จนขนาดที่กลายเป็นสาขาวิชาภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) และในกลุ่มผู้ศึกษาภูมิรัฐศาสตร์นั้น มีนักวิชาการ 2 คนซึ่งเราจะไม่รู้จักไม่ได้ คือ 1. Alfred Thayer Mahan ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Influence of Sea power on History ในปี ค.ศ.1890 ซึ่ง Mahan คนนี้เป็นคนที่สร้างกระแสพัฒนากองทัพเรือให้กับประเทศมหาอำนาจต่างๆ โดยเขาย้ำว่าประเทศที่มีกองทัพเรือที่เข้มแข็งเท่านั้นที่จะสามารถเป็นมหา อำนาจได้  2. Sir Halford Mackinder ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Democratic Ideals and Reality ในปี ค.ศ.1990 ซึ่งเป็นคนที่เน้นความสำคัญของการยุทธภาคพื้นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุทธเพื่อควบคุมดินแดนที่เขาเรียกว่า “Heartland” ซึ่งปัจจุบันคือดินแดนเชื่อมต่อระหว่างยุโรปและเอเชีย โดย Mackinder กล่าวว่า คนที่สามารถควบคุม Heartland ได้ก็จะสามารถปกป้องตนเองได้ และสามารถสร้างอำนาจออกไปข้างนอกได้ นี่อาจจะเป็นสาเหตุว่าเพราะเหตุใดดินแดนที่เป็น Eurasia จึงไม่เคยสงบสุขจากการแทรกแซงของมหาอำนาจต่างๆ เลยสักครั้ง
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน การคมนาคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมทางอากาศ และการเดินทางของจรวดมิซไซล์จะทำให้ภูมิศาสตร์ลดความสำคัญลงไปบ้างอย่างที่ ทฤษฎีเคยกล่าวอ้างไว้ แต่ภูมิศาสตร์ก็ยังคงมีความสำคัญในการศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยอเฉพาะอย่างยิ่งในจุดสำคัญๆ ต่างๆ ของโลก ได้แก่ 1. คลองสุเอซ ที่เชื่อมระหว่างนุโรปกับเอเชีย 2. คลองปานามา (ที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก 3. ช่องยิบรอลต้า (ทางเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) 4. ช่องแคบมะละกา (เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้) ซึ่งทั้ง 4 จุดนี้ก็ยังคงเป็นบริเวณที่มีความสำคัญต่อการคมนาคมขนส่งของโลก ซึ่งหากใครสามารถควบคุมบริเวณเหล่านั้นก็แสดงว่าจะสามารถควบคุมการเคลื่อน ไหวของการค้าและการส่งกองกำลังทางทหารได้
ประชากร
ประชากรเป็นปัจจัยของอำนาจแบบหนึ่งที่มีความสลับซับซ้อนมากพอสมควร ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประชากรไม่ใช่แค่เป็นเพียงประชากร หรือ พลเมืองที่อาศัยอยู่ภายในประเทศเท่านั้น แต่หมายถึงการเป็นทรัพยากรทางการผลิตของประเทศด้วย ด้วยเหตุนี้หากประเทศใดที่มีประชากรมาก ก็สามารถเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเป็นมหาอำนาจได้ด้วย เพราะประชากรจำนวนมากจะสามารถสร้างระบบอุตสาหกรรม ระบบการเกษตร การคมนาคมและขนส่ง และมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ แต่หากมีประชากรต่อพื้นที่มากเกินไป เช่น บังกลาเทศ จีน อินเดีย จะทำให้ประชากรของประเทศกลายเป็นตัวดูดซับทรัพยากรของชาติมากเกินไป และหากประชากรในประเทศมีความยากจน อดอยาก และไม่มีการศึกษาด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีทางที่ประชากรจะกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างอำนาจของรัฐใดรัฐ หนึ่งได้เลย
จริงๆ แล้วจำนวนประชากรที่มีความเหมาะสมในการเป็นมหาอำนาจน่าจะอยู่ราวๆ 250-300 ล้านคน ซึ่งจำนวนดังกล่าวจะสร้างสัดส่วนของผู้ที่เป็นทหารเต็มเวลาได้ถึง 2-3 ล้านคน แต่ประเทศที่มีประชากรน้อย ประชากรทุกคนในประเทศจะต้องรับใช้ชาติโดยการขึ้นบัญชีเป็นทหารกองเกิน และจะต้องมาฝึกทหารเป็นประจำจนประทั่งถึงวัยกลางคน
นอกจากนั้นประชากรที่จะสร้างความเป็นมหาอำนาจให้แก่รัฐได้ จะต้องเป็นประชากรที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ประวัติศาสตร์ และขนบธรรมเนียมประเพณีร่วมกัน หากในรัฐใดรัฐหนึ่งที่มีประชาชนที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติมากจนเกินไป จะทำให้เกิดความแจกแยกสามัคคีขึ้นในชาติ ก็ยากที่ประเทศจะกลายเป็นมหาอำนาจได้
การเกษตร
เป็นปัจจัยหลักอีกประการหนึ่งในการที่จะเป็นมหาอำนาจสาเหตุเพราะปัจจัย ทางการเกษตรจะทำให้รัฐสามารถสร้างความเป็นชาติมหาอำนาจได้ สาเหตุที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรมาก ไม่ใช่เพียงเพื่อประชากรในประเทศ แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งออกอาหาร และสร้างภาวการณ์พึ่งพาตัวเองให้ประเทศอื่นๆ
จะเห็นได้ว่า ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของทุกรัฐ รัฐเกือบทุกรัฐในโลกจะพากันปกป้องสินค้าเกษตรของตัวเองไว้เสมอซึ่งสาเหตุไม่ ใช่เพียงเพื่อช่วยเหลือชาวนาภายในประเทศอย่างเดียวแน่นนอน แต่เพราะเป็นสินค้าเกษตรจะทำให้รัฐสามารถพึ่งพาตนเองได้ (self reliance) และหลายเป็นแหล่งอาหารสะสม (food supply) ในยามสงคราม ดังคำกล่าวของนโปเลียนที่ว่า “กองทัพย่อมเดินด้วยท้อง”
น้ำมันและแร่ธาตุยุทธศาสตร์
น้ำมันและแร่ธาตุยุทธศาสตร์ถือเป็นทั้งทรัพยากรทางการผลิตของทุกประเทศ รวมทั้งเป็นยุทธปัจจัยทางการทหาร ตอนนี้ราคาน้ำมันโลกอยู่ภายใต้การกำหนดจากกลุ่ม OPEC และการขาดน้ำมันไม่ได้นี้เองทำให้น้ำมันเป็นทรัพยากรที่ชาติมหาอำนาจต้องการ เข้าไปควบคุมมากที่สุด ในปัจจุบันมีประเทศรัสเซียเพียงประเทศเดียวที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ สามารถใช้น้ำมันของตัวเองทั้งหมด โดยไม่ต้องนำเข้าน้ำมันจากประเทศอื่นๆ ส่วนประเทศอังกฤษเกือบไม่ได้นำเข้าน้ำมันเลย เพราะขุดพบน้ำมันทางตอนเหนือของสก๊อตแลนด์ สหรัฐอเมริกานำเข้าน้ำมันประมาณ ½ ของจำนวนน้ำมันที่ใช้ทั้งหมดของประเทศ ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมัน 90% ของน้ำมันทั้งหมด การพึ่งพาน้ำมันเป็นความอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ ด้วยเหตุนี้ทุกประเทศจึงต้องมีคลังน้ำมันสำรองเอาไว้
ในกรณีของแร่ธาตุทางยุทธศาสตร์ เช่น โครเมียม แมงกานีส โคบอล แวเนเดียม นั้นขุดพบเป็นจำนวนน้อยมาก และถูกควบคุมโดยบางประเทศเท่านั้น ปัจจุบันนี้ประเทศที่มีแร่ธาตุพวกนี้มากที่สุดได้แก่รัสเซีย

2. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่สำคัญตัวหนึ่งในการชี้ขาดความเป็นมหา อำนาจ หนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อเสียง Paul Kennedy “The Rise and Fall of the Great Power” เป็นหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ และมีข้อเสนอในหนังสือนี้ว่า ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ที่เกิดขึ้นและล่มสลายนั้น เป็นเพราะนำปัจจัยทางเศรษฐกิจไปฟุ่มเฟือยกับกิจการทางอื่นมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างความเข้มแข็งทางการทหาร ตั้งแต่อาณาจักรโรมัน จนถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ในส่วนของปัจจัยทางเศรษฐกิจมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ความสามารถทางอุตสาหกรรม
                                ประเทศที่จะเป็นมหาอำนาจได้จะ ต้องเป็นประเทศที่มีความสามารถด้านอุตสาหกรรมในระดับที่สูงมาก ญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ผ่านพ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับหนึ่งแล้วก่อนที่จะเข้าร่วมสงคราม ในกรณีนี้มีคำอธิบายอยู่ 2 อย่างคือ 1.เป็นประเทศอุตสาหกรรมจึงทำให้มีศักยภาพในการผลิตอาวุธที่มีอานุภาพในการ ทำลายล้างได้ทีละมากๆ ทำให้ได้เปรียบประเทศอื่น หรือ 2.เป็นประเทศอุตสาหกรรม จึงต้องกรทรัพยากรในการผลิตมากขึ้น และเป็นแรงผลักดันให้ต้องการเข้าสู่สงคราม
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการนำอาวุธใหม่ๆ เข้ามาในสงครามมากมาย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรนั้น ก่อนที่จะประกาศสงครามในวิกฤติการณ์เพิร์ล ฮาร์เบอร์นั้น สหรัฐอเมริกาได้ส่งอาวุธและรถถังไปให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมากมาย เรียกได้ว่าทั้งอังกฤษและสหภาพโซเวียตต่างใช้ปืนและรถจี๊บที่ผลิตโดยสหรัฐ อเมริกาแทบทั้งนั้น
เทคโนโลยี
                                ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้สามารถคิดค้นอาวุธใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีความร่ำรวย มีอุตสาหกรรมที่เจริญแล้ว และให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการวิจัย จะสามารถสร้างอาวุธที่มีศักยภาพสูงๆ เช่น ดาวเทียมสอดแนม ขีปนาวุธวิสัยไกล เครื่องบินพรางตัวหรืออาวุธและระบบเรดาห์อัจฉริยะต่างๆ เทคโนโลยีที่ต่างกันอาจทำให้ผลของสงครามสามารถทำนายได้โดยง่าย (แม้จะไม่ใช่ทุกครั้ง โปรดอ่านตัวอย่างจากสงครามเวียดนามในบทที่ว่าด้วยสงครามเย็นของหนังสือเล่ม นี้)
3. ปัจจัยทางการเมือง
                ผู้นำ
                                ผู้นำมีความสำคัญมากต่อบทบาท การเป็นมหาอำนาจของประเทศต่างๆ ผู้นำที่ดีทำให้ประเทศสามารถพัฒนาก้าวไกล และมีวัตถุประสงค์ของการดำเนินนโยบายต่างๆ อย่างแน่นอน ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ และมาเลยเซียที่มีอดีตผู้นำที่เข้มแข็ง สามารถทำให้ประเทศทั้ง 2 มีบทบาทที่เด่นชัดในระบบการเมืองโลก ในขณะที่อินโดนีเซียยังมีบทบาทน้อยยกว่า 2 ประเทศที่กล่าวมาข้างต้น

อย่างไรก็ดีผู้นำที่เป็นแบบเผด็จการอย่างที่กล่าวมา ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดจุดมุ่งหมายและทำอะไรได้ดังใจก็จริง แต่หากตัดสินใจผิดพลาดก็จะทำให้ประเทศเกิดความหายนะ เช่นการตัดสินใจของฮิตเลอร์ และนายพลโตโจ ที่ตัดสินใจทำสงคราม
- ระบบพันธมิตร
                                การสร้างระบบพันธมิตรเพื่อเพิ่มพูนปัจจัยแห่งอำนาจถือเป็นวิธีการที่รวดเร็ว และง่ายที่สุด ระบบพันธมิตร ที่มีความร่วมมือทางการทหารสามารถทำให้บทบาทของชาตินั้นๆ ในระบบการเมืองโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา อย่างไรก็ตามเท่าที่ผ่านมาระบบพันธมิตรที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การ เมืองโลก ไม่เคยมีองค์กรใดยืนยงและประสบความสำเร็จเลย ยกเว้นองค์กรเดียวคือ NATO และ WARSAW  Pact ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดมาเผชิญหน้าซึ่งกันและกัน และเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สงครามเย็นระหว่างโลกเสรีและ คอมมิวนิสต์ไม่กลายเป็นสงครามร้อนจริงๆ ในยุโรป
นักคิดคนอื่นๆ ที่ศึกษาเรื่องอำนาจ
                นอกจากแนวคิดเรื่องอำนาจของ Mangenthau แล้ว ยังมีนักคิดคนอื่นๆ ที่ศึกษาเรื่องอำนาจ และเป็นที่มาของการศึกษาอำนาจในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน อาทิเช่น
1. ตูซีดีดีส (Tucydides)
                ตูซีดีดีส (471-400 BC) นับว่าเป็นนักเขียนที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นนักทฤษฎีแนวสัจนิยมเป็นคนแรก ของโลก รวมทั้งยังเป็นบิดาของหลักการทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย คนที่ศึกษาวิชาปรัชญาการเมืองส่วนใหญ่คงจะเห็นพ้องว่า หลักการทางปรัชญาของนักปรัชญาของนักปรัชญาชาวกรีกเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจ ได้ยาก แต่ยกเว้นงานของ ตูซีดีดีส ที่จะทำความเข้าใจได้ง่ายกว่า ตูซีดีดีสเขียนหนังสือเรื่อง “The Peloponnesian War” ซึ่งเป็นตำราด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เก่าแก่ที่สุดเล่มหนึ่งของโลก หนังสือเล่มที่มีชื่อเสียงของเขาเล่มนี้ได้บันทึกช่วงเวลาแห่งสงครามทั้งหมด เป็นระยะเวลายาวนานถึง 21 ปี จากจำนวนปีของสงครามที่เกิดขึ้นทั้งหมด 28 ปี ระหว่างนครรัฐเอเธนส์ และนครรัฐสปาร์ตา (และพันธมิตรของทั้งสองรัฐ) ในช่วง 5 ปี ก่อนคริสตกาล
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีแต่เพียงการจดบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เท่านั้น แต่เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของวีรบุรุษ และความทารุณโหดร้าย ชัยชนะและความพ่ายแพ้ ความเฉลียวฉลาดและความโง่เขลา เกียรติยศและการหลอกลวง ซึ่งเป็นการแสดงออกทั้งธรรมชาติของมนุษย์และได้ทำให้ Peloponnesian War กลายเป็นงานเขียนทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่คลาสสิกชิ้นหนึ่งที่เราควร จะหามาอ่าน
สิ่งที่ ตูซีดีดีส ได้ตั้งใจบ่งบอกไว้ในหนังสือเล่มนี้ มีมากกว่าการเขียนบรรยายความว่าสงครามเกิดขึ้นอย่างไร แต่ ตูซีดีดีส ได้พยายามอธิบายถึงธรรมชาติของสงคราม และอธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิดสงคราม
ประเด็นนี้ ตูซีดีดีส มองว่า อดีตเป็นตัวชี้ทางแห่งอนาคต ตูซีดีดีสสนใจสาเหตุทั่วไปของสงคราม โดยนำเพโลโพนีเซียนมาเป็นกรณีศึกษาว่าสงครามครั้งนี้ มีต้นเหตุมาจากอะไร ซึ่งต่างจากผู้นำที่จะสนใจในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเพื่อกำหนดนโยบาย แต่สำหรับ ตูซีดีดีส เขาต้องการอธิบายถึงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดสงคราม Peloponnesian War จึงเป็นหนังสือที่นำเสนอการศึกษาการต่อสู้ของอำนาจทางการทหารและการเมือง
สำหรับประวัติของ ตูซีดีดีส ก็คือ เขาอายุน้อยกว่าโสเครตีสและโซโฟเคิล แต่อายุมากกว่าอริสโตพลานิส ในปี 424 ก่อนคริสตกาล ในช่วงปีที่แปดของสงคราม ตูซีดีดีส ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายพลคนหนึ่งของเอเธนส์ เมื่อได้ประจำการที่เมืองเทรส แต่เขาล้มเหลวในการป้องกันเมืองให้รอดพ้นจากการโจมตีของสปาร์ตา ซึ่งในครั้งนั้นทำให้เอเธนส์สูญเสียนายพลไปคนหนึ่ง แต่โลกก็ได้นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งมาแทน
ตูซีดีดีส ซึ่งเป็นคนที่เกิดในครอบครัวที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของเอเธนส์ใช้เวลาที่ เหลือในการเฝ้าสังเกตสังกาเหตุการณ์ที่เกิดในสงคราม ออกเดินทาง และสัมภาษณ์ทหารต่างๆ แม้แต่ตอนถูกคุมขังก็ยังหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการเมือง เขาให้ความสำคัญกับแรงจูงใจและนโยบายของผู้นำของทั้งสองฝ่าย และใช้วิธีการสร้างปาฐกถาต่างๆ เพื่อที่จะสร้างบทเรียนทางประวัติศาสตร์ให้กับผู้นำรุ่นใหม่ที่มาอ่านงานของ เขา
ตูซีดีดีส วิเคราะห์สาเหตุของการเกิดสงครามในครั้งนี้ว่า
“ผมจะเริ่มต้นด้วยการแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกัน และประเด็นหลักที่นำมาสู่การขัดกันซึ่งผลประโยชน์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลจริงๆ ที่ทำให้เกิดสงคราม) คงไม่มีใครสงสัยว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ระหว่างพวกเฮ เลนิสด้วยกัน (หมายถึงชาวกรีก) แต่เหตุผลจริงๆ ที่ทำให้เกิดสงครามในความคิดของผมที่มักจะไม่มีใครให้ความสนใจก็คือ การขยายตัวของเอเธนส์นั่นเองที่ทำให้สปาร์ตารู้สึกหวาดระแวง (Fear) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสงคราม”
                ด้วยเหตุนี้สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสงครามที่ ตูซีดีดีส คิดก็คือ ความ “หวาดระแวง” (fear) ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในภาวะดุลแห่งอำนาจ (ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วในขณะนั้น ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก) สปาร์ตาเกิดความกังวลว่าจะสูญเสียความยิ่งใหญ่ในหมู่พวกเฮเลนีส (หมายถึงในเหล่านครรัฐชาวกรีกด้วยกัน) เนื่องจากเอเธนส์กำลังเพิ่มกำลังทางการทหารให้เข้มแข็งเพื่อป้องกันการโจมตี ของต่างชาติ ในขณะที่สปาร์ตากลับมองว่าเอเธนส์กำลังพยายามช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจ
เพื่อป้องกันการศูนย์เสียอำนาจโดยเปรียบเทียบ สปาร์ตา จึงต้องพยายามที่จะสร้างพลังทางการทหารขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับเรียกร้องความช่วยเหลือจากพันธมิตรของสปาร์ตาเองด้วย เอเธนส์เมื่อเห็นพฤติกรรมของสปาร์ตาก็ตอบโต้สปาร์ตาแบบเดียวกัน ตูซีดีดีสได้วิเคราะห์และบรรยายสถานการณ์ ตลอดจนเหตุการณ์ และนโยบายต่างๆ โดย เขาได้อธิบายการสะสมกำลังอาวุธ การป้องกันประเทศ ดุลแห่งอำนาจ ระบบพันธมิตร การทูต ยุทธศาสตร์ เกียรติยศ และภาพลักษณ์ของความแข็งแกร่งและความอ่อนแอ
ตูซีดีดีส เห็นความสำคัญของความหวาดระแวงในฐานะที่เป็นต้นเหตุหลักของสงครามเพโลโพนี เซียน ความหวาดระแวงที่สปาร์ตารู้สึกในพลังอำนาจของเอเธนส์ที่เพิ่มมากขึ้นๆ กลายเป็นสิ่งที่พูดกันต่อๆ มาในหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อผู้นำของรัฐรู้สึกได้ว่า “ดุลแห่งอำนาจ” กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่ค่อยจะเป็นที่ต้องการ ผู้นำเหล่านี้มักจะปรับแก้สถานการณ์เช่นนี้ให้กลายเป็นความกลัว ความสงสัย และความไม่มั่นใจในบทบาทของคู่แข่ง เราอาจเปรียบเทียบความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ระหว่างสปาร์ตากับเอเธนส์นี้ กับความขัดแย้งระหว่างเยอรมันกับอังกฤษในช่วงหลังสงคราม franco-prussian War ปี 1870 (อ่านสงครามรวมชาติเยอรมัน) เนื่องจากหลังสงครามครั้งนั้นแล้ว เยอรมันเข้มแข็งขึ้นมา ทำให้สถานภาพเดิมในยุโรปเกิดการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนใช้อธิบายความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตตลอดช่วง 40 ปีของสงครามเย็นเช่นเดียวกัน (อ่านสงครามเย็น) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “ความหวาดกลัว” เป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดการสะสมอาวุธและการทำสงคราม
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ตูซีดีดีส เหมาะสมที่จะเป็นนักวิชาการทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพราะว่า “ความหวาดกลัว” ซึ่งสิ่งที่เขายกขึ้นมานั้น ใช้วิเคราะห์ได้ดีในสภาพแวดล้อมแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราจะเห็นได้ว่าทฤษฎีนี้ไม่สามารถจะใช้ประยุกต์ได้กับธรรมชาติของคนแต่ละคน ได้ดีเท่ากับความเหมาะสมในการใช้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ เพราะในโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นโลกแบบอนาธิปไตย คือ สภาวะแวดล้อมที่ไม่มีอำนาจสูงสุด หรืออำนาจกลางที่จะใช้อำนาจเหนือรัฐต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะในยุคนครรัฐโบราณ หรือยุครัฐสมัยใหม่ที่รัฐต้องการขยายขอบเขตดินแดน สมกับคำที่กล่าวเกี่ยวกับอำนาจไว้ว่า “ใครแข็งแกร่งกว่าสามารถใช้อำนาจเอให้ทำอะไรก็ได้ ในขณะที่ใครอ่อนแอกว่าจำเป็นต้องยอมรับในสิ่งที่ถูกกระทำ” ถึงแม้ว่าความหวาดกลัวอาจจะชักนำให้เกิดสงคราม แต่อำนาจ และความสามารถโดยเปรียบเทียบจะเป็นตัวตัดสินว่าใครจะได้รับชัยชนะในสงคราม
2. แม็คเคียวเวลลี
                นิโคไล แม็คเคียวเวลลี (Niccolo Machiavelli) (1469-1527) นักคิดนักเขียนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของอิตาลีในยุคฟื้นฟู ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากงานเขียนของพวกโรมัน ส่วนสภาพแวดล้อมรอบตัวแม็คเคียวเวลลีนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 16 อิตาลีได้ถูกแบ่งแยกเป็นนครรัฐต่างๆ เปรียบเสมือนในยุคสมัยเฮเลนิสติกของกรีก ประวัติการทำงานของแม็คเคียวเวลลีคือ เขาได้ทำงานรับราชการโดยเป็นทูต ซึ่งเขาเป็นทูตอยู่จนกระทั่งสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ที่เขาทำงานอยู่ล่มสลายในปี 1512 และหลังจากที่เขาไม่มีอำนาจในทางราชการอีก เขาได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ไปในการศึกษาความวุ่นวายและความไม่มั่นคงทางการ เมืองของอิตาลี
สิ่งที่ตูซีดีดีส และแม็คเคียวเวลลีมีความคิดเห็นเหมือนกันก็คือ  ต่างเขียนถึง “อำนาจ” “ดุลแห่งอำนาจ” “การรวมตัวกันของพันธมิตร” “การต่อต้านระบบพันธมิตร” และ “สาเหตุของความขัดแย้งระหว่างนครรัฐ” แต่สิ่งที่แม็คเคียวเวลลีให้ความสำคัญเป็นอย่างมากอยู่ที่สิ่งที่นักเขียนใน ปัจจุบันเรียกกันว่า “ความมั่นคงแห่งชาติ” (national security)
แม็คเคียวเวลลีเห็นว่าการอยู่รอดของรัฐเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้ปกครองสามารถสูญเสียรัฐได้หากไม่สามารถควบคุมภัยคุกคามที่อาจจะมาจากภาย ในและภายนอกรัฐ และในภาษาเยอรมันทีคำว่า realpolitik ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางในการวิเคราะห์ของพวก realism ซึ่งหมายถึงอำนาจและการเมืองเรื่องอำนาจระหว่างรัฐ การรักษาและการขยายอำนาจ ซึ่งเป็นงานเขียนที่อุทิศให้กับ ลอเร็นโซ ดิ เมดิซี ผู้นำของฟลอเร็นซ์ในขณะนั้น
หลักการที่น่าถกเถียงข้อหนึ่งของแม็คเคียวเวลลีอยู่ที่ว่า เขามองว่าความมั่นคงของรัฐเป็นสิ่งที่มีความสลักสำคัญอย่างยิ่งจนกระทั่ง สามารถทำให้กำหนดพฤติกรรมของผู้ปกครองให้อาจจะต่างไปจากความประพฤติของคน ปกติ โดยจุดมุ่งหมายคือความอยู่รอดของรัฐ อาจจะทำให้เจ้าผู้ปกครองเลือกวิธีการอย่างใดก็ได้เพื่อที่จะบรรลุจุดหมาย นั้น
จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้เกิดการเล่าขานว่า คำว่าลัทธิแม็คเคียวเวลลี หรือ Machiavellianism กลายเป็นคำที่ใช้เรียกดูถูกดูแคลนว่าเป็นลัทธิที่มักชักนำให้กระทำในสิ่งที่ ผิดต่อหลักศีลธรรม ซึ่งแม็คเคียวเวลลีได้กล่าวไว้ว่า ศีลธรรมของคนธรรมดากับศีลธรรมของผู้ปกครองไม่ควรจะเป็นอย่างเดียวกัน การกระทำของผู้ปกครองควรจะแตกต่างจากมาตรฐานของการกระทำของบุคคลธรรมดา นั่นหมายความว่าควรจะมีมาตรฐานของศีลธรรมของผู้ปกครองที่แตกต่างออกไป โดยบุคคลธรรมดาอาจจะมีศีลธรรมเพื่อความดีสูงสุดอะไรก็แล้วแต่ แต่สำหรับผู้ปกครองนั้นกล่าวได้ว่า สิ่งที่เป็นเป้าหมายของเขาคือความมั่นคงของรัฐต่างหาก ด้วยเหตุนี้คนที่เข้าใจแนวความคิดของแม็คเคียวเวลลีจึงกล่าวว่า ผู้ปกครองอาจจะเป็นคนดีก็ได้ หากเขาสามารถจะทำได้ แต่ว่าผู้ปกครองก็อาจจะเป็นวายร้ายได้เช่นกันหากจำเป็น
บางคนเห็นว่า แม็คเคียวเวลลีเป็นคนที่เห็นโลกในวิถีทางที่มันเป็นอยู่จริงๆ ไม่ได้คิดว่าโลกนี้ “ควร” จะเป็นอย่างไร ศีลธรรมและการเมืองควรจะเป็นเรื่องที่แยกออกจากกัน คำแนะนำของเขาต่อผู้ปกครองเป็นสิ่งที่มาจากการวิเคราะห์เรื่องราวทางประวัติ ศาสตร์และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่บนหลักการนามธรรมทางศีลธรรม
แม็คเคียวเวลลีกล่าวว่า หลายๆ คนมัวแต่นั่งฝันถึงรัฐและหลักการที่ไม่ปรากฏมาก่อน หรือไม่มีอยู่ในความเป็นจริง เพราะเราอยู่ในโลกที่ห่างไกลจากโลกที่เราคิดว่าเราควรจะอยู่ พวกนี้คือคนที่ไม่สนใจว่าอะไรเกิดขึ้นเพราะมัวแต่นั่งคิดว่าอะไรควรจะเกิด ขึ้น ทำอย่างนี้พวกนี้อาจจะต้องพบกับความเสียหาย คนที่เคร่งครัดศีลธรรมจรรยาไปหมดเสียทุกอย่างอาจจะต้องพบกับความเศร้าเสียใจ มากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
โดยสรุปแล้วแม็คเคียวเวลลีกล่าวว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม (immoral) แต่เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม (amoral) มากกว่า
ด้วยเหตุนี้ในโลกสมัยใหม่ จึงมีคำกล่าวว่า พวกแม็คเคียวเวลเลียน (Machiavellian) ซึ่งเป็นคำที่ไว้ใช้ตำหนิพวกฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตามแม็คเคียวเวลลีก็ไม่ได้ชักชวนบรรดาผู้นำทั้งหลายให้หาประโยชน์ ใส่ตัวเอง แม็คเคียวเวลลียังได้กล่าวอีกว่า ผู้ปกครองไม่ควรจะดุร้าย เพราะในที่สุดมันจะมาทิ่มแทงเขาเอง การลงโทษควรจะเก็บไว้ใช้กับนโยบายบางประการเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงและ เสถียรภาพให้กับรัฐ
3. ฮอบส์
                ปรัชญาการเมืองของโทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) (1588-1679) ชาวอังกฤษได้ก่อกำเนิดมาในช่วงห้าสิบปีแรกที่วุ่นวายของอังกฤษในช่วงศตวรรษ ที่ 17 ซึ่งหลังจากที่เขาได้รับการศึกษาในมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ฮอบส์ก็ได้มาเป็นอาจารย์ของขุนนางท่านหนึ่ง และหลังจากนั้นฮอบส์ก็ได้ติดต่อกับครอบครัวนั้นเสมอมา โดยส่วนตัวแล้วฮอบส์เป็นผู้ที่ศรัทธาในระบอบกษัตริย์ และได้ย้ายหนีไปฝรั่งเศสในปี 1641 ซึ่งเป็นช่วงความขัดแย้งระหว่างรัฐสภาและกษัตริย์ แต่ภายหลังรัฐสภาอังกฤษมีอำนาจเหนือกษัตริย์ ฮอบส์ได้มีโอกาสสอนลูกชายของพระเจ้าชาร์ลที่ 1 (ซึ่งพระเจ้าชาร์ลองค์นี้เองที่ได้ถูกประหารชีวิตในปี 1649 ในสมัยเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายกษัตริย์ในประเทศอังกฤษ) ในที่สุดฮอบส์ได้กลับสู่อังกฤษในปี 1652 โดยประกาศว่าจงรักภักดีต่อระบอบสาธารณรัฐในขณะนั้น ซึ่งมีโอลิเวอร์ คลอมเวลล์ เป็นผู้นำ
หนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดของฮอบส์ ชื่อ ลีเวียธัน (Leviathan) ซึ่งเป็นทฤษฎีทั่วไปทางรัฐศาสตร์ทฤษฎีแรกของอังกฤษได้ถูกตีพิมพ์ขึ้นในปี 1652 นั้นเอง ซึ่งฮอบส์ได้มีความเห็นตรงกับแม็คเคียวเวลลีในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ฮอบส์ให้ความสนใจกับการจัดการการเมืองภายใน และเป้าหมายของฮอบส์ก็คือการสร้างอำนาจทางการเมืองที่มีการรวมศูนย์อย่างเข้มแข็งมากที่สุด เพื่อที่จะให้เห็นภาพแนวคิดทางปรัชญาของเขา ฮอบส์ได้กล่าวถึงสภาพดั้งเดิมของมนุษย์ว่า สภาพดั้งเดิมอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ก่อนที่จะมารวมกันเป็นสังคมนั้น คือสถานภาพของสงครามของแต่ละบุคคล ทำให้ผู้คนต่างอยู่ด้วยความหวาดกลัว และชีวิตของคนนั้นแท้จริงแล้วเต็มไปด้วยความเหงา ยากจน น่ารังเกียจ โหดร้าย และอายุสั้น
อย่างไรก็ตามเขาก็ไม่ได้ยืนยันว่าสภาพดั้งเดิมอันเป็นธรรมชาตินั้นเคย เกิดขึ้นจริงๆ ฮอบส์กล่าวว่า มันเป็นภาพในจินตนาการเฉยๆ ว่า สังคมของเราจะเป็นอย่างไรหากปราศจากรัฐบาล และในที่สุดเขาเสนอว่า คนเราควรจะหลีกเลี่ยงสภาพอันโหดร้ายนั้นด้วยการให้อำนาจแก่ผู้ปกครองหรือ ลีเวียธัน (อธิปัตย์, อำนาจอันสูงสุด หรือผู้นำสูงสุด) ทั้งนี้เพื่อที่จะรักษาระเบียบและความไร้ขื่อแปจะได้หมดสิ้นไป อำนาจของรัฐบาลจึงเป็นสิ่งที่ควรถูกสร้างขึ้น โดยฮอบส์ได้กล่าวว่า ในสังคมหนึ่งๆ ควรที่จะมีอำนาจที่รุนแรงที่จะใช้บังคับทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน โดยความตกลงใจร่วมกันหากไม่ปฏิบัติตามกฎที่ตัดสินใจร่วมกันแล้ว คนที่ไม่ปฏิบัติตามก็สมควรจะถูกลงโทษตามี่ตกลงกันไว้ และฮอบส์ได้กล่าวไว้ว่า หากไม่มีกฎระเบียบ มนุษย์ก็จะไม่สามารถสร้างอารยธรรมขึ้นมาได้ ตลอดจนไม่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ศิลปะ ความรู้ หรือคุณค่าใดๆ ขึ้นมาได้เลย
แนวคิดของฮอบส์ในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อแนวคิดในความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในเรื่องที่ว่า การให้ความหมายของธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ในแบบของฮอบส์นั้น สามรถใช้ได้กับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในฐานะที่ไม่มีลีเวียธันหรืออำนาจใดๆ หรือหน่วยการปกครองใดที่มีอธิปไตยเหนือแต่ละรัฐ ซึ่งสภาวะเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นสภาวะอนาธิปไตย (anarchy)
เมื่อธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นแบบอนาธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เป็นแบบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วก็คือ สภาพความสัมพันธ์ที่ปราศจากลีเวียธัน (หรือที่ในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรียกว่า มหาอำนาจหรือ hegemonic) จึงทำให้สภาพของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ต่างไปจากสภาพดั้งเดิมของ มนุษย์ที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ความขัดแย้ง และสงครามจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อไม่มีสัญญาประชาคม (social contract) ระหว่างกัน จึงไม่มีใครมีอำนาจในการปกครองรัฐต่างๆ ได้ ในความคิดของ ฮอบส์ การใช้อำนาจในทางการเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้
4. กรอติอุส (Grotius)
                ฮูโก กรอติอุส (Hugo Grotius) (1583-1645) ชาวดัชที่มีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกับฮอบส์ ได้นำเสนอแนวคิดทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ว่า ในฐานะที่ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบอนาธิปไตย (อย่างที่ฮอบส์บอก) จึงควรมีการก่อตั้งกลุ่มของกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับของรัฐโดยทั่ว ไป สำหรับกรอติอุสและพวกที่นิยมกรอติอุสทั้งหลายต่างมองว่า คุณค่า หรือค่านิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ถูกเรียกว่ากฎหมายระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ
กรอติอุสศึกษาปัญหาของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากแง่มุมที่เป็นรูปธรรม มาก จากการให้ความสำคัญด้านการค้าโดยสัญชาติเดิมของเขาที่เป็นชาวดัชที่เก่งด้าน การค้าขายทางทะเล เขาได้เขียนหนังสือชื่อ Law of Prize and Booty และ Freedoms of the Seas และงานที่สำคัญที่สุดคือ Law of War and Peace ซึ่งได้เกี่ยวข้องกับสงครามและคำถามเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นประเด็นหลักการของพวก realism
กรอติอุสใช้หลักการของเหตุผลและกฎหมายธรรมชาติเป็นหลักการกว้างๆ และก็ใช้จารีตปฏิบัติที่ใช้กันมาระหว่างรัฐให้เป็นที่มาของกฎหมายระหว่าง ประเทศ นอกจากนี้ยังมีพวกสนธิสัญญาต่างๆ อันเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐ ทั้งนี้รัฐต่างๆ จะต้องยึดตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงในสภาวะแวดล้อมอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎข้อบังคับ ต่างๆ ได้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวระเบียบในความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ
เมื่อเรามองว่า กรอติอุสพยายามเรียกร้องให้รัฐต่างๆ ยอมรับในหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ เราอาจจะตีความได้ว่า กรอติอุสเป็นนักอุดมคตินิยม (idealist) ซึ่งจะแตกต่างกับนักสัจจะนิยม (realism) ในแง่ที่ว่า กรอติอุสพยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือพยายามนำเสนอกฎเกณฑ์นามธรรมที่สอดคล้องกับนักคิดในกระแสอุดมคตินิยม ด้วยเหตุนี้ในแนวคิดของ กรอติอุส จึงพยายามสนับสนุนให้มีการสร้างกลุ่มกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อใช้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกัน
5. เคล้าซวิท (Clauswitz)
                คาร์ล ฟอน เคล้าซวิท (Carl vom Clausewiz) (1780-1831) ชาวปรัสเซียนผู้เกิดในครอบครัวนายพล และได้เข้าร่วมในสงครามนโปเลียน มีความคิดเห็นว่า กองทัพมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพลังอำนาจของชาติ แต่การเมืองก็มีความสำคัญมากกว่า และเคล้าซวิทมักจะบอกว่า “สงครามก็คือสิ่งต่อเนื่องของกิจกรรมทางการเมือง”
งานของเคล้าซวิทเขียนอยู่ในช่วงสมัยของสงครามตั้งแต่สงครามนโปเลียนในปี 1815 และในช่วงการเรียกประจำการกลับเข้าสู่กองทัพของเคล้าซวิทเพื่อที่จะปฏิบัติ การในปรัสเซียตะวันออก เคล้าซวิทตายในปี 1831 ก่อนที่จะเขียนหนังสือเรื่อง On War จบลง แต่งานของเคล้าซวิทก็ได้เป็นศูนย์กลางในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยจุดเน้นของงานของเขาได้แก่ความไม่แน่นอนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศในยาม สงคราม และปัญหาเรื่องความมั่นคงแห่งชาติที่เคล้าซวิทให้ความสนใจ หนังสือของเคล้าซวิทเป็นหนังสือคลาสสิกอีกเล่มหนึ่งที่ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศควรหามาอ่านไว้
6. คาร์ (Carr)
                นักเรียนในวิชาความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศส่วนใหญ่ยอมรับว่า คาร์ Edward Hallett Carr’s ที่เขียนหนังสือเรื่อง วิกฤติการณ์ 20 ปี (The Twenty Year’s Crisis) ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึง สงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นหนังสือคลาสสิกของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปแล้ว
งานต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของตูซีดีดิส, แม็คเคียวเวลลี, ฮอบส์, กรอติอุส และเคล้าซวิท เป็นงานที่เขียนในภาวะวิกฤติ เช่นเดียวกับงานของคาร์ในเรื่องวิกฤติการณ์ 20 ปี ที่ได้เขียนเสร็จภายในปี 1939 ในช่วงที่เมฆหมอกแห่งสงครามกำลังกระจายไปทั่วยุโรป ในงานเขียนของคาร์สื่อให้เราเข้าใจว่า คาร์ไม่ได้สนใจกับการตำหนิติเตียนผู้นำของประเทศต่างๆ ในฐานะที่เป็นต้นกำเนิดของสงคราม แต่เขาให้ความสนใจกับความสำคัญของสถานการณ์ด้านอำนาจ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดสงคราม ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถทำความเข้าใจได้เป็นอันขาดว่า เพราะเหตุใดเมื่อทำสนธิสัญญาแวร์ซายด์ซึ่งเป็นสนธิสัญญาสันติภาพ 1919 แล้วจึงเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1939 ห่างกันเพียง 20 ปี
เพื่อที่จะพยายามทำความเข้าใจได้ว่า มีเหตุผลบางประการที่อยู่เบื้องหลังวิกฤติการณ์ระหว่างประเทศ เราต้องนำแนวคิดของตูซีดีดิสเข้ามาวิเคราะห์ด้วย ซึ่งคาร์ได้ให้ความสำคัญกับความ “หวาดกลัว” อันเป็นสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และคาร์ได้นำแนวคิดของแม็คเคียวเวลลีและฮอบส์ในเรื่องอำนาจเข้ามาวิเคราะห์ สงครามโลกครั้งที่สองนี้ว่า “อำนาจจะทำให้เกิดความต้องการอำนาจยิ่งๆ ขึ้นไป” ซึ่งแสดงให้เห็นจากความเป็นจริงที่ว่า ตอนแรกประเทศต่างๆ พยายามสะสมอำนาจเพื่อที่จะสร้าง “ความมั่นคงปลอดภัย” ให้กับตัวเอง แต่ในที่สุดแล้ว “ความมั่นคงปลอดภัยนั้น” กลับกลายเป็นความพยามยามที่จะเข้าไปยึดครองรุกรานประเทศอื่นด้วย
ในหนังสือ The Twenty Year’s Crisis ของคาร์ยังได้กล่าวถึงแนวคิดของแม็คเคียวเวลลีและฮอบส์ในฐานะที่เป็นต้น กำเนิดหรือที่มาสำคัญของแนวความคิดแบบ realism ซึ่งสำหรับคนอื่นๆ อาจจะมองว่างานของคาร์เป็นงานที่ออกมาชนกับกระแส utopian หรือกระแสอุดมคตินิยมที่เป็นที่นิยมก่อนหน้านั้น แต่คาร์ก็ต่อต้านกระแส realism กระแสหลักที่มุ่งเน้นการแสวงหาอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว
ด้วยเหตุนี้คาร์จึงมองว่า การเมืองควรจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ ความเป็นจริงและอุดมคติ หรือ ทั้ง คุณค่า และ อำนาจ
มากกว่า 1 ในสามของหนังสือเล่มนี้ คาร์ได้พูดถึงงานของกรอติอุสในประเด็นที่เกี่ยวกับบทบาทของศีลธรรมในความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศ การก่อกำเนิดของกฎหมายระหว่างประเทศ การเคารพสนธิสัญญา และการใช้กระบวนการยุติธรรมในการยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ และวิธีการที่จะนำไปสู่ระเบียบโลกใหม่ เพราะคาร์ได้แสดงความคิดเห็นต่อจุดแข็งและจุดอ่อนของอุดมคตินิยมและสัจนิยม ไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้คาร์จึงได้ทิ้งแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อทั้งกลุ่มที่เป็น realism และไม่ใช่ realism ไว้ด้วยกัน
สรุป
                การศึกษาเรื่องอำนาจ เป็นศูนย์กลางในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่สุด เพราะอำนาจและการแสวงหาอำนาจเป็นกิจกรรมที่สอดแทรกอยู่ในกระบวนการปฏิ สัมพันธ์ระหว่างรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจระบบการเมืองระหว่างประเทศ
ในบทนี้ผู้เขียนได้กล่าวถึงคำจำกัดความของอำนาจโดยนักวิชาการความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เด่นที่สุดในการศึกษาเรื่องอำนาจ ได้แก่ Morganthau นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงปัจจัยด้านอำนาจต่างๆ และได้นำแนวคิดของนักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ในสายสัจนิยม) ที่กล่าวถึงประเด็นด้านอำนาจมาอธิบายไว้พอประมาณ เพื่อให้นักศึกษาได้สามารถนำไปเป็นแนวทางในการหาหนังสืออ่านเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจกับประเด็นเรื่องอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้ให้ ได้ง่ายขึ้น

บทที่ 3 การประชุม Congress of Vienna และ ระบบ Concert of Europe

บทที่ การประชุม Congress of Vienna  และ ระบบ Concert of Europe
                ยุโรปในช่วงปี ค.ศ.1814-1945 เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจระบบความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดย เฉพาะอย่างยิ่งสภาพการเมืองของยุโรปในช่วง 130 ปีก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
หากมองโดยผิวเผินแล้ว สภาพการเมืองในยุโรปในช่วงหลังปี 1815 คือเป็นปีที่พระเจ้านโปเลียน โบนาปาร์ตแห่งฝรั่งเศสประสบความพ่ายแพ้ต่อชาติต่างๆ จนกระทั่งถึงปี 1914 เ)นช่วงเวลา 100 ปีที่ยุโรปค่อนข้างมีความสงบ (โดยเปรียบเทียบช่วงสงครามนโปเลียน) และช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1) ชาติมหาอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซียต่างเถลิงอำนาจอย่างเต็มที่ สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นหลังจากนั้น 100 ปี และมีสงครามใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คือ สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นหลังสงครามใหญ่ครั้งแรกราวๆ 20 ปี และดูแล้วไม่น่าจะมีอะไรให้เราได้ศึกษาในช่วง 130 ปี ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2
หากแต่ว่าสิ่งที่เป็นจริงก็คือ ยุโรปในช่วง 130 ปีนั้นเป็นช่วงที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดุลอำนาจในยุโรปเกิดการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดรัฐใหม่ ขึ้นมา 2 รัฐ ได้แก่ เยอรมันและอิตาลี นอกจากนี้จากที่ได้กล่าวว่า การเกิดขึ้นของชาติทั้ง 2 นำไปสู่ปัญหา 2 ข้อที่ว่า 1).มีปัจจัยใดเอื้ออำนวยให้มีการรวมชาติเยอรมันและอิตาลีขึ้นมาได้ และ 2).เพราะเหตุใดทั้ง 2 ชาติที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ ได้เป็นชาติที่ริเริ่มก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศจนลุกลามไปเป็น สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ซึ่งคำตอบของทั้ง 2 คำถามนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อนักศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาก
นอกจากการก่อเกิดชาติมหาอำนาจที่มีอันตรายเป็นอย่างยิ่งทั้ง 2 รัฐตามที่ได้กล่าวมาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงสำคัญนี้คือการเปลี่ยนแปลงในทุกประเทศในยุโรป ทั้งสภาพภูมิศาสตร์และโครงสร้างของรัฐบาล ในส่วนโครงสร้างทางภูมิศาสตร์ก็คือสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศที่ได้ถูก หั่นถูกแบ่งไป บางรัฐสูญหายไปจากแผนที่ เช่น อาณาจักรออตโตมัน บางรัฐถูกแบ่งแยกออกไปมากมาย เช่น รัฐออสเตรีย ถูกแบ่งไปเป็นรัฐเยอรมัน อิตาลี ฮังการี ฯลฯ และบางรัฐก็เกิดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เช่น โปแลนด์ (หลังสงครามโลกครั้งที่ 1) เป็นต้น ในส่วนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐบาลคือ ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบประมุขของรัฐในยุโรปใหม่เกือบทั้งหมด จนในที่สุดระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เข้มแข็งได้หายไปจากทวีปยุโรป คงเหลือแต่ระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี หรือ อย่างมากก็ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาซึ่งบางประเทศยังคงกษัตริย์ไว้เพียง ตำแหน่งประมุขของชาติที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นต้น
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่นักศึกษาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะได้รับ จากการศึกษาประวัติศาสตร์การทูตก็คือ การได้เห็นชาติมหาอำนาจต่างๆ ในยุโรป ติดต่อสัมพันธ์โดยใช้กลวิธีเรียกว่า “ดุลแห่งอำนาจ” (Balance of Power) เช่น การได้เห็นชาติต่างๆ พยายามป้องกันฝรั่งเศสไม่ให้ใหญ่เกินไปด้วยวิธีการดุลแห่งอำนาจ และในที่สุดปรัสเซียก็ได้ประโยชน์จากวิธีดุลแห่งอำนาจนี้ และได้ศึกษาเล่ห์เหลี่ยมของบิสมาร์คในการสร้างชาติเยอรมันด้วยการเล่นกับดุล แห่งอำนาจเช่นเดียวกัน นอกจากนี้นักศึกษายังได้เห็นบทบาทการเป็นตัวถ่วงดุล (Balancer) ของอังกฤษ ในการเป็นผู้ดูชาติต่างๆ ในทวีปยุโรปอย่างห่างๆ และจะเข้ามาแทรกแซงในทวีปยุโรปก็ต่อเมื่อว่ามีชาติใดชาติหนึ่งเริ่มจะเข้ม แข็งเกินไป ดังที่แทรกแซงต่อความพยายามของรัสเซียในการขยายอาณาเขตลงทะเลดำ เป็นต้น
ยุโรปหลังการรุกรานของนโปเลียน เป็นยุโรปที่มีความแตกต่างไปจากยุโรปในช่วงก่อนหน้านั้นอย่างสิ้นเชิง นโปเลียนเป็นคนที่นำเอาอุดมการณ์ชาตินิยม-เสรีนิยมให้สะพัดไปทั่วยุโรป ความหอมหวานของลัทธิเสรีนิยมได้แพร่กระจายไปทั่วยุโรป ประชาชนทั้งหลายต่างเรียกร้องที่จะปกครองตัวเอง สถาปนาระบอบประชาธิปไตย ปลดแอกตัวเองโดยการขับไล่รัฐบาลต่างชาติ และสิ่งนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น
ผู้อ่านจะได้ทำความเข้าใจกับระบบรัฐในยุโรปหลังปี 1815 ที่เรียกว่า Concert of Europe และได้รู้จักการประชุมและผลของการประชุมเพื่อจัดระเบียบของรัฐยุโรป คือ Congress of Vienna หลังจากนั้นนักศึกษาต้องทำความเข้าใจกับลัทธิเสรีนิยมที่เกิดขึ้นในยุโรป รวมทั้งศึกษาความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง Convert of Europe ทั้งนี้ จะต้องนำเอาแนวคิดเสรีนิยมและทฤษฎีแห่งอำนาจไปอธิบายความวุ่นวายทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นให้ได้
หลังจากนั้นจะได้ศึกษาการรวมชาติ 2 ชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดได้แก่ เยอรมันและอิตาลี รวมทั้งให้ความสนใจกับปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดบทบาทที่เด่นชัด จนผลักดันให้ 2 ชาตินี้เป็น 2 มหาอำนาจที่จะผลักดันระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ตกอยู่ในความตึง เครียด จนในที่สุดมันได้ระเบิดเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 และศึกษาถึงความสัมพันธ์ของมันในฐานะที่เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด สงครามโลกครั้งที่ 2 ในอีกเพียง 20 ปีต่อมา ซึ่งนักศึกษาสามารถใช้แนวความคิดนี้ได้จากการเรียนในระดับนี้เพื่อไปต่อยอด แล้วนำไปอธิบายว่า เพราะเหตุใดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพียง 20 ปี และโลกเราได้เรียนรู้จากวิกฤติการณ์ 20 ปีนี้ดีเพียงใด ที่ในที่สุดแล้วทำไมเราจึงไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้สำเร็จจนกระทั่งทุกวันนี้
นักศึกษาที่สนใจหาอ่านหนังสือเพิ่มเติม สามารถหาอ่านได้จากหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุโรปทุกเล่ม ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แล้วเข้ามาเรียนในห้องเพื่อนำเอาทฤษฎีที่สอนในห้องไปทำความเข้าใจกับภาพความ เป็นจริงที่เกิดขึ้นทางประวัติศาสตร์ จะทำให้นักศึกษาสามารถทำความเข้าใจกับเนื้อหาของบทนี้ได้ดียิ่งขึ้น
Concert of Europe
                ระบบ Concert of Europe เป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุโรป ที่เกิดขึ้นจากสนธิสัญญาแห่งกรุงเวียนนา (Congress of Vienna-1815) การที่อยู่ๆ ชาติต่างๆ ในยุโรปจะมาทำสนธิสัญญาร่วมกันนี้ มีต้นเหตุมาจากการที่ พระเจ้านโปเลียนมหาราชแห่งฝรั่งเศส ได้เข้ารุกรานประเทศอื่นๆ ในยุโรปจนเกือบหมด ภายหลังที่นโปเลียนพ่ายแพ้ต่อชาติอื่นๆ ในยุโรป จึงเกิดปัญหาขึ้นที่ว่า ต้องมีการจัดแบ่งดินแดนกันใหม่ให้เหมือนช่วงก่อนที่พระเจ้านโปเลียนจะรุกราน ยุโรป และต้องพยายามทำให้ฝรั่งเศสไม่สามารถมีอำนาจเข้มแข็งขึ้นจนสามารถรุกรานคน อื่นได้อีกต่อไป
ก่อนที่จะรู้จักสนธิสัญญาแห่งกรุงเวียนนา อันเป็นต้นกำเนิดของระบบ Concert of Europe นี้ จะขอให้นักศึกษาทำความรู้จักกับพระเจ้านโปเลียนกันดูสักหน่อย
ประวัติพระเจ้านโปเลียน
พระเจ้านโปเลียน เกิดมาจากคนธรรมดาสามัญไม่ได้มีเชื้อสายกษัตริย์ แต่ในที่สุดด้วยความสามารถด้านยุทธศาสตร์การทหารและการเมือง นโปเลียนได้ก้าวข้ามขั้นจากประชากรธรรมดา กลายเป็นมหาราชคนหนึ่งของโลก และเป็นผู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงให้เกิดในยุโรป
นโปเลียนเกิดที่เกาะคอร์ซิกา ในปี 1769 เกาะคอร์ซิกาในตอนนั้นเป็นดินแดนหนึ่งของฝรั่งเศส  นโปเลียนเป็นคนที่เรียนหนังสือดีมาก ในช่วงที่เขาเติบโตขึ้นมานั้น ประเทศฝรั่งเศสได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1789 คือ เมื่อเขาอายุได้ 20 ปี ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฝรั่งเศสมีความวุ่นวายมาก ในช่วงที่ฝรั่งเศสมีความวุ่นวายนี้เอง นโปเลียนได้เข้าร่วมกับฝ่ายปฏิวัติ พรรคจาโคแบง เนื่องจากเห็นว่าพรรคจาโคแบงจะได้รับชัยชนะในการทำสงคราม
หลังจากที่ฝรั่งเศสได้เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศอื่นๆ รอบๆ ฝรั่งเศสไม่ค่อยพอใจที่ฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการประหารชีวิตกษัตริย์และ สร้างระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ จึงได้ส่งกองทัพมารุกรานฝรั่งเศสอยู่หลายครั้งนโปเลียนได้ร่วมกับฝรั่งเศสใน การต่อสู้กับรัฐอื่นๆ ซึ่งในการต่อสู้กับรัฐอื่นๆ นี้เอง นโปเลียนได้ทำการส่งออกอุดมการณ์เสรีนิยม และอุดมการณ์ปฏิวัติด้วย โดยเมื่อรุกรานรัฐไหนได้ ก็นำระบบกษัตริย์เดิมออกไป และส่งเสริมระบอบเสรีนิยมในประเทศต่างๆ ด้วย นโปเลียนประสบความสำเร็จในการรบเป็นอย่างมาก ในที่สุดเมื่อเขารบชนะไปจนถึงอียิปต์แล้ว เข้าได้ย้อนกลับเข้าฝรั่งเศสและได้เป็นจักรพรรดิของฝรั่งเศสในกาลต่อมา
สำหรับผลงานของนโปเลียนในช่วงที่เขาได้เป็นจักรพรรดิ คือ พระองค์ประสบความสำเร็จในการตีรุกรานประเทศต่างๆ เกือบทั่วยุโรป ยกเว้นแค่ประเทศบางประเทศ เช่น อังกฤษ ออตโตมัน สวีเดน และรัสเซีย
แต่ในที่สุดนโปเลียนพลาดท่าเสียทีแก่ฤดูหนาวที่กรุงมอสโคในปี 1812 เพราะฤดูหนาวปีนั้นมาเร็วกว่าปกติ และมอสโคเผาเมืองตัวเอง
เพื่อที่ไม่ให้นโปเลียนได้เสบียงจากการปล้นเมือง จากการพ่ายแพ้ในครั้งนั้น ในที่สุดนโปเลียนก็ต้องประสบความปราชัยในการทำสงครามมาโดยตลอด นอกจากนี้นโปเลียนยังได้พยายามทำลายเศรษฐกิจของอังกฤษด้วยการทำ “การปิดกั้นภาคพื้นทวีป” (Continental Blockage)
คือการป้องกันไม่ให้ประเทศในทวีปยุโรปอื่นๆ ทำการค้าขายกับอังกฤษ เพื่ออังกฤษจะได้ถูกโดดเดี่ยวและอ่อนแอลง แต่วิธีการปิดกั้นภาคพื้นทวีปนี้เองที่ในที่สุดได้กลายมาเป็นหอกแทงกลับสู่ ฝรั่งเศสเสียเอง เพราะอังกฤษในช่วงนั้นมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากพอที่จะผลิตสินค้า อุตสาหกรรมต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง (อังกฤษเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรม) นอกจากนี้อังกฤษยังมีอาณานิคมมากมายนอกทวีปยุโรป ที่เป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบและตลาดของอังกฤษเอง อังกฤษโชคดีที่การค้าในอาณานิตมของสเปนทวีปอเมริกาได้เจริญก้าวหน้าขึ้น เพราะอาณานิคมของสเปนไม่ยอมรับกษัตริย์พระองค์ใหม่ โจเซฟ  โบนาปาร์ต ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยนโปเลียน[1] จึงหันไปทำการค้ากับอังกฤษด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงได้รับผลกระทบจากการปิดกั้น ภาคพื้นทวีปน้อยกว่าที่นโปเลียนได้คาดการณ์เอาไว้หลายเท่านัก
นอกจากอังกฤษจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นภาคพื้นทวีปแล้ว ฝรั่งเศสกลับกลับได้รับความกระทบกระเทือน เนื่องจากว่าประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ต่างพากันเดือดร้อนเพราะราคาสินค้าแพง ขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ซื้อจากอังกฤษ ซึ่งเมื่อมีการปิดกั้นภาคพื้นทวีป ทำให้ต้องมีการลักลอบซื้อขายสินค้าจากอังกฤษ และทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นกว่าปกติร้อยละ 50 นานๆ เข้าประเทศต่างๆ ก็ถอนตัวจากระบบนี้ และระบบนี้ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการมุ่งเป้าไปที่พระเจ้านโปเลียน และเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การสิ้นอำนาจของนโปเลียน เพราะพันธมิตรและดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจของพระองค์รวมทั้งประเทศที่เป็นกลาง พากันเอาใจออกห่างเพราะไม่อาจทนระบบนี้ไหว นั่นหมายถึงการสิ้นอำนาจอย่างสิ้นเชิงของนโปเลียน
แนวคิดการปฏิวัติฝรั่งเศสและลัทธิวัฒนธรรมประจำชาติ
จากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า นโปเลียนเป็นคนที่นำแนวคิดการปฏิวัติฝรั่งเศสไปเผยแพร่ให้กับประเทศต่างๆ ในยุโรป ซึ่งเป็นแนวคิดการปฏิวัติฝรั่งเศสมีจุดหนึ่งคือ การยอมรัยสิทธิของแต่ละบุคคล เรื่องอธิปไตยของประชาชน และการนำ 2 แนวคิดนี้ไปเป็นหลักการ สัญญาประชาคม (General Will) ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่
ผลกระทบของการปฏิวัติฝรั่งเศสได้ลามออกไปเรื่อยๆ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมตะวันตก เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบเดิมหรือกหมายที่ใช้คลุมสังคมก่อนปี ค.ศ.1789 และยังเป็นการปลุกความหวังความต้องการของมนุษย์ทุกคน และประชากรของโลกให้รับรู้สิทธิและความสำคัญของหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของ ปวงชน
นอกจากนี้แนวคิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ยังทำให้เกิด ลัทธิวัฒนธรรมประจำชาติ ซึ่งหมายเป็นความเชื่อที่มีอยู่ว่า แต่ละชาติในยุโรปได้พัฒนาวัฒนธรรมของจนเองขึ้นมาตั้งแต่รูปแบบแรกสุด พร้อมกับภาษาของตนเอง แม้ว่าภาษาและวัฒนธรรมของตนจะมีญาติสนิทใกล้ชิด (หมายถึงวัฒนธรรมของคนอื่น) เลยดินแดนออกไป ดังนั้น ยุโรปจึงจึงเหมือนช่อดอกไม้ ประกอบด้วยไม้ดอกมากมาย ผูกไว้เป็นช่ออย่างกลมกลืน[2]
แนวคิดนี้ให้ความสำคัญว่า วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากชนชั้นที่มีการศึกษา ไม่ได้เกิดจากศิลปินของราชสำนัก แต่วัฒนธรรมเติบโตอย่างช้าๆ ใช้เวลาเป็นศตวรรษ
นอกจากนี้ภายหลังนโปเลียนขึ้นเป็นผู้นำ เขาได้ยกทัพไปพิชิตอียิปต์ และได้รับอิทธิพลของโรมันกลับมา เช่น การจัดตั้งฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐตามแบบโรมัน โดยมีนโปเลียนเป็นจักรพรรดิ์นโปเลียน หรือการนำวัฒนธรรมที่เน้นการให้ความสำคัญกับประชาชน
จักรพรรดิ์นโปเลียนมีความสามารถเยี่ยมยอดในการแก้ไขปัญหาทุกอย่าง และพยายามส่งเสริมศิลปะของชาติ (นโปเลียนเคยเป็นกวีและประติมากรในวัยหนุ่ม) นโปเลียนทำให้เกิดวัฒนธรรมโรแมนติก กระจายไปทั่วยุโรป ซึ่งเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธเหตุผลและการยกย่องลัทธิปัจเจกชนนิยม (individualism) และลัทธิเสรีนิยม (Liberalism)
นโปเลียนทำให้แนวคิดโรแมนตอกกระจายไปทั่วยุโรป อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส เริ่มต้นจากความรู้สึกของประชาชนที่เคยถูกกดดันในยุคของการใช้เหตุผลและหลัก วิทยาศาสตร์ ในเยอรมันเริ่มมีการพัฒนาเพลงพื้นเมือง นิทานปรัมปรา เพลงรัก ภาษาท้องถิ่นและความเชื่อเก่าๆ ให้กลายเป็นวัฒนธรรมพื้นเมือง โดยมีการศึกษารวบรวมเรื่องราวเล่านี้ไว้แล้วจัดพิมพ์ขึ้น ทำให้ชาวพื้นเมืองทั้งหลายเริ่มตระหนักถึงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นของ ตนเอง
จุดประสงค์ของ Congress of Vienna
ระบบ Concert of Europe อันเป็นสิ่งที่เกิดมาจากการประชุม Congress of Vienna นั้นมาจากจุดประสงค์ของตัวสนธิสัญญาที่ว่า
“พยายามสร้างดุลแห่งอำนาจของยุโรป โดยพยายามรักษารูปแบบและการปกครองของรัญต่างๆ ในยุโรปก่อนสงครามนโปเลียน”
                ทั้งนี้ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าพระเจ้านโปเลียนเป็นคนที่รุกรานประเทศต่างๆ ในยุโรปและได้เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศเหล่านั้น รวมทั้งเผยแพร่อุดมการณ์เสรีนิยม ปัจเจกชนนิยม การปฏิวัติ และลัทธิโรแมนติกต่างๆ ด้วยเหตุนี้เมื่อชาติมหาอำนาจมารวมตัวกันได้อีกครั้งหนึ่ง พวกเขาจึงพยายามที่จะรักษาความเป็นสถานภาพเดิม (Status Quo) ซึ่งเป็นสถานภาพทางการเมืองก่อนที่จะเกิดสงครามนโปเลียน นอกจากนี้ยังต้องพยายามสกัดกั้นไม่ให้ฝรั่งเศสกลับขึ้นมายิ่งใหญ่ได้อีก ครั้งหนึ่ง เราจะแยกแยะจุดประสงค์ของการประชุมนี้ได้เป็น 3 ข้อดังนี้
1. ให้ความชอบธรรมแก่กษัตริย์องค์ก่อน (Legitimacy of the former Kings)
                การให้ความชอบธรรมแก่กษัตริย์องค์ก่อน หมายความว่า ชาติมหาอำนาจต่างตกลงกันว่า ต้องการให้สิทธิอันชอบธรรมแก่กษัตริย์ของประเทศต่างๆ กลับมาครองแผ่นดินเดิม เช่น ให้พระเจ้าเฟอร์ดินานด์แห่งราชวงศ์บูรบองครองอาณาจักรเนเปิลและซิซิลี และให้พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 7 ปกครองสเปนเหมือนเดิม ก่อนที่นโปเลียนจะขับไล่พวกเขาออกไปในช่วงสงครามนโปเลียน นอกจากนี้ยังริบดินแดนที่ฝรั่งเศสเคยไปได้มาในช่วงสงครามออกให้หมด โดยให้ฝรั่งเศสมีอาณาเขตเท่าเดิมก่อนที่นโปเลียนจะครองอำนาจ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถรักษาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ได้
2. การตีวงรอบ (Encirclement)
                การตีวงรอบ เป็นความพยายามของชาติมหาอำนาจในการที่จะสกัดกั้นไม่ให้ฝรั่งเศสย้อนกลับ มาตีใครได้อีก ไม่ให้ฝรั่งเศสเป็นภัยกับยุโรป แนวคิดแบบนี้เป็นแนวคิดดุลแห่งอำนาจ วิธีการที่ชาติมหาอำนาจในแนวคิดแห่งดุลอำนาจเพื่อมาตีวงรอบฝรั่งเศส เช่น การที่ชาติมหาอำนาจต่างยกกลุ่มน้ำไรน์ให้ปรัสเซียดูแล เพื่อไม่ให้ฝรั่งเศสเข้มแข็งเกินไปและอาจยกทัพมาตีรัฐเล็กๆ ตามลุ่มน้ำไรน์ แล้วจะทำให้ฝรั่งเศสเข้มแข็งอีก
วิธีการนี้คือการที่ทำให้ฝรั่งเศสไม่อาจเข้มแข็งได้อีก โดยการสร้างตัวแสดงใหม่ขึ้นมาคานฝรั่งเศสนี้เอง เรียกว่า การสร้าง “ดุลแห่งอำนาจ” ซึ่งถึงแม้ว่าช่วงแรกอังกฤษและออสเตรียจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ แต่ในที่สุดก็ยอมให้ปรัสเซียได้ดินแดนเพิ่มขึ้น
ส่วนอาณาจักรซาร์ดิเนีย-พิเอดมองต์ ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ไม่เข้มแข็งพอที่จะคานอำนาจฝรั่งเศสได้ ก็ได้รับเจนัว นีซ และซาวอยเพื่อเพิ่มกำลังให้เข้มแข็งและป้องกันไม่ให้ฝรั่งเศสรุกรานอิตาลี ได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน และยกลอมบาร์ดีและเวเนเซียให้ออสเตรียเพื่อให้สามารถถ่วงดุลฝรั่งเศสในทาง เหนือได้
3. การชดเชย (Compensation)
                ในการจัดแบ่งแผนที่ของยุโรปใหม่นั้น ชาติมหาอำนาจบางชาติต่างถือโอกาสในการเขียนแผนที่ใหม่ให้กับตัวเองใหม่ด้วย เช่น ออสเตรียขอแลกเบลเยี่ยมให้เนเธอร์แลนด์ และขอลอมบาร์ดีกับเวเนเซียในคาบสมุทรอิตาลีทดแทน เพราะออสเตรียอยู่ใหล้ลอมบาร์ดีกับเวเนเซีย มากกว่าเบลเยี่ยม ซึ่งอยู่ห่างไกลและควบคุมยากกว่า เป็นต้น การชดเชยนี้ยังมีอีกหลายกรณี ซึ่งแต่ละกรณีทำให้ชาติเล็กๆ ต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะมักจะถูกยกหรือโยกย้ายไปให้ชาติมหาอำนาจอื่นๆ เพื่อรักษาดุลแห่งอำนาจ ทั้งนี้ ไม่ได้คำนึงถึงความเหมือนหรือแตกต่างของลักษณะประชากรในแต่ละรัฐเลย
อย่างไรก็ดี ในการประชุมที่เวียนนากินเวลาถึง 8 เดือน โดยที่มีปัญหามากมายเกิดขึ้นในการประชุม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการตกลงกันไม่ได้ในเรื่องดินแดน แมตเตอร์นิช ผู้แทรออสเตรียไม่อยากให้ปรัสเซียใหญ่เกินไปเพราะจะเป็นคู่แข่งของออสเตรีย ต่อไปได้ในอนาคต ส่วนอังกฤษเห็นด้วยกับแมตเตอร์นิช
ผลของ Concert of Europe
ผลของ Concert of Europe นั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในขั้วอำนาจของยุโรป ตามความปรารถนาของชาติมหาอำนาจ เช่น ปรัสเซียมีความเข้มแข็งขึ้นมาก ซึ่งแต่เดิมปรัสเซียเป็นรัฐขนาดกลางที่ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก ได้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะจากสนธิสัญญาแห่งกรุ่งเวียนนานี้ ปรัสเซียได้ประโยชน์มาก คือ ได้แคว้นแซกโซนี ถึง ¾ ส่วน แคว้นไรน์แลนด์, บางส่วนของโปแลนด์ และบางส่วนของรัสเซียอีกด้วย ปรัสเซียเลยเริ่มมีอำนาจมากขึ้น และต่อมาได้กลายเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทมากที่สุดในระบบ Concert นี้ โดยในช่วงแรกๆ ของระบบ Concert สนธิสัญญาได้มีมติให้จัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมัน โดยมีรัฐสำคัญคือ ปรัสเซียและออสเตรีย รัฐต่างๆ ในสมาพันธรัฐเยอรมันเป็นเอกราช แต่การรวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐนี้ไม่สามารถเป็นพันธมิตรของรัฐอื่นได้โดยไม่ ได้รับอนุญาตจากสภาไดเอ็ต (Diet) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากเจ้านคร และมีจักรพรรดิออสเตรียเป็นประธานสภาไดเอ็ตอย่างถาวร
ในระบบ Concert นี้เองยังไม่ได้ก่อให้เกิดรัฐใหม่ๆ และการโยกย้ายอำนาจในการปกครองของรัฐมหาอำนาจที่มีต่อรัฐเล็กๆ เช่น การก่อตั้งอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ได้รวมเบลเยี่ยมไว้เป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์โดยประกาศให้กษัตริย์ของ เนเธอร์แลนด์เป็นกษัตริย์ของเบลเยี่ยมไปด้วย ส่วนโปแลนด์ไม่ได้เป็นเอกราช ประเทศนี้ถูกแบ่งให้กับปรัสเซีย ออสเตรียและรัสเซีย แต่คนโปแลนด์ยังสามารถนับถือโรมันคาธอลิก และพูดภาษาโปลได้ ส่วนนอร์เวย์เดิมรวมอยู่กับเดนมาร์ก แต่สนธิสัญญาให้รวมอยู่กับสวีเดน เพื่อชดเชยกับการที่สวีเดนต้องเสียฟินแลนด์ให้กับรัสเซีย ส่วนเดนมาร์กได้แคว้นโลเวนเบิร์กเป็นการทดแทน
สนธิสัญญานี้ยังได้รับรองความเป็นกลางของสวิสเซอร์แลนด์ ในการที่มีภูเขาล้อมรอบและเหมาะกับการเป็นรัฐกันชนให้กับรัฐมหาอำนาจต่างๆ นอกจากนี้สนธิสัญญายังได้ฟื้นฟูระบบกษัตริย์และสันตะปาปา ให้กลับมาเหมือนเดิมอีกด้วย
ปัญหาของ Congress of Vienna
จากการวิเคราะห์ผลของ Congress of Vienna แล้ว ปรากฏว่าการประชุมนี้มีข้อบกพร่องใหญ่ๆ อยู่ 2 ประการ คือ
1.) สนธิสัญญามุ่งแต่การรักษาดุลอำนาจแห่งยุโรปมากเกินไปจนละเลยถึงสภาพความเป็น จริงทางการเมืองและความต้องการของประชาชน เช่น ความพยายามสกัดกั้นฝรั่งเศสไม่ให้ขยายตัว ในที่สุดแล้วส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งให้กับปรัสเซียเพื่อถ่วงดุลกับ ฝรั่งเศส และนอกจากนี้การโยกย้ายชาติเล็กๆ ให้ไปรวมกับชาติใหญ่ๆ เพื่อรักษาดุลภาพแห่งอำนาจ โดยไม่สนใจความเป็นชาติของแต่ละชาติ เพราะแต่ละชาติก็ไม่อยู่ภายใต้การปกครองของคนต่างชาติต่างภาษา แต่รัฐมหาอำนาจต่างๆ ยังคงต้องการรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช รวมทั้งการรักษาความสมดุลแห่งอำนาจไว้ ความพยายามของชาติมหาอำนาจเหล่านี้ ทำให้ขัดกับการแพร่ขยายของลัทธิเสรีนิยมที่รุกรานไปทั่วยุโรปในช่วงนั้น จนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง ความต้องการของชาติมหาอำนาจกับความต้องการของประชาชน ทำให้เกิดความวุ่นวายมากมายตามมา ดังที่เราจะได้ศึกษากันต่อไป
2.) ไม่มีมาตรการใดๆ ที่กำหนดไว้เพื่อลงโทษกับบางประเทศที่อาจละเมิดข้อตกลงนี้ในภายหลัง ด้วยเหตุนี้การประชุมนี้จบลงมหาอำนาจจึงได้พยายามวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้ดุล แห่งอำนาจที่ตกลงไว้ในระบบ concert ต้องเสียไป
มหาอำนาจประเทศแรกที่ริเริ่มวิธีการดังกล่าวคือประเทศรัสเซียโดยพระเจ้า ซาร์อเล็กซานเดอร์ ซึ่งมองว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในยุโรปนั้นเป็นเพราะว่าชาวยุโรปไม่ได้ปฏิบัติตาม หลักคริสเตียนที่ดี พระองค์จึงพยายามร่างเอกสารขึ้นมาเพื่อที่จะกล่าวถึงหลักการปกครองแบบ คริสเตียนที่ดี คือ หลักความร่วมมือและหลักสันติภาพ เมื่อร่างข้อตกลงดังกล่าวแล้วส่งไปให้เมตเตอร์นิกแก้ไขเรียบเรียง แล้วส่งให้กษัตริย์ของประเทศอื่นๆ ลงนาม ซึ่งกษัตริย์ของประเทศต่างๆ ที่ลงนามก็ลงนามไปด้วยความเกรงใจทั้งๆ ที่ไม่ค่อยเข้าใจเนื้อความในเอกสารของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์มากนัก มีประเทศอังกฤษและออตโตมันเท่านั้นที่ไม่ได้ลงนาม เอกสารดังกล่าวรู้จักกันในนาม The Holy Alliance เพราะนำหลักทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ต่อมาคัสเซิลเร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษมองว่า The Holy Alliance เป็นข้อตกลงเลื่อยลอยไร้สติที่ไม่มีน้ำหนักในการปฏิบัติ จึงได้ร่างสัญญาฉบับใหม่ขึ้นมา โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ประเทศมหาอำนาจทั้งสี่จะมีทหารไว้ในประจำการประเทศละ 6 หมื่นคน เพื่อใช้ในหารรักษาสภาพดินแดนต่างๆ ตามข้อเสนอของเวียนนาเป็นระยะเวลา 20 ปี เพื่อป้งกันไม่ให้ฝรั่งเศสเข้ามาทำลายประเทศต่างๆ ในยุโรปอีก ประเทศที่มาลงนามในสนธิสัญญานี้ได้แก่ อังกฤษ รัสเซีย ออสเตรีย และรัสเซีย จึงเรียกว่า The Quadruple Alliance



บทที่ 4 เสรีนิยมและชาตินิยมในยุโรป

บทที่ เสรีนิยมและชาตินิยมในยุโรป
(Liberalism and Nationalism in Europe)
เสรีนิยมและชาตินิยมในยุโรป
เสรีนิยม เป็นแนวความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงต้นของยุคสมัยใหม่ หมายถึง ความต้องการเป็นอิสระเสรีของมนุษย์ในการคิด การแสดงออกโดยปราศจากอำนาจภายนอกมาควบคุม แนวความคิดนี้เป็นแนวความคิดที่มีอิทธิพลในทางการเมืองการปกครองเป็นอย่าง ยิ่ง และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยุโรปอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงปลายของศตวรรษ ที่ 17 และได้กระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศอาณานิคมในอีก 2 ศตวรรษต่อมา นักคิดคนสำคัญที่ชูแนวทางเสรีนิยม เช่น จอห์น ล็อค และ จังชาค รุสโซ ได้สร้างแนวความคิดอันในที่สุดแล้วได้ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็น รูปธรรมในการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 และมีสงครามนโปเลียนเป็นตัวกลางในการส่งออกแนวความคิดเสรีนิยมจากฝรั่งเศส ให้กระจายไปทั่วยุโรป
ชาตินิยม หมายถึง ความรู้สึกหรือความสำนึกจงรักภักดีต่อชนชาติซึ่งตนถือว่าเป็นชาติพันธุ์ เดียวกัน เป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน มีประวัติความเป็นมา ภาษา ขนบประเพณีต่างๆ และมีศาสนาเดียวกัน ซึ่งย่อมจะหวงแหนรักษาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไว้ให้ปรากฏแก่อนุชนรุ่นหลัง รวมทั้งและร่วมมือร่วมใจปกป้องรักษาหากมีชาติอื่นมารุกรานหรือทำลาย
ชาตินิยมและเสรีนิยมมีมาตั้งแต่สมันโบราณ เช่น พวกยิวโบราณ ก็มีความเชื่อว่าตนเป็นชนที่พระเจ้าเลือกแล้ว พวกรีกโบราณก็กล่าวว่าชนชาติเจริญแล้วต้องพูดภาษากรีกได้ ไม่เช่นนั้นก็ถือว่าเป็นพวกป่าเถื่อน ชาตินิยมของโรมันคือการขยายอำนาจออกไปรอบทะเลเมดิเตอเรเนียน
ในยุคกลาง ชาตินิยมและเสรีนิยมได้ถูกปิดบังไว้ด้วยระบบการปกครองแบบฟิวดัลและความรูสึก เป็นปันหนึ่งอันเดียวกันของยุโรปภายใต้ศาสนาคริสต์ ชาตินิยมและเสรีนิยมต่อยๆ เกิดขึ้นชัดอีกมีในตอนปลายสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา
เสรีนิยมได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองหลายอย่าง อาทิเช่นการทำให้เกิดความเคลื่อนไหนเพื่อเรียกร้องการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย เช่น ชาวสเปนได้เคลื่อนไหวเพื่อให้พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญให้ในปี 1815 ส่วนในทางด้านเศรษฐกิจเสรีนิยมต้องการให้มีการเปิดโอกาสให้มีการประกอบอาชีพ โดยเสรี สนับสนุนการค้าเสรีและการยกเลิกพิกัดทางการค้าหรือภาษีศุลกากรต่างๆ ทั้งนี้ อังกฤษเป็นประเทศเดียวที่สามารถผ่านการปรับปรุงระบบเศรษฐกิจและการเมืองโดย ไม่ผ่านการปฏิวัติเหมือนประเทศอื่นๆ ในภาคพื้นยุโรปเพราะ
1.) ลัทธิสังคมนิยมของ Robert Owen ในอังกฤษ ได้ทำให้ความตึงเครียดระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองถูกคลายออกส่วนหนึ่ง เพราะกรรมกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่นิยมการเรียกร้องทางการเมืองที่สุดกู่
2.) การต่อสู้เคลื่อนไหวของกรรมกร เช่น การประชุมของกรรมกรที่แมนเชสเตอร์ในปี 1819 เป็นวิวัฒนการที่มาจากรากหญ้าของประชาธิปไตย ทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของอังกฤษเป็นระบอบการปกครองที่ชนชั้น ล่างได้ใช้ช่องทางในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในแบบต่างๆ ซึ่งต่างกับประเทศในภาคพื้นยุโรปที่ความขัดแย้งของสังคมเขม็งเกลียวจนขาด สะบั้น ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงจนฉุดรั้งไว้ไม่อยู่ในหลายๆ ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรีย รัสเซีย เป็นต้น
3.) การปรับปรุงสิทธิทางการเมืองในปี 1832 มีการถ่ายโอนอำนาจจากชนชั้นผู้ดีมาอยู่ชนชั้นกลาง ทำให้เป็นกันชนในการเผชิญหน้าระหว่างกรรมกรกับผู้ดี
เสรีนิยมที่ส่งผลให้เกิดความเป็นชาตินิยมนั้น เกิดมาจากการที่ประชาชนต้องการมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และพวกเขาต้องการเลือกผู้แทนของตัวเองเพื่อปกครองตนเอง ความต้องการลักษณะนี้ถูกปิดกั้นจากชาติมหาอำนาจ ในการที่นำกษัตริย์ที่มีเชื้อชาติต่างออกไปมาปกครองพวกเขา นอกจากนี้การที่ชาติเดียวกันต้องถูกแบ่งออกไปให้ชาติอื่นปกครองทำให้แต่ละ ชาติไม่มีสิทธิในการกำหนดชีวิตของตัวเอง ความเป็นเสรีนิยมจึงถูกถ่ายทอดมาเป็นชาตินิยม ซึ่งในที่สุดได้กระจายไปทั่วยุโรป โดยมีลักษณะเป็นกระบวนการ การต่อสู้เพื่อชาตินิยมในยุโรปได้ดำเนินไปเรื่อยๆ และกระจายทั่วโลก จนกระทั่งทุกวันนี้
เสรีนิยมและชาตินิยมในยุโรปที่แพร่สะพัดไปเพราะการปฏิวัติฝรั่งเศสนี่เอง ที่ขัดต่อระบบ concert โดยตั้งแต่ปี 1815-1848 ระบบ concert อยู่ภายใต้การชี้นำของเมตเตอร์นิค เราจึงเรียกยุโรประหว่างยุค 1815-1848
อนึ่ง สิ่งที่เป็นความแปลกประหลาดที่สุดของลัทธิเสรีนิยมคือ แม้คนในชาติจะต่อสู้เพื่อเสรีนิยม และบูชาความเป็นเสรีนิยมอย่างสุดขั้นหัวใจ ไม่ให้ใครมาเป็นเจ้าของเข้าครอง แต่เมื่อได้มันมาโดยแลกกับเลือดเนื้อของคนในชาติจำนวนมหาศาลก็มักจะทำลาย เสรีนิยมนี้เสียเอง โดยการพยายามไม่ให้กลุ่มอื่นในสังคมได้ความเป็นเสรีนิยมนี้ไป สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เมื่อปลดแอกตัวเองจากอังกฤษแล้วก็ไปรุกรานอินเดียนแดง หรือฝรั่งเศส เมื่อได้กลายเป็นสาธารณรัฐแล้วก็ไปกดขี่ประเทศอาณานิคม ไม่ให้ปกครองตัวเอง จนในที่สุดก็แพ้อย่างย่อยยับในสงครามเดียน เบียน ฟู ที่เวียดนาม ความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ของลัทธิเสรีนิยมนี้เอง ที่ทำให้การต่อสู้เพื่อเสรีภาพยังไม่จบสิ้นลงเสียที ในโลกปัจจุบัน
ลัทธิเสรีนิยมที่ส่งผลต่อความวุ่นวายโปแลนด์
โปแลนด์เป็นดินแดนที่รวมของชนชาติที่เรียกตัวเองว่า ชาวโปล ชาวโปลมีวัฒนธรรมและภาษาเป็นของตัวเองและส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโร มันคาธอลิก โปแลนด์เป็นประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอื่นมาช้านาน แต่ความต้องการเป็นเอกราชของชาวโปลก็ไม่เคยเลือนหาย ชาวโปลพยายามอย่างยิ่งในการที่จะให้ได้มาซึ่งเอกราช แต่ด้วยความที่ตกอยู่ใกล้ประเทศมหาอำนาจใหญ่ๆ เช่น ออสเตรียและรัสเซีย ทำให้โปแลนด์ไม่สามารถได้เอกราช ชาวโปลมีความหวังว่าจะได้เอกราชครั้งที่สำคัญครั้งหนึ่งในช่วงสงครามนโป เลียน โดยชาวโปลได้ช่วยนโปเลียนสู้รบกับประเทศอื่นๆ อย่างแข็งขัน ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้นโปเลียนช่วยปลดแอกตนเองมาจากรัสเซีย แต่ในที่สุดนโปเลียนก็พ่ายแพ้ อย่างไรก็ตามชาวโปแลนด์ก็ไม่เคยหมดสิ้นความหวังที่จะได้เป็นเอกราช
เมื่อจบสิ้นสงครามนโปเลียน ชาวโปลต้องเสียใจกับการที่ชาติมหาอำนาจได้ตกลงกันในการประชุม Congress of Vienna และได้มอบดินแดนส่วนใหญ่ให้กับรัสเซีย ทำให้ชาวโปลมีความชอกช้ำใจมาก เพราะรัสเซียปกครองชาติอื่นอย่างโหดเหี้ยมและขูดรีดอย่างมาก ชาวโปลได้พยายามเรียกร้องเพื่อปลดแอกจากรัสเซียมาโดยตลอด และได้ทำการกบฏครั้งใหญ่ในปี 1930 แต่ไม่สำเร็จ ในปี 1931 โปแลนด์ต้องแพ้แก่กองทัพรัสเซีย
ในการทำการกบฏครั้งนี้ พระเจ้านิโคลัสที่ 1 โมโหกับการกระทำของโปแลนด์มาก จึงได้ทำการโหดเหี้ยมยิ่งกว่าเดิม คือจากเดิมโปแลนด์มีรัฐธรรมนูญเป็นของตัวเองก็ล้มรัฐธรรมนูญนั้นเสีย ทำการบังคับให้ชาวโปแลนด์เรียนภาษารัสเซียและกลายเป็นคนรัสเซีย และในทางการเมือง รัสเซียได้ลบโปแลนด์ออกจากแผนที่ยุโรปในขณะนั้น โดยการผนวกโปแลนด์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
รัฐในเยอรมัน
ตาม Congress of Vienna ได้กำหนดให้เยอรมันมีสถานภาพเป็นสมาพันธรัฐ (Germanic Condederation) ประกอบด้วย 39 รัฐ ซึ่งมีรัฐที่สำคัญ เช่น ออสเตรีย ปรัสเซีย ฮันโนเวอร์ บาวาเรีย โดยมีออสเตรียมีอำนาจใหญ่ที่สุดในการปกครอง เพราะจักรพรรดิของออสเตรียเป็นประมุขถาวรในสภาไดเอ็ต รัฐสภาประกอบด้วยทูตจากรัฐต่างๆ เข้ามาร่วมชุมนุมกัน
ปรัสเซียในฐานะเป็นอาณาจักรใหญ่ซึ่งได้ดินแดนต่างๆ มาจาก Congress of Vienna ได้พยายามสร้างฐานะของตัวเองให้เข้มแข็งขึ้น โดยการรวบรวมรัฐเยอรมันเข้ามาอยู่ด้วยกัน โดยอาศัยเครื่องมือคือ “สหภาพศุลกากร” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของรัฐเพื่อการยกเว้นภาษีศุลกากรในการทำการค้า ระหว่างกัน สหภาพศุลกากรนี้ทำให้รัฐเยอรมันต่างๆ ต่างเข้ามาเป็นสนิทสนมและไว้วางใจกันมากขึ้น จนในที่สุดได้กลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงให้เกิดการรวมกันทางการเมืองในกาลต่อ มา
ตัวอย่างการรวมกันในทางเศรษฐกิจ อันมีผลผูกพันให้เกิดการรวมกันทางการเมืองโดยมีอุปสรรคเพียงเล็กน้อยที่สุด ของสหพันธรัฐเยอรมันนี้เป็นตัวอย่างให้กับชาติอื่นๆ ในยุโรป ในการรวมกันทางเศรษฐกิจด้วยสนธิสัญญาถ่านหินและเหล็กภายหลังสงครามโลกครั้ง ที่สอง อันมีส่วนทำให้เกิดการรวมกันแน่นแฟ้นกันมากขึ้นในทางการเมือง จนกลายเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบัน
รัฐในแหลมอิตาลี
ความวุ่นวายในแหลมอิตาลี เกิดจากการที่สมัยนโปเลียน พระองค์ได้นำระบอบการปกครองแบบเสรีนิยมมาสู่ชาวอิตาลีทางภาคเหนือและทำให้ รัฐอิตาลีที่เคยแยกตัวอยู่อย่างเป็นอิสระอยากรวมตัวกันเป็นชาติ แต่ Congress of Vienna ได้มอบให้ออสเตรียปกครองอิตาลี ทำให้ชาวอิตาเลียนคับแค้นใจมากและคิดที่จะขับออสเตรียให้ออกไป
วิธีการของอิตาลีในการขับออสเตรียออกไปเริ่มต้นโดยสมาคมใต้ดินต่างๆ ที่มีชื่อเสียงคือ สมาคม คาร์บอนารี ซึ่งได้ต่อต้านระบบกษัตริย์ โดยประชาชนได้พยายามลุกฮือในแค้นต่างๆ
ออสเตรียได้ส่งกำลังเข้าปราบปรามพวกปฏิวัติอยู่เป็นระยะๆ จนสมาคมคาร์บอนารีหดหายไปและหมดความเชื่อถือจากประชาชน ในที่สุดในปี ค.ศ.1831 ได้มีการก่อตั้งสมาคมอิตาลีหนุ่ม (The Young Italy) โดย Glusseppe Mazzini เพื่อที่จะล้มล้างอำนาจรัฐต่างชาติในอิตาลี แล้วรวมอิตาลีเป็นอันหนึ่งอันเดียวปกครองแบบสาธารณรัฐ มีเมืองหลวงที่กรุงโรม แต่ในที่สุดเขาก็ถูกเนรเทศไปอยู่ลอนดอน แต่ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์การรวมชาติ และส่งบทความปลุกใจชาวอิตาลีในหนังสือพิมพ์อิตาลีอยู่เสมอ
นอกจาก Mazzini แล้ว ผู้นำของสมาคมอิตาลีหนุ่มอีกคนหนึ่งคือ Guisseppe Garibaldi ผู้มีความสามารถในการปลุกระดม ได้ปลุกระดมจนเกิดการจลาจลในที่ต่างๆ และในที่สุดก็ถูกเนรเทศเช่นกัน แต่ Garibaldi ได้เดินทางไปอเมริกาใต้และศึกษาวิธีการต่อสู้แบบกองโจร ซึ่งเมื่อเขากลับมาในอิตาลีในปี ค.ศ.1848 เขาได้กลายเป็นแม่ทัพคนสำคัญของซาร์ดิเนียพิเอดมองต์ ในการรวมชาติอิตาลี แต่ในที่สุดออสเตรียก็เข้ามาปราบปรามจนได้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในปี ค.ศ.1848 อิตาลีจะไม่สามารถรวมชาติได้สำเร็จ แต่การกบฏอยู่สม่ำเสมอของอิตาลีก็ทำให้ออสเตรียเกิดความระส่ำระส่าย และความวุ่นวายดังที่จะได้กล่าวต่อไป
ความวุ่นวายและการแตกแยกของอาณาจักรออสเตรีย
อาณาจักรออสเตรียเป็นอาณาจักรที่ใหญ่มากในยุโรป และประกอบไปด้วยหลายชาติ อาณาจักรนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าชาร์ลเลอมาญ (771-814) ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นอาณาจักรแรกของชาวยุโรป ภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรโรมันโดยดินแดนส่วนหนึ่งของออสเตรียได้มาจาก ลูกของชาร์ลเลอมาญ อันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นี้เอง และอีกหลายส่วนได้มาจากสมาชิกในพระราชวงศ์แฮปสเบิร์กผู้ซึ่งปกครองออสเตรีย ได้แต่งงานกับเจ้าชายเจ้าหญิงต่างๆ ทั่วยุโรป
ผลของความใหญ่โตของอาณาจักรออสเตรีย ทำให้ออสเตรียเป็นที่รวมของคนหลายสัฐชาติ แต่ทว่าแต่ละชาติไม่ว่าจะเป็นออสเตรีย ฮังการี โบฮีเมีย ดัลมาเซีย โครเซีย สลาโวเนีย กาลิเซีย โลโดเมรีย อิลลิเรีย ต่างก็ไม่แสดงตัวเองเป็นชาติออสเตรียเลย เชื้อชาติที่ใหญ่ที่สุดคือ เยอรมัน รองลงมาคือ แมกยาร์ และสลาฟ ตามลำดับ นอกนั้นเป็นพวกชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้เป็นเยอรมันต้องการปลดแอกตั้งประเทศขึ้น ใหม่และได้กลายเป็นปัญหาของราชวงศ์แฮปสเบิร์กตลอดมา
การปฏิวัติฝรั่งเศสอีกครั้งในปี 1848 และการขับไล่พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปป์ออกจากฝรั่งเศสได้กระตุ้นให้ชาวเวียนนามีความตื่นเต้นทางการเมืองมาก จนกระทั่งมีการกลัวว่าจะเกิดสงคราม การตื่นเต้นนี้ทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมือง และมีการชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่รัฐบาลที่กรุงเวียนนาได้ปฏิเสธคำร้องขอของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงทางการ เมือง แต่สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นจนแทบจะควบคุมไม่ได้เพราะกษัตริย์ออสเตรียไม่มี กำลังเพียงพอที่จะปราบปรามประชาชนและพวกชุมนุมเรียกร้อง จนในที่สุดสภาไดเอ็ตได้ประกาศรัฐธรรมนูญและระบุว่าสภาไดเอ็ตจะเป็นสภาที่ได้ รับการเลือกตั้งจากประชาชนที่มีฐานะทางการเงิน 150 ดอลล่าร์ขึ้นไป ทุกคนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชนและฮังการีปกครองตัวเอง ทั้งนี้เพื่อเลี่ยงการนองเลือดทั้งในกรุงเวียนนาและฮังการี
ในขณะที่ออสเตรียเพิ่งรับมือกับความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดที่กรุง เวียนนานั้น ในขณะเดียวกันก็เกิดการกบฏที่เวนิส และมิลาน ในอิตาลีเพื่อเรียกร้องอิสรภาพและความสามารถในการปกครองตัวเอง ตอนแรกออสเตรียกำลังจะย่ำแย่แต่ด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้านโคลัสที่ 1 แห่งฝรั่งเศสและการที่ชนกลุ่มน้อยแตกแยกกันเองทำให้ออสเตรียสามารถปราบปราม พวกกบฏลงได้ แต่ก็ไม่ใช่การปราบปรามอย่างถาวร บาดแผลของออสเตรียไม่สามารถประสานได้ดีเหมือนเดิม ในที่สุดรอยร้าวของออสเตรียก็จะแตกออกอีกหลายครั้ง ดังที่เราจะได้เรียนรู้กันต่อไป
ปัญหาของอาณาจักรออตโตมัน
ปัญหาความแตกแยกภายในอาณาจักรออตโตมันและสงครามกับรัสเซีย
อาณาจักรออตโตมัน ซึ่งมีอาณาเขตตั้งแต่กรีก ตุรกี อียิปต์ และตอนบนของทวีปอาฟริกา มีศุนย์กลางอยู่ที่อิสตันบลูหรือคอนสแตนติโนเปิล เป็นรัฐอิสลามซึ่งปกครองด้วยสุลต่าน อาณาจักรออตโตมันในอดีตเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งในการสงคราม สามารถมีชัยชนะเหนือประเทศหลายๆ ประเทศใน 3 ทวีป ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย อาฟริกา และในยุโรป แต่อาณาจักรออตโตมันในศตวรรษที่ 19 มีความอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก จนแทบไม่เหลือชื่อของความเป็นประเทศของมหาอำนาจในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินแดนหลายๆ ส่วนของอาณาจักรออตโตมันต้องการแยกตัวปกครองตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ อิยิปต์ และกรีก เป็นต้น โดยชาวกรีกต้องการแยกตัวออกมาและก่อการกบฏตลอดเวลา การก่อกบฏในดินแดนต่างๆ ของอาณาจักรออตโตมันเป็นตัวการสำคัญที่คอยบั่นทอนความมั่นคงของอาณาจักรออ ตโตมัน อาณาจักรออตโตมันทำสงครามกับดินแดนต่างๆ ของตัวเอง รวมทั้งทำสงครามกับรัฐอื่นๆ ด้วยจนตัวมันเองอ่อนแอลงทุกทีๆ ในที่สุดก่อนมันจะแตกสลาย อาณาจักรออตโตมันก็ถูกเรียกว่า (คนป่วยแห่งยุโรป) The Sick Man of Europe ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นความย่ำแย่อย่างเหลือทนของอาณาจักรออตโตมัน
ในการศึกษาทวีปยุโรป เราให้ความสำคัญของอาณาจักรออตโตมันอยู่ที่จุดภูมิศาสตร์ของตัวมันเอง ซึ่งอยู่ในส่วนที่เป็นประตูเชื่อมระหว่างทวีปเอเชีย ทวีปอาฟริกา และทวีปยุโรป และยิ่งไปกว่านั้นการที่อาณาจักรออตโตมันมีพรมแดนติดกับทะเลดำ ซึ่งเป็นทะเลน้ำอุ่นแห่งเดียวของรัสเซีย ทำให้อาณาจักรออตโตมันเป็นเจ้าของช่องแคบที่สำคัญที่สุด 2 แห่งในโลกคือช่องแคบดาดะแนลส์ และช่องแคบบอสฟอรัส ซึ่งหากออตโตมันทำการปิดช่องแคบทั้งสองนี้ ทะเลดำก็จะถูกปิด และรัสเซียก็จะไม่มีทางออกสู่ทะเลน้ำอุ่นได้เลย ด้วยเหตุนี้กษัตริย์รัสเซียทุกองค์ต่างต้องการให้รัสเซียมีทางออกทางทะเล โดยเข้าไปมีอิทธิพลเหนืออาณาจักรออตโตมัน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่นการอ้างการปกป้องศาสนาคริสต์นิกายกรีกออโธดอกซ์ เป็นต้น
อังกฤษเป็นประเทศหนึ่งที่เห็นความสำคัญของอาณาจักรออตโตมันต่อการเปลี่ยน แปลงในดุลอำนาจแห่งยุโรป โดยอังกฤษตระหนักว่า หากรัสเซียสามารถมีอิทธิพลเหนือออตโตมัน รัสเซียก็จะสามารถควบคุมช่องแคบดาดะแนลส์และบอสฟอรัสได้ และการที่รัสเซียสามารถแผ่อาณาเขตมายังเมดิเตอร์เรเนียนนี้ จะทำให้ขั้สอำนาจในยุโรปเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาทันที โดยที่ขั้วอำนาจจะชี้หนักไปยังรัสเซีย และหากเป็นเช่นนั้นขึ้นมาจะทำให้กระทบกระเทือนต่อสถานภาพของอังกฤษ โดยเฉพาะความยิ่งใหญ่ในทางทะเลของอังกฤษจะต้องถูกท้าทายจากรัสเซีย
ด้วยเหตุนี้ทั้งอังกฤษและรัสเซียต่างพากันสนใจปัญหากรีกทั้งคู่เพราะ อังกฤษเห็นว่าถ้าสามารถช่วยกรีกได้แล้วอังกฤษจะมีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ซึ่ง เป็นภูมิภาคที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของอังกฤษเอง และรัสเซียเห็นว่าหากช่วยกรีกได้ ออตโตมันจะไม่เข้มแข็งอย่างที่เคยเป็น และรัสเซียจะไม่ต้องถูกออตโตมันปิดทางออกทางทะเล
อังกฤษและรัสเซียเข้ามาช่วยเหลืออตโตมันในการเจรจาสันติภาพกับกรีก โดยให้กรีกมีการปกครองตนเอง แต่ต้องอยู่ใต้อาณาจักรออตโตมัน การเรียกร้องเช่นนี้เป็นการท้าทายอำนาจอธิปไตยของออตโตมันเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นธรรมดาที่ออตโตมันจะไม่ยินยอมและดำเนินการปราบปรามกบฏของกรีกอย่างทา รุน ความพยายามของออตโตมันในการปราบปรามกรีกทำให้ฝรั่งเศส รัสเซีย และอังกฤษต่างพากันช่วยเหลือกรีก เพราะเห็นว่าจะได้ผลประโยชน์จากการเข้าแทรกแซงกรณีปัญหากรีก-ออตโตมันอย่าง แน่นอน แต่ในขณะที่มีการสู้รบกันนั้น กองทัพเรือของอาณาจักรออตโตมันถูกทำลาย ในที่สุดออตโตมันจึงตอบโต้ด้วยประกาศปิดช่องแคบดาดะแนลส์และบอสฟอรัส ซึ่งเป็นการฆ่าตัวตายเองของออตโตมัน เพราะการปิดช่องแคบดังกล่าวเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของรัส เซียโดยตรง ด้วยเหตุนี้รัสเซียจึงประกาศสงครามกับออตโตมันอย่างเป็นทางการ (จากที่เดิมเคยเข้าร่วมสงครามอย่างอ้อมๆ โดยการประกาศช่วยเหลือกรีกพร้อมกับฝรั่งเศสและอังกฤษในตอนแรก)
ด้วยเหตุนี้อาณาจักรออตโตมันจึงย่ำแย่ เพราะรับศึกหลายฝ่ายในเวลาเดียวกัน  ในขณะที่รัสเซียกำลังจะมีชัยเหนือออตโตมัน อังกฤษกับฝรั่งเศสเห็นท่าไม่ดีเพราะกลัวว่ารัสเซียจะชนะเลยรีบนำกองทัพเรือ มารอดูท่า ในขณะที่ออตโตมันสบโอกาสในยามที่เมืองแม่อ่อนแอ เลยพยายามแยกตัวเพื่อปกครองตัวเอง ออตโตมันเห็นท่าจะไม่ดีขอทำสนธิสัญญาสงบศึกกับรัสเซีย แลกกับผลประโยชน์ของรัสเซียในน่าน้ำดะดาแนลส์กับบอสฟอรัส รัสเซียรีบทำสัญญาสงบศึกโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่จะได้รับ ด้วยเหตุนี้รัสเซียจึงมีความเข้มแข็งขึ้น และพรมแดนของรัวเซียจึงยาวถึงจรดแม่น้ำดานูป
ในความพ่ายแพ้ของออตโตมันเช่นนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าออตโตมันอ่อนแอลงเต็มที่ อิยิปต์เห็นเป็นโอกาสจึงได้ส่งกองทัพมาตีออตโตมัน ถึงตอนนี้รัสเซียที่ได้รับผลประโยชน์มาจากอาณาจักรออตโตมันในตอนที่แล้วจึง มาญาติดีกับออตโตมันด้วย โดยรัสเซียได้ทำการช่วยเหลือออตโตมันให้พ้นจากการโจมตีของอิยิปต์ ด้วยเหตุนี้ควาสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศจึงเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น รัสเซียจึงถือโอกาสให้ออตโตมันประกันว่าขอให้กองทัพของรัสเซียเท่านั้นที่มี สิทธิใช้ช่องแคบดะดาแนลส์และบอสฟอรัส ชาติอื่นๆ จะไม่มีสิทธิในการใช้ช่องแคบยุทธศาสตร์ทั้งสองนี้ การกระทำดังกล่าวของรัสเซียและอาณาจักรออตโตมันทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสเกิด ความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะดุลแห่งอำนาจเริ่มเทไปหารัวเซียมากขึ้นทุกที อย่างไรก็ดี อย่างไรก็ตามการที่ตุรกีอ่อนแอลงมากนี้ ทำให้ในที่สุดแล้วรัสเซียต้องตัดสินใจยึดครองคอนแสตนติโนเปิลในภายหลัง เพราะไม่ต้องการให้ชาติอื่นเข้ามายึดครองดินแดนที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของตัว เอง
สงครามไครเมีย
สงครามไครเมียเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการใช้ดุลแห่งอำนาจในทวีปยุโรป ระหว่างรัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้เล่นที่สำคัญ ในการใช้อาณาจักรออตโตมันเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง
สงครามไครเมียเกิดขึ้นจากการที่ ฝรั่งเศสโดยนโปเลียนที่ 3 และรัสเซียโดยนิโคลัสที่ 1 ต่างแยกกันคุ้มครองสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์ในปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของออตโตมันในขณะนั้น
ในตอนแรกนโปเลียนที่3 เสนอสุลต่านมาร์มุดที่2 ของตุรกีว่าฝรั่งเศสต้องการปกป้องชาวคริสต์คาธิลิคในปาเลสไตน์ การเสนอเช่นนี้ของนโปเลียนที่ 3 ทำให้รัสเซียไม่ค่อยพอใจ โดยรัสเซียอ้างข้อความในสนธิสัญญา กุ๊ตชุคไกนาร์ดจิ (1774) ว่าตามสนธิสัญญาแล้วว่ารัสเซียมีสิทธิ์ปกป้องชาวคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ใน โลกนี้ทุกแห่ง ซึ่งรวมทั้งดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ในปาเลสไตน์ด้วย นิโคลัสที่ 1 จึงมองว่าสุลต่านมาร์มุดที่ 2 ละเมิดสนธิสัญญานี้ จึงสั่งให้นายพลพัสเกวิชส่งกองทัพไปยึดแคว้นมอลเดเวียและวัลลาเซีย ซึ่งเป็นดินแดนของตุรกีภายใต้ความดูแลของรัสเซีย ด้วยเหตุนี้อังกฤษและฝรั่งเศสจึงประกาศสงครามกับรัสเซีย (1854)
สาเหตุที่อังกฤษและฝรั่งเศสต่างประกาศสงครามกับรัสเซีย
                1. อังกฤษไม่ต้องการให้อาณาจักรออตโตมันสลายตัวไป ออตโตมันกำลังอ่อนแอลงมาก อังกฤษเชื่อว่าหากรัวเซียรบกับออตโตมันอย่างหนักก็มีสิทธิที่ออตโตมันจะสลาย ตัวไป อังกฤษไม่ต้องการให้รัสเวียมีทางออกทางทะเล เพราะหากรัสเซียมีทางออกทางทะเล รัสเซียจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอำนาจมากขึ้น และมาท้าทายอำนาจของอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษไม่ต้องการให้รัสเซียเข้มแข็งเกินไป ซึ่งรัสเซียอาจจะมีทางออกทางทะเลและมาท้าทายอำนาจของอังกฤษภายในเอเชีย
2. พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ต้องการแก้แค้นความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่มีต่อรัสเซียในปี 1812-1813 พระเจ้านโปเลียนเชื่อว่า หากรัสเซียในที่นี้ ก็จะบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ได้ว่าพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แก้แค้นให้แก่พระเจ้านโปเลียน โบนาปาร์ต
3. ออสเตรีย กลัวว่าหากอาณาจักรออตโตมันสลายตัวไป รัสเซียจะยิ่งใหญ่จนสามารถควบคุมแม่น้ำดานูปได้ ซึ่งจะเป็นภัยต่อราชวงศ์แฮปสเบริ์กในภายหลัง
ในการรบคราวนี้ ประเทศรัสเซียมีความเสียเปรียบมาก เนื่องจากประเทศพันธมิตรต่างช่วยกันอย่างแข็งขันต่อต้านอำนาจของรัสเซีย รัสเซียล่าถอยลงทุกวัน ในที่สุดนิโคลัสที่ 1 ตายก่อนที่สงครามไครเมียจะจบลงและได้ตายไปพร้อมความพ่ายแพ้ของรัสเซีย ทิ้งไว้ให้ทายาทของพระองค์ต้องมาทำสนธิสัญญาสงบศึก ได้แก่ สนธิสัญญาปารีส (1856)
หลังจากพ่ายแพ้สงครามอย่างยับเยินรัสเซียและพันธมิตรได้เซ็นสัญญาปารีส (1856) เพื่อยุติสงครามโดยรัสเซียถูกตัดแขนขาไปอย่างมาก เช่น การที่รัสเซียจะต้องไม่สร้างป้อมค่ายใดๆ บนทะเลดำ การกำหนดให้แม่น้ำดานูปเป็นแม่น้ำนานาชาติ เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้ทำให้สถานภาพของรัสเซียที่เคยเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจจะต้อง ล่าถอยกลับไปอยู่ในภาคพื้นทวีป อำนาจของรัสเซียเริ่มจะกลายเป็นมหาอำนาจอีกครั้งหนึ่งเริ่มต้นอีกครั้งใน ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง




บทที่ 5 การรวมชาติเยอรมัน

บทที่ การรวมชาติเยอรมัน
(The German Unification)
                ผลจากการปฏิวัติในฝรั่งเศสในปี 1848 นอกจากจะทำให้เกิดความรู้สึกวุ่นวายทางการเมืองในออสเตรียแล้ว ก็ยังทำให้ชาวเยอรมันเกิดความรู้สึกชาตินิยม ก็คือความรู้สึกร่วมกันที่ต้องรวมกันเป็นชาติ โดยมีเครื่องมือสำคัญในการวมชาติคือ “สหภาพศุลกากรเยอรมัน”
ในปรัสเซีย ซึ่งเป็นรัฐเยอรมันรัฐใหญ่แห่งหนึ่งที่ต้องการเป็นศูนย์กลางในการรวมรัฐ เยอรมัน เมื่อเจ้าชายไกเซอร์วิลเลี่ยมที่ 1 ขึ้นครองราชย์ พระองค์ต้องการมีกองทัพที่เข้มแข็งเพื่อเป็นเครื่องมือในการรวมเยอรมัน พระองค์ได้ตั้งอัครมหาเสนาบดีหลายคนขึ้นดำรงตำแหน่ง แต่ละคนล้วนแล้วแต่ไม่มีความสามารถในการจัดการกับสภา diet ด้วยกันทั้งนั้น ในที่สุดพระองค์ได้แต่งตั้งให้บิสมาร์ค (Otto Edward Leopold Von Bismarck) เป็นอัครมหาเสนาบดี
บิสมาร์คเกิดในปี 1815 ในตระกุลผู้ที่ชนบท โดยจบการศึกษาวิชากฎหมาย ประวัติศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ เขาได้รับราชการในเวลาต่อมา เขาได้ลาออกในภายหลังเพื่อมาเล่นการเมือง และต่อมาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของรัฐสภาปรัสเซีย เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตปรัสเซียประจำในสหพันธรัฐเยอรมัน ในการเป็นทูตปรัสเซียนี้ทำให้บิสมาร์คได้ติดต่อกับทูตจากรัฐต่างๆ และทำให้เขามีความเชี่ยวชาญในทางการทูต และใช้หลักการนี้เป็นเครื่องมือในการขจัดคู่แข่งของปรัสเซีย และทำการรวมชาติเยอรมันได้เป็นผลสำเร็จ
สิ่งหนึ่งที่บิสมาร์คมองเห็นคือ อาณาจักรออสเตรียเป็นอุปสรรคของการรวมเยอรมัน ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องการขจัดออสเตรียไม่ว่าด้วยวิธีทางการทูตหรือสงคราม ซึ่งบิสมาร์ครู้ดีว่า หากกระทำโดยฝ่ายเดียวต้องไม่ประสบความสำเร็จแน่ ด้วยเหตุนี้บิสมาร์คจึงใช้วิธีการรวบรวมพันธมิตรเพื่อเป็นเครื่องมือในการ รวบรวมเยอรมัน นโยบายที่บิสมาร์คใช้ในภารกิจดังกล่าว เรียกว่านโยบายเลือดและเหล็ก (Blood and Iron)
                เมื่อบิสมาร์คได้เป็นอัครมหาเสนาบดี แล้ว สิ่งแรกที่เขารู้ว่าจะต้องเตรียมพร้อมคือ ความพร้อมทางด้านการทหาร แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับจากรัฐสภา บิสมาร์คก็เช่นเดียวกันของบประมาณบำรุงกองทัพบก แต่รัฐสภาไม่เห็นด้วยเหมือนเดิม บิสมาร์คเลยสั่งปิดสภาและเสนอให้พระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 1 อนุมัติงบประมาณ โดยอ้างว่า รัฐธรรมนูญกำหนดว่าในยามฉุกเฉินกษัตริย์สามารถออกกฎหมายได้ ในการนี้บิสมาร์คจึงได้เงินมาบำรุงกองทัพสมใจ
วิธีการต่อมาของบิสมาร์คคือ เขาต้องแสวงหาประเทศพันธมิตรเพื่อให้การสนับสนุนเขา และจะได้ไม่ต้องรับศึก 2 ทาง เพราะบิสมาร์คเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วง Concert of Europe ดีว่า เป็นช่วงของความพยายามของชาติต่างๆ ที่จะพยายามรักษาสมดุลแห่งอำนาจไว้ หากปรัสเซียสุ่มสี่สุ่มห้าขยายอำนาจก็อาจจะถูกชาติมหาอำนาจที่เหลือรุมเอา ได้ บิสมาร์คจึงต้องเลือกพันธมิตร และเขาได้เลือกรัสเซียเนื่องจากความคุ้นเคยจากการที่เคยไปเป็นทูตที่รัสเซีย มาแล้ว และเขามีความมั่นใจว่ารัสเซียคงจะไม่เข้าแทรกแซงการรวมเยอรมัน เพราะรัสเซียในช่วงนั้นกำลังสนใจการที่จะขยายเขตแดนลงไปที่ทะเลดำ
ในปี 1863 โปแลนด์ก่อการกบฏต่อรัสเซีย บิสมาร์คเห็นโอกาสเหมาะที่จะหาช่องทางในการทำบุญคุณให้รัสเซีย จึงส่งนายพลอัลเวนสเลเบนไปเป็นทูตเจรจาให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 และเสนอว่าหากต้องการปรัสเซียพร้อมที่จะช่วยเหลือรัสเซียปราบโปแลนด์ ในการแสดงความจริงใจดังกล่าวของบิสมาร์คทำให้รัสเซียชื่นชมปรัสเซียเป็น อย่างมาก ถึงแม้ว่าปรัสเซียจะมีความสามารถในการปราบปรามโปแลนด์ด้วยตนเอง นี่เป็นสิ่งที่ทำประโยชน์ให้แก่บิสมาร์คมากในเวลาต่อมา คือการที่ได้รัสเซียเป็นพันธมิตร ทำให้รัสเซียไม่เข้ามาแทรกแซงความต้องการของเยอรทันที่จะรวมชาติ
การดำเนินงานขั้นต่อไปของบิสมาร์คคือ เขาตัดสินใจที่จะเข้าแทรกแซงรัฐเชเลสวิกและโฮลสไตน์ ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์กตามสนธิสัญญาเวียนนา สาเหตุที่บิสมาร์คเลือกที่จะแทรกแซงใน 2 รัฐนี้ เพราะรัฐทั้ง 2 อยู่ในสมาพันธรัฐเยอรมัน มีความใกล้ชิดกับปรัสเซียและประชาชนของทั้ง 2 รัฐ พยายามที่จะเป็นอิสระจากเดนมาร์กอยู่แล้วโดยในปี 1848-1849 ประชาชนของรัฐทั้ง 2 ได้ก่ออการกบฏเพื่อแยกตัว แต่ไม่สำเร็จเพราะมหาอำนาจในระบบ Concert ต่างยังคงต้องการให้รัฐทั้งสองต้องขึ้นต่อเดนมาร์ก
อย่างไรก็ตามในปี 1863 ได้มีการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ในเดนมาร์กคือ พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 7 แห่งเดนมาร์กสวรรคตและเจ้าชายคริสเตียนที่ 9 ทรงครองราชย์ต่อไป และประกาศว่าทั้ง 2 แคว้นเป็นรัฐของเดนมาร์ก แต่เจ้าชายเฟรเดอริคดยุคแห่งออกัสเตนเบิร์ก ได้อ้างสิทธิในพระราชบัลลังก์ทั้ง 2 เพราะประชาชนในเชเลสวิกและไฮสโตน์ไม่ต้องการรวมกับเดนมาร์ก เจ้าชายเฟรเดอริคได้ขอความช่วยเหลือจากสภาเมืองแฟรงเฟิร์ต ตอนแรกสภาลงมติให้แซกโซนีและฮันโนเวอร์ไปช่วยเหลือในการอ้างบัลลังก์
บิสมาร์คต้องการแทรกแซงในกิจการดังกล่าว เพื่อให้ปรัสเซียมีส่วนแบ่งด้านผลประโยชน์บ้าง จึงร่วมเป็ยพันธมิตรกับออสเตรีย บิสมาร์คเรียกร้องให้เดนมาร์กสละแค้วนทั้งสอง แต่เมื่อเดนมาร์กปฏิเสธ ปรัสเซียและอสเตรียจึงรวมกันประกาศสงครามกับเดนมาร์ก ตอนนั้นไม่มีใครกล้าขวางปรัสเซีย เพราะเดนมาร์กมีกองทัพเล็กกว่าปรัสเซียถึง 1ใน 3 ส่วนนอร์เวย์และสวีเดนก็ไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ ฝรั่งเศสก็ยังติดพันกับปัญหาเม็กซิโก ส่วนรัสเซียติดพันกับปัญหาโปแลนด์ อังกฤษก็ไม่กล้าเข้ามาช่วยเหลือ
หลังจากที่เดนมาร์กพ่ายแพ้ต่อปรัสเซียแล้ว บิสมาร์กจัดแจงให้เดนมาร์กรีบลงนามในสัญญาแห่งกรุงเวียนนา (1864) เพราะกลัวว่ามหาอำนาจอื่นๆ จะจัดคองเกรสปละผลประโยชน์ของเยอรมันจะถูกแบ่งปันออกไปจนเหลือน้อยลง
ตามสนธิสัญญากษัตริย์เดนมาร์กต้องยอมมอบรัฐทั้ง 2 ให้แก่ปรัสเซียและออสเตรีย แทนที่รัฐทั้ง 2 จะได้เป็นอิสระอย่างที่ต้องการ แต่กลับจะต้องอยู่ภายใต้ปรัสเซียและออสเตรีย ซึ่งปีต่อมาคือ ปี 1865 ปรัสเซียและออสเตรียได้ทำสัญญายกแคว้นเชเลสวิกให้ปรัสเซีย และแคว้นโฮลสไตน์ให้ออสเตรีย เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ออสเตรียเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะออสเตรียก็ไม่ได้ต้องการโฮสไตน์ที่ได้รับ เพราะโฮสไตน์เป็นรัฐที่อยู่ใกล้ปรัสเซีย แต่ออสเตรียต้องการเชเลสวิกมากกว่า
ในการทำสงครามแย่งชิงบิสมาร์กทำตามนโยบายได้สำเร็จ เพื่อแสดงว่าปรัสเซียมีความเข้มแข็ง มีกองทัพที่มีประสิทธิภาพและสามารถให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติเท่ากับ ว่าปรัสเซียได้ประกาศว่ากองทัพมีความเข้มแข็ง และมีความตั้งใจที่จะนำชาติเยอรมันมารวมกัน
เมื่อได้แคว้นเชเลสวิกและโฮลสไตน์แล้ว สิ่งต่อไปที่บิสมาร์กต้องการทำคือขับไล่ออสเตรียให้ออกไปจากสมาพันธรัฐเยอรมัน
อย่างไรก็ตาม ความวุ่นวายของโฮลสไตน์ที่อยู่ใต้การปกครองของออสเตรียก็ยังไม่หมด เพราะชาวโฮลสไตน์เรียกร้องให้เจ้าชายเฟรเดอริคดยุคแห่งออกัสเตนเบิร์กที่เคย อ้างราชบัลลังก์ให้มาปกครองแคว้นของตัวเอง การเรียกร้องเช่นนี้ของโฮลสไตน์ทำให้ปรัสเซียไม่พอใจเพราะเกรงว่าเชเลสวิกจะ เอาแบบอย่าง บิสมาร์กเลยเห็นว่าในการนี้น่าจะดึงเอาฝรั่งเศสเข้ามาเป็นเครื่องมืออีกทาง หนึ่ง
วิธีการของบิสมาร์กคือ เขาเสนอให้ผลตอบแทนต่อนโปเลียนที่สามของฝรั่งเศส ในกรณีที่ฝรั่งเศสจะต้องวางตัวเป็นกลางในขณะที่เกิดสงครามระหว่างปรัยเซีย และออสเตรีย โดยมอบดินแดนบางส่วนของรัฐปาลาติเนตหรือลักเซมเบิร์ก หรือแม่น้ำไรน์ หรือเบลเยี่ยม หรือสวิสเซอร์แลนด์ ให้กับฝรั่งเศส
นอกจากนี้บิสมาร์กยังหันหน้าไปหาอิตาลี โดยบิสมาร์กเสนอให้อิตาลีช่วยปรัสเซียทำสงคราม ถ้าปรัสเซียชนะอิตาลีจะได้แค้นเวนีเซียซึ่งถูกนำไปรวมกับออสเตรียในช่วง Congress of Vienna คืนมาจากออสเตรีย
เมื่อบิสมาร์กเห็นว่าปรัสเซียพร้อมรบแล้วด้วยกำลังทางทหารที่พร้อมมา ตั้งแต่สามารถขออนุมัติรัฐสภาในการตั้งงบประมาณปรับปรุงกองทัพ และพร้อมรบในนแง่ของพันธมิตร และสามารถหาพันธมิตรได้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย ฝรั่งเศส และอิตาลี เขาจึงยั่วออสเตรียให้ทำสงคราม โดยบันทึกเสนอต่อสมาพันธรัฐเยอรมัน ใจความว่า
- รัฐสภาของสมาพันธรัฐเยอรมัน (สภาไดเอ็ต) ควรจะหยุดประกาศยุบตัวเอง
- ยกเลิก รัฐธรรมนูญปี 1815 ที่กำหนดให้จักรพรรดิออสเตรียมีอำนาจสูงสุดในสภา
- ให้เลือกสภาแห่งชาติเพื่อวางระเบียบปกครองเยอรมันขึ้นมาใหม่
- และการเลือกสภาแห่งชาติใหม่นี้ ไม่ให้ออสเตรียเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
บันทึกดังกล่าวที่บิสมาร์กเสนอต่อสภาไดเอ็ต ทำให้ออสเตรียไม่พอใจ เพราะเป็นการท้าทายต่ออำนาจของออสเตรียที่เคยมีในสมาพันธรัฐเยอรมัน และออสเตรียได้เรียกร้องให้รัฐสภามาประชุมกันที่เมืองแฟรงก์เฟิรต์ และระดมกองกำลังปราบปรัสเซีย บิสมาร์กสบโอกาสจึงประกาศการรบ แล้วรบโอบจากแม่น้ำเอลบา ถึงแม่น้ำนีส จะกระทั่งยึดเมือง Langendsalza และเมืองโคนิกกรัตช์ แต่ไม่รบไปถึงเวียนนา ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ออสเตรียคิดแค้นใจต่อปรัสเซียในภายภาคหน้า และบิสมาร์กเกรงว่าหากเยอรมันทำเกินไปนโปเลียนที่ 3 อาจจะเข้ามาแทรกแซงได้ นี่เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้บิสมาร์กประสบความสำเร็จคือ เขาต้องการเพียงแค่การรวมชาติเยอรมัน ไม่ได้รวมไปถึงการครองโลกทั้งหมด และเขาคำนึงถึงดุลแห่งอำนาจเสมอ ในการวางแต่ละหมากเพื่อรวมชาติเยอรมัน เมื่อปรัสเซียทำสงครามกับออสเตรียเสร็จแล้ว ปรัสเซียจึงรีบทำสัญญากับออสเตรีย เป็นสนธิสัญญาปราก ในความว่า
1. ให้ยุบสมาพันธรัฐเยอรมัน
2. ออสเตรียจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องในกิจการของเยอรมันอีกต่อไป
3. ปรัสเซียครอบครองรัฐเชเลสิวกและโฮลสไตน์ โดยมีเงื่อนไขว่าเลสวิกเข้าไปรวมกับเดนมาร์กได้หากประชาชนต้องการ ออสเตรียเสียเพียงเวนีเซีย ซึ่งต้องยกให้อิตาลี และเสียค่าประติมากรรมสงครามอีกเล็กน้อย
ผลของสนธิสัญญาปราก
1. ปรัสเซียสามารถขับไล่ออสเตรียออกจากเยอรมันได้ และได้จัดตั้ง North Geramanic Confederation ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการรวมเยอรมัน
2.  จักรวรรดิออสเตรียเกิดความอ่อนแอลงหลังจากสงครามครั้งนี้ ฮังการีต้องการสิทธิในการปกครองตนเอง จักรพรรดิ์ฟรานซิส โจเซฟ แห่งออสเตรียจึงทำความตกลงยกฐานะฮังการีให้เท่าราชอาณาจักรออสเตรีย ตั้งจักรวรรดิใหม่ชื่ออาณาจักร ออสเตรีย-ฮังการี โดยมีกษัตริย์องค์เดียวกันมีการต่างประเทศ การเงิน การทหารเดียวกัน แต่ทั้งสองมีรัฐสภาและข้าราชการเป็ยของตัวเอง
เมื่อสงครามนี้แล้ว จักรพรรดิ์นโปเลียนที่ 3 ทวงถามบิสมาร์กเพราะเกิดความไม่มั่นใจว่า ปรัสเซียจะเข้มแข็งเกินไป จึงได้ส่งทูตไปทวงถามว่าฝรั่งเศสจะขยายอาณาเขตไปถึงลุ่มน้ำไรน์จะได้ไหม หมากตัวต่อไปที่บิสมาร์กจะจัดการก็คือ การจัดการกับฝรั่งเศส แล้วรวมเยอรมันให้เป็นหนึ่งเดียว
ในการทวงถามของนโปเลียนนี้ บิสมาร์กฉลาดพอที่จะให้ทูตเสนอข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร พอได้มาก็พิมพ์ลงหนังสือพิมพ์เพื่อประจานความโลภของนโปเลียนที่ 3 และถือโอกาสชี้แจงให้รัฐเยอรมันต่างๆ ทางใต้เห็นความจำเป็นที่จะเป็นพันธมิตรกับปรัสเซีย (เพราะตอนนี้รวมรัฐเยอรมันทางเหนือได้แล้ว) หากไม่เช่นนั้นจะถูกพระเจ้านโปเลียนที่ 3 เข้ายึดครองเมื่อไหร่ก็ได้
ถึงแม้ว่าฝรั่งเศสจะถูกตลบหลังด้วยการประจานความโลภในความต้องการขยายดิน แดนไปถึงลุ่มน้ำไรน์ ฝรั่งเศสก็ยังไม่เข็ดหลาบกับความเจ้าเล่ห์ของบิสมาร์ก และได้ถามบิสมาร์กกลับไปอีกครั้งว่า ไม่เช่นนั้นจะขอเบลเยี่ยมได้หรือไม่ บิสมาร์กก็ใช้มุขเดิม คือ ให้ฝรั่งเศสทำเป็นลายลักษณ์อักษรอีก แต่บิสมาร์กได้เก็บไว้ก่อน จึงได้นำมาประจานในปี 1870 เมื่อเกิดสงครามระหว่างปรัสเซียกับฝรั่งเศส เพื่อแสดงให้เห็นว่านโปเลียนที่ 3 โลภและไม่ยอมรับในเอกราชและความเป็นกลางของเบลเยี่ยม ในการประจานครั้งที่ทำให้อังกฤษเห็นธาตุแท้ของฝรั่งเศสขึ้นมา และไม่พอใจฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก จึงไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือฝรั่งเศสในสงครามคราวนี้
สงครามปรัสเซีย-ฝรั่งเศส (1870)
สงครามปรัสเซีย-ฝรั่งเศส 1870 เป็นสงครามครั้งสำคัญที่ทำให้ฝรั่งเศสผูกใจเจ็บกับรัสเซีย โดยหลังจากที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อปรัสเซียในครั้งนี้ ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญาแวร์ซายด์เพื่อกดขี่เยอรมันอย่างมาก ในการวิเคราะห์ต้นเหตุของสงครามในครั้งนี้ เราพอสรุปได้ดังนี้
1. นโยบายของนโปเลียนที่ 3 ในการที่จะรักษาดุลอำนาจระหว่างประเทศไว้อย่างเดิมนั้น ขัดกับนโยบายของบิสมาร์ก ในการที่จะรวมเยอรมันเป็นหนึ่งเดียวกัน
2. บิสมาร์กและนายพลมอลท์เก้มองว่า สงครามเท่านั้นที่จะทำให้ชาวเยอรมันในรัฐต่างๆ เกิดความสามัคคีกลมเกลียวกัน
3. ปัญหาการสืบราชบัลลังก์สเปน คือพระนางเจ้าอลิซาเบลลาที่ 2 แห่งสเปนครองราชย์ในปี 1839 ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนเนื่องจากความประพฤติส่วนตัวและกระแสเสรีนิยม จนกระทั่งในปี 1868 ได้เกิดการปฏิวัติในสเปน และได้มีความพยายามที่จะเชิญเจ้าชายจากต่างประเทศมาปกครองสเปน โดยเจ้าชายองค์แรกอยู่ในรายชื่อของผู้ที่ควรได้รับเชิญคือ เจ้าชายเลโอโปลด์ ซึ่งเป็นญาติของพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 1 แห่งปรัสเซีย
ฝรั่งเศสได้ทำการประท้วงเพราะกลัวว่าสเปนจะสนิทกับปรัสเซียมากเกินไปหาก เลโอโปลด์ซึ่งเป็นพระญาติของไกเซอร์วิลเลี่ยมที่ 1 จะได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสเปน นโปเลียนที่ 3 จึงได้ส่งทูตไปให้     วิลเลี่ยมที่ 1 เพื่อขอให้พระองค์รับรองว่าจะไม่ให้เลโอโปลด์ขึ้นครองราชย์เด็ดชาด พอดีบิสมาร์กได้เห็นโทรเลขที่วิลเลี่ยมส่งถึงฝรั่งเศส จึงตั้งใจล่อให้ฝรั่งเศสโกรธเคือง โดยการแก้ไขในโทรเลขว่า วิลเลี่ยมที่ 1 ไม่ยอมให้เบเนดตตีเข้าเฝ้า เพราะว่าทูตฝรั่งเศสจะพยายามข่มเหงน้ำพระทัยของพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 1 เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ชาวเยอรมันและชาวฝรั่งเศสโกรธเคืองกันและต้องทำ สงครามกัน
สงครามได้เริ่มขึ้น แต่ทหารรัสเซียเป็นทหารที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีกว่า เตรียมพร้อมที่จะรบกับฝรั่งเศสและรู้ภูมิประเทศของฝรั่งเศสไว้ก่อนแล้ว ในตอนที่ฝรั่งเศสกำลังพ่ายแพ้แก่ปรัสเซียนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในฝรั่งเศสให้เป็นระบบสาธารณรัฐอีกครั้ง หนึ่ง เนื่องจากพระนางอูเชนีพระมเหสีของหลุยส์ นโปเลียนที่ 3 ได้หนีออกจากประเทศไป ในที่สุดฝรั่งเศสก็แพ้ และได้เปิดการเจรจากับบิสมาร์ก โดยมีจูลส์ ฟาเวร์ รองประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้เดินทางไปพบบิสมาร์กที่แวร์ซายส์ ในวันที่ 8 มกราคม 1871 โดยบิสมาร์กได้รออยู่แล้ว ณ ห้องนี้เองที่บิสมาร์กได้ประกาศรวมจักรวรรดิ์เยอรมนีที่ห้องกระจกพระราชวัง แวร์ซายด์ และได้ถวายตำแหน่งจักรพรรดิเยอรมันให้แก่จักรพรรดิวิลเลี่ยมที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจะต้องให้แคว้นอัลซาสและลอร์เรนบางส่วนแก่เยอรมัน และต้องเสียค่าปรับสงคราม 200 ล้านปอนด์ให้แก่เยอรมัน
หลังการรวมชาติเยอรมัน
                ภายหลังจากการวมชาติเยอรมันในปี 1871 นโยบายต่างประเทศของบิสมาร์กก็มีลักษณะที่กีดกันไม่ให้ฝรั่งเศสมีพันธมิตร ได้ เนื่องจากบิสมาร์กต้องการรักษาความเข้มแข็งของรัฐเกิดใหม่อย่างเยอรมันเอา ไว้นั่นเอง บิสมาร์กพยายามจัดความร่วมมือที่เรียกว่า สันนิบาตของจักรพรรดิ 3 พระองค์ คือ ไกเซอร์ วิลเลี่ยมที่ 1 แห่งเยอรมัน, ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย และฟรานซิส โจเซฟ แห่งออสเตรีย โดยให้เป็นที่ที่ประชุมสำหรับผู้นำเมื่อยามที่มีปัญหาบาดหมางหรือข้อพิพาท ระหว่างกัน แต่มีเหตุผลลึกๆ ที่ซ่อนอยู่ด้วย นั่นก็คือเพื่อเป็นการกีดกันไม่ให้มหาอำนาจทั้ง 3 เป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสนั่นเอง
ข้อพิพาทแรกที่เข้ามาถึงสันนิบาต 3 จักรพรรดิคือ ความขัดแย้งของแค้วนบอสเนียและเฮเซอโกนีวา ที่มีคนส่วนใหญ่เป็นชาวสลาฟ ต่อความพยายามที่จะต้องการปลดแอกตัวเองออกมาจากออตโตมัน อย่างไรก็ตามสุลต่านออตโตมันได้ปราบปรามพวกสลาฟอย่างรุนแรง ซึ่งในการนี้อังกฤษได้พยายามเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย เนื่องจากว่าหากรัสเซียซึ่งมีคนส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายสลาฟ อาจจะอ้างการที่ตุรกีกดขี่พวกสลาฟในการเข้ามาขยายอิทธิพลในเขตทะเลดำอีก ครั้งหนึ่ง ในการประชุม 3 จักรพรรดินี้ จึงได้เกิดข้อตกลงเบอร์ลิน หรือ Berlin Memorandum เพื่อเป็นหลักการในการปกครองแคว้นทั้งสอง
ในขั้นแรก ออตโตมันรับว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลง Berlin Memorandum นี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วปรากฎว่าออตโตมันไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้ ยังคงดำเนินการปราบปรามอย่างเด็ดขาดและรุนแรง รัสเซียจึงยกมาเป็นข้ออ้างในการบุกโจมตีออตโตมัน ออตโตมันจึงรีบขอความช่วยเหลือไปยังอังกฤษ รัสเซียรู้ดีว่าหากอังกฤษเข้ามาแทรกแซง เรื่องจะไม่จบง่ายๆ หรืออังกฤษอาจจะมาแบ่งผลประโยชน์ไปด้วย รัสเซียจึงรีบรวบรัดทำสนธิสัญญาสเตฟาโน หรือ Treaty of Stefano (1878) แต่เนื้อหาของสนธิสัญญานี้เข้าข้างรัสเซียจนเกินไป มหาอำนาจต่างๆ จึงต่อต้านอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ
ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามทำสนธิสัญญาใหม่คือสนธิสัญญาเบอร์ลิน หรือ Treaty of Berlin ทั้งนี้เพื่อเป็นการเอาใจอังกฤษ และพยายามรักษาดุลอำนาจในยุโรปไม่ให้เอียงไปทางรัสเซียมากจนเกินไป แต่ในการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ออกมานี้ทำให้ผลประโยชน์ที่รัวเซียควรจะได้ใน สนธิสัญญาสเตฟาโนลดลงอย่างมาก รัสเซียจึงไม่ค่อยพอใจบิสมาร์กและเยอรมัน เพราะเห็นว่าเจ้ากี้เจ้าการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ออกมา
ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่าสันนิบาต 3 จักรพรรดินี้ไม่ค่อยจะแน่นแฟ้นเท่าใดหลังจากมีสนธิสัญญาสเตฟานโนออกมา นอกจานี้รัสเซียยังไม่ค่อยจะพอใจอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีอีกด้วย เนื่องจากออสเตรีย-ฮังการี ชอบสนับสนุนตุรกี และยังพยายามจ้องจะฮุบประเทศเซอร์เบียไว้ในครอบครองอีก
อย่างไรก็ตาม ชะตาชีวิตของบิสมาร์กเสนาบดีกระดูเหล็กก็เจริญรุ่งเรืองเพียงรัชสมัยของพระ เจ้าไกเซอร์วิลเลี่ยมที่ 1 เท่านั้น ในรัชสมัยของหลานของพระองค์ คือ พระเจ้าไกเซอร์วิลเลี่ยมที่ 2 ปรากฎว่ามีความขัดแย้งกันระหว่างนโยบายของบิสมาร์กกับไกเซอร์วิลเลี่ยมที่ 2 คือ บิสมาร์กต้องการที่จะรวมชาติเยอรมันให้ได้ และให้เข้มแข็งเท่านั้น ส่วนไกเซอร์วิลเลี่ยมที่ 2 ต้องการไปไกลกว่านั้น คือพระองค์ต้องการให้ชาติเยอรมันกลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และเป็นมหา อำนาจอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งความตั้งใจของพระองค์นี้ขัดกับหลักการดุลแห่งอำนาจที่บิสมาร์กพยายามใช้ อยู่ตลอดเวลา ความขัดแย้งอย่างรุนแรงใน 2 อุดมการณ์นี้ทำให้บิสมาร์กไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ ในที่สุดบิสมาร์กได้ถูกปลดออกจากตำแหน่งอันสำคัญและมีอิทธิผลยิ่งในปี 1890




บทที่ 6 สงครามโลก

บทที่ สงครามโลก
(World Wars)
ต้นกำเนิด
                หลังจากสงคราม Franco-Prussian War จบสิ้นลง ฝรั่งเศสที่แพ้สงครามอย่างยับเยินในคราวนั้นก็ผูกใจเจ็บกับเยอรมันเรื่อยมา นอกจากนั้นนโยบายต่างประเทศของบิสมาร์กที่พยายามกีดกันไม่ให้ฝรั่งเศสมี พันธมิตรก็ยิ่งตอกย้ำรอยแผลเก่าของฝรั่งเศสมากขึ้นไปอีก
ก่อนที่จะไปถึงสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1 อยากจะชอวกกลับไปเล่าให้ฟังถึงสภาพการณ์ของโลกและของยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 19 นั้นอีกครั้งเสียก่อน คือ หลังจากที่ประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันต่อสู้พระเจ้านโปเลียน และได้จัดตั้งระบบรัฐชาติที่เรียกว่า Concert of Europe แล้ว ประเทศมหาอำนาจต่างๆ เมื่อจัดการกับความวุ่นวายในทวีปได้ในระดับหนึ่งแล้วจึงหันไปหาอาณาจักรอีก ครั้งภายนอกทวีป การหาอาณานิคมของยุโรปนี้เคยหยุดยั้งไปพักหนึ่ง ในช่วงสงครามนโปเลียน พอสงครามนโปเลียนหยุดลง ยุโรปจึงออกไปหาอาณานิคมเพื่อหาวัตถุดิบและตลาดให้กับการอุตสาหกรรมของชาติ ตนอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ดีการแสวงหาอาณานิคมครั้งที่ 2 นี้มีลักษณะที่แตกต่างไปจากครั้งแรกคือ ในครั้งแรกที่เรียกว่าอาณานิคมหรือ Colonialism นั้น มีลักษณะเพียงการแสวงหาดินแดนภายนอกประเทศ เพื่อกอบโกยทรัพยากรที่มีค่า อาทิ ทองคำ เงิน ดีบุก เครื่องเทศ เข้าสู่เมืองแม่เท่านั้น ในขณะครั้งที่ 2 ของการแสวงหาเมืองขึ้นนี้ เป็นไปในลักษณะจักรวรรดินิยมหรือ Imperialism คือเป็นการแสวงหาอาณานิคมในช่วงที่ประเทศยุโรปทั้งหลายต่างมีความพร้อมในการ พัฒนาอุตสาหกรรมในระดับที่เหนือชั้นกว่าในช่วงแรกมาก การแสวงหาผลประโยชน์นอกดินแดนจึงเหนือชั้นตามไปด้วยโดยลักษณะการแสวงหาผล ประโยชน์นั้น ทำไปโดยการตั้งหน่วยปกครองภายในประเทศเมืองขึ้น เพื่อการขูดรีดอย่างมีประสิทธิภาพสู่เมืองแม่ โดยอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการล่าจักรวรรดินิยมนี้คือลัทธิทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่าว่า  Mercantilism หรือลัทธิพาณิชย์นิยมนั่นเอง
การแสวงหาเมืองขึ้นในลักษณะจักรวรรดินิยมนี้เองทำให้ชาติมหาอำนาจในยุโรป หลายๆ ชาติต่างเกิดความกระทบกระทั่งกันบ้างในบางกรณี ยกตัวอย่างเช่นการแสวงหาเมืองขึ้นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ แถวๆ บ้านเรานี้ ประเทศไทยเรายังได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษอย่างยิ่ง จริงๆ คือเป็นประเทศที่เรียกว่า Buffer State หรือประเทศกันชน โดยที่อังกฤษและฝรั่งเศสตกลงกันไว้ไม่ให้ใครได้ครอบครอง เพื่อไม่ให้การเผชิญหน้าระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสรุนแรงเกินไปนั่นเอง นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าการแย่งชิงจักรวรรดินิยมในช่วงศตวรรษที่ 19 นั้น รุนแรงเหลือเกินจริงๆ จนกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดความกระทบกระทั่งและไม่ชอบขี้ หน้าระหว่างกันระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยอรมันพยายามขยายกิ่งก้านสาขาของจักรวรรดินิยมออกไปนอกยุโรปบ้าง ซึ่งก็ทำได้ดีพอใช้ทีเดียว เช่น ในแถบแอฟริกาตะวันตกนั้น การรุกคืบแย่งชิงจักรวรรดินิยมโดยเยอรมันทำได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็วจน เป็นที่จับตาของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ
จุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1
                จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่า มีความกระทบกระทั่งกันระหว่างประเทศมหาอำนาจในการแสวงหาจักรวรรดินิยมภายนอก ทวีป เป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญและเป็นต้นกำเนิดหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าความเละเทะในยุโรปเอง ที่เป็นตัวการอีกประการหนึ่งให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 หากไม่เข้าใจขอให้ย้อนกลับไปดูสภาพของยุโรปในช่วง Concert of Europe อีกครั้ง จะเห็นได้ว่าการที่ Concert of Europe ได้พยายามเขียนแผนที่ยุโรปขึ้นมาตามใจพวกมหาอำนาจนี้ ได้บีบบังคับให้เชื้อชาติบางเชื้อชาติต้องถูกปกครองโดยคนต่างเชื้อชาติ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการกบฏขึ้นหลายต่อหลายครั้งในอาณาจักรออตโตมันและ อาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีนอกจากนั้น ความพยายามในการแสวงหาดุลแห่งอำนาจโดยการสกัดกั้นไม่ให้ฝรั่งเศสเข้มแข็ง เกินไป ได้เปิดโอกาสให้เยอรมันก้าวเข้ามาเป็น 1 ในมหาอำนาจใหม่ของโลก
สำหรับชนวนที่ทำให้ความบาดหมางระหว่างประเทศมหาอำนาจต้องปะทุกลายเป็น สงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น เนื่องมาจาก ปัญหาชาตินิยมภายในอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี นั่นเอง คือ อาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ และ 1 ในบรรดาเชื้อชาติต่างๆ นั่นคือสลาฟ ที่เป็นชนชาติส่วนใหญ่ของสหภาพโซเวียต การปราบปรามชาวสลาฟอย่างโหดเหี้ยมของออสเตรีย-ฮังการี จึงเป็นสิ่งที่ทำให้รัสเซียเห็นหน้าออสเตรีย-ฮังการีอย่างรุนแรง
ความเหม็นหน้ากันระหว่างรัสเซียกับออสเตรีย-ฮังการีอาจจะไม่ปะทุกลายเป็น สงครามระหว่างประเทศก็ได้ หากเยอรมันหากไม่ร่วมเหม็นด้วยอีกแรงหนึ่ง เยอรมันอาจจะเป็นเจ้าโลกอยู่แล้ว ด้วยความปรารถนาของพระเจ้าไกเซอร์วิลเลี่ยมที่ 2 ด้วยเหตุนี้เยอรมันจึงร่วมหอลงโลงกับรัสเซียเมื่อรัสเซียประกาศสงครามกับ ออสเตรีย
อังกฤษก็มีส่วนไม่ใช่น้อย ในการร่วมก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 คืออังกฤษเฉยเมยเกินไป สำหรับความขัดแย้งในภาคพื้นทวีป อังกฤษเองมัวแต่วุ่นวายกับอาณานิคมตัวเองในเอเชีย และเพิ่งจะมาร้อนตัวเมื่อเยอรมันละเมิดความเป็นกลางของของเบลเยี่ยม ซึ่งอังกฤษหวงนักหวงหนามาตั้งแต่สมัยสงครามนโปเลียน อังกฤษกลัวว่า หากเบลเยี่ยมถูกยึดครองมันจะเป็นประตูให้ชาติอื่นเข้ามารุกรานอังกฤษได้ง่าย ขึ้น แต่กว่าอังกฤษจะลุกขึ้นมาเต้นก็เกือบจะสายเกินไป สงครามได้รุกลามจึงกลายเป็นสงครามโลก ยากที่จะสงบได้ หากไม่มีฝ่ายใดพ่ายแพ้อย่างยับเยินเสียก่อน
ลำดับเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
                คงจำได้ว่า หลังจากรวมประเทศเยอรมันได้แล้ว บิสมาร์กได้พยายามจำกัดไม่ให้ฝรั่งเศสมีพันธมิตรโดยการรวมออสเตรีย-ฮังการี, รัสเซีย และเยอรมัน เป็นพันธมิตร แต่หลังจากสงครามตุรกี-รัสเซีย แล้ว เริ่มทำให้รัสเซียถอยห่างออกจากสันนิบาต 3 จักรพรรดิของบิสมาร์ก
ลองมาดูอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งมีปัญหาชาตินิยมภายในประเทศมากเพราะอาณาจักรออสเตรียฮังการีประกอบไป ด้วยชนเผ่าหลากหลายไม่ว่าจะเป็นแม็กย่าร์ ออสเตรีย และสลาฟ และออสเตรีย-ฮังการี ไม่ได้ปกครองชนเผ่าต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันเท่าใดนัก ชนเผ่าต่างๆ ก็ต้องการแยกตัวออกมาปกครองตัวเอง ซึ่งออสเตรีย-ฮังการีตอบแทนด้วยการโจมตีอย่างรุนแรงทุกครั้งที่มีการกบฏ
มีเจ้าชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นรัชทายาทแห่งออสเตรีย-ฮังการี ชื่อมงกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานห์ มีนโยบายที่ต้องการให้สลาฟมีส่วนในการปกครองออสเตรเลีย-ฮังการีด้วย ทั้งนี้เพื่อคงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีไว้เหมือนเดิม แต่นโยบายดังกล่าวขัดกับความต้องการของพวกสลาฟ เพราะว่าอยากจะแยกประเทศไปปกครองตัวเอง หรือไม่ก็ไปรวมกับเซอร์เบียซึ่งมีชนชาติเดียวกัน พวกสลาฟไม่ได้อยากอยู่ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีนี้เลย
เหตุการณ์สำคัญอันเป็นชนวนของสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1914 โดยรัชทายาทแห่งออสเตรีย-ฮังการีคือเจ้าชายเฟอร์ดินานห์และพระชายา พระนางโซฟี ได้เดินทางไปที่เมืองซาราเจโวเมืองหลวงของบอสเนีย และได้ถูกเซอร์เบียนหัวรุนแรงคนหนึ่งลอบยิง ตายคาที่พร้อมพระชายา
การตายของเจ้าชายเฟอร์ดินานห์กระเทือนต่อสันติภาพของโลกอย่างมากเกินกว่า ที่จะคาดเดาได้ เพราะการที่ฆาตกรเป็นชาวเซอร์เบียนทำให้ออสเตรียตอบโต้เซอร์เบียอย่างรุนแรง โดยออสเตรียคิดไปไกลถึงขนาดที่ว่า จะทำลายเซอร์เบียให้สิ้นซาก
ก่อนที่ออสเตรียคิดจะทำอะไร ออสเตรียได้ส่งสาส์นลับไปยังเยอรมันเพื่อขอความสนับสนุนก่อนจะลงไม้ลงมือกับ เซอร์เบีย (เหมือนสหรัฐอเมริกาในสมัยนี้ ในการขอความร่วมมือกับมหาอำนาจอีกชาติหนึ่งคืออังกฤษ ก่อนที่จะรุมกินโต๊ะอาฟกานิสถาน) โดยเยอรมันยินดีที่จะช่วยเหลือออสเตรียถึงแม้จะรู้ว่าการช่วยเหลือออสเตรีย จะยั่วรัสเซียให้โมโหแต่พวกเยอรมันเตรียมคิดจะสู้กับรัสเซียอยู่แล้วจึงเข้า ล็อคกับแผนการสงครามกับเยอรมันพอดี ตัวเยอรมันเองเคยคิดแม้กระทั่งแผนสงครามโลกที่จะจัดการกับฝรั่งเศสและรัส เซียด้วยกันในคราวเดียวเพื่อที่เยอรมันจะยิ่งใหญ่กว่านี้
ส่วนทางออสเตรียเมื่อได้พันธมิตรแล้วจึงยื่นคำขาดกับเซอร์เบียให้เลิก วิธีการทุกอย่างที่บ่อนทำลายออสเตรีย เช่น การปลุกระดมให้เกลียดชังออสเตรีย แต่ข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่ให้เซอร์เบียยอมให้ออสเตรียส่งตัวแทนเข้าพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นที่ ซาราเจโว ซึ่งข้อเรียกร้องอันนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ละเมิดสิทธิอำนาจทางการศาล ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่เสียมารยาทค่อนข้างที่สุด ซึ่งแน่นอนที่เซอร์เบียจะไม่ยอม ซึ่งตรงตามแผนของออสเตรียที่กะจะโจมตีเซอร์เบียพอดี
ผลก็คือ ตรงตามแผนการของออสเตรียที่ว่า เซอร์เบียยอมรับว่าจะเลิกการปลุกระดม แต่ไม่ยอมให้ออสเตรียส่งตัวแทนเข้าพิจารณาคดี ด้วยเหตุนี้ ออสเตรียจึงประกาศสงครามกับเซอร์เบียในทันที

ในการสงครามครั้งนี้ เซอร์เบียเป็นฝ่ายเสียเปรียบในช่วงแรกถึงขนาดยกธงขาวยอมแพ้ แต่ออสเตรียก็ยังไม่ลดละ บุกเข้าไปถึงเมืองหลวงของเซอร์เบียกะว่าจะถอนรากถอนโคนกันเลย เรื่องนี้จึงร้อนถึงรัสเซีย รัสเซียจึงประกาศระดมกองทัพทั้งๆ ที่จริงแล้วประชาชนของชาวรัสเซียไม่อยากจะรบด้วยเลย
กษัตริย์ของรัสเซียตอนนั้นคือ ซาร์ นิโคลัสที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์คนสุดท้ายของรัสเซียด้วย คิดว่าสงครามคราวนี้คงจะจบสิ้นในเร็ววัน แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น สงครามขยายตัวขึ้นเมื่อเยอรมันประกาศสงครามกับรัสเซีย เพราะรัสเซียเข้าร่วมต่อต้านออสเตรียซึ่งเป็นพันธมิตรของเยอรมัน
แต่รัสเซียร่วมทำสงครามได้ 3 ปี ก็ถอนตัวจากสงครามเนื่องจากรัสเซียเองเกิดความวุ่นวายทางการเมืองภายใน โดยในปี 1917 พรรคบอลเชวิคได้ปฏิวัติรัสเซียได้เป็นผลสำเร็จ เกิดเป็นประเทศสหภาพโซเวียตปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์
การร่วมเข้าสงครามของอังกฤษ
                จากที่ได้กล่าวมาว่า อังกฤษเข้าร่วมสงครามสายเกินไปเนื่องจากอังกฤษมีความลำบากใจในการทำสงคราม เพราะอังกฤษปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย การประกาศสงครามไม่ได้ทำกันง่ายๆ เหมือนประเทศออสเตรียหรือเยอรมันแต่ต้องมีการผ่านรัฐสภา ซึ่งค่อนข้างจะยุ่งยากพอสมควร อังกฤษตอนนั้นก็วุ่นวายอยู่กับการจัดสรรผลประโยชน์ในดินแดนจักรวรรดินิยม และนอกจากนี้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาคพื้นทวีปยุโรป ยังไม่ได้กระเทือนต่อผลประโยชน์ต่ออังกฤษโดยตรง
เราจึงเห็นว่าช่วงแรกของสงคราม อังกฤษพยายามอยู่เฉยๆ ไว้ แต่พอเยอรมันละเมิดความเป็นกลางของเบลเยี่ยม อังกฤษจึงร้อนอาสน์ขึ้นมาทันที เพราอังกฤษต้องการรักษาความเป็นกลางของเบลเยี่ยม เนื่องจากไม่ต้องการให้เยอรมันอยู่ใกล้อังกฤษมากเกินไป ทั้งนี้หากเยอรมันไม่บุกเบลเยี่ยม อังกฤษจะไม่ประกาศสงครามกับเยอรมัน โดยอ้างว่า เยอรมันละเมิดความเป็นกลางของเบลเยี่ยม ตามสนธิสัญญาปี 1839 ด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงกระโดดร่มร่วมสงครามด้วยอีกคน
ในตอนนั้น สงครามโลกครั้งที่ 1 จึงแบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ สัมพันธมิตร คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย (ออกจากสงครามในปี 1917) และอิตาลี และฝ่ายมหาอำนาจกลาง ได้แก่ เยอรมัน และออสเตรีย-ฮังการี
การเข้าร่วมสงครามของสหรัฐอเมริกา
                ตอนแรกสหรัฐอเมริกาก็เหมือนกันอังกฤษ ไม่ได้อยากจะเข้ามาร่วมในสงครามของยุโรปสักเท่าใด สหรัฐอเมริกายึดถือตามลัทธิมอนโร (Monroe Doctrine) ที่ว่าสหรัฐอเมริกาควรจะรักษาความโดดเดี่ยว (Isolation) ไม่ต้องไปยุ่งกับประเทศใดๆ ในยุโรป แต่เหตุการณ์ที่ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องตัดสินใจเข้าร่วมสงครามก็คือ การที่เยอรมันจมเรือสินค้าของสหรัฐอเมริกา ทำให้ประชาชนชาวสหรัฐอเมริกาโกรธเยอรมันมาก และสนับสนุนสหรัฐอเมริกาที่จะทำสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่กับสัมพันธมิตรในการ กำจัดมหาอำนาจกลาง
อวสานของสงครามโลกครั้งที่ 1
                ในช่วงแรกๆ ของสงคราม เยอรมันซึ่งเตรียมตัวมาอย่างดี ทั้งทางเศรษฐกิจและทางการทหาร เป็นต่อ โหมบุกประเทศต่างๆ ไปเรื่อยๆ ในขณะที่ออสเตรีย-ฮังการีเริ่มหมดแรง อันเนื่องมาจากปัญหาภายในคือเกิดการประกาศเอกราชของชนชาติต่างๆ ในช่วงหลังสงครามจึงกลายเป็นว่า เยอรมันสู้อยู่คนเดียว
ในช่วงประมาณกลางปี 1917 สหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามาช่วยสัมพันธมิตร ซึ่งพอสหรัฐอเมริกาเข้ามาร่วมรบ เยอรมันเริ่มจะถอยลงไปเล็กน้อยการที่เยอรมันเลยสู้คนเดียว สู้อยู่หลายทิศทาง ผนวกกับมีกบฏภายในประเทศด้วย ทำให้เยอรมันกำลังจะแพ้ เลยรีบส่งหนังสือไปหา วูดโรว์ วิลสัน เพื่อขอสงบศึก ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงทำสนธิสัญญาสงบศึกกับเยอรมัน สหรัฐอเมริกาเนอข้อตกลง 14 ข้อ (Fourteen points) เพื่อเป็นหลักประกันของสันติภาพ และกลายเป็นว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมัน และประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมสงครามก็สะบักสะบอมไม่ผิดกัน
ช่วง 20 ปีระหว่างสงครามโลก
                ก่อนที่เราจะไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 อยากจะให้เอาใจใส่กับเหตุการณ์ระหว่างสงครามโลก คือช่วงระหว่างปี 1919-1939 ช่วงเหตุการณ์นี้เป็นช่วงที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยมีประเด็นที่สำคัญที่เราต้องศึกษาดังนี้
1. สภาพเหตุการณ์ของอิตาลี เยอรมันอันเป็นประเทศคู่หูต้นกำเนิดสงครามโลกครั้งที่ 2
2. การประชุมผู้นำก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สนธิสัญญาแวร์ซายด์ และสันนิบาตชาติ
3. ลัทธินาซี และฟาสซิสต์
4. วิกฤติการณ์ของโลกก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
1. สภาพสังคมของอิตาลี
ถึงแม้ว่าประเทศอิตาลีจะเป็นประเทศที่ชนะสงคราม แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อิตาลีได้ส่วนแบ่งจากสงครามน้อยกว่าที่คิด นอกจากนี้ภายในประเทศอิตาลีเองยังเกิดความวุ่นวาย อันเป็นผลมาจากลิทธิสังคมนิยม และอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์อันได้มาจากการปฏิวัติของสหภาพโซเวียต
ในช่วงนี้เองที่พรรคฟาสซิสต์ก้าวขึ้นมาสู่อำนาจ ทั้งนี้โดยอาศัยช่องว่างที่สังคมกำลังเบื่อหน่ายสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ความวุ่นวาย และความไร้สมรรถภาพในการบริหารประเทศ
มุสโสลินีและฟาสซิสต์
เบื้องหลังของมุสโสลินีเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งที่เคย เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างรุนแรง มุสโสลินีตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการเมืองอย่างเต็มตัวในปี 1919 และตั้งพรรคฟาสซิสต์อย่างเป็นทางการในปี 1921
คำว่า “ฟาสซิสต์” มาจากภาษาโรมันว่า Faces แปลว่า มัดรวมกัน คือการมัดไม้เล็กๆ เป็นด้ามในวิธีการทำขวานโบราณ ซึ่งมีความหมายที่แท้จริงคือ ความสามัคคี
การได้อำนาจเบ็ดเสร็จของมุสโสลินี
ในการเลือกตั้งครั้งแรกของมุสโสลินี พรรคฟาสซิสต์ของเขาไม่ได้มีเสียงมากมายเท่าใดในสภา แต่ความเด็ดขาดและความสามารถของเขาในการจัดการความวุ่นวายทางการเมืองได้ดี แต่มุสโสลินีใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองอิตาลี ทำให้พรรคฝ่ายค้านประท้วงโดยการลาออก แต่ก็ไม่ได้ทำให้มุสโสลินีเกิดความวุ่นวายใจแต่ประการใด มุสโสลินีจึงใช้อำนาจเผด็จการห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกอย่างในอิตาลี ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของฟาสซิสต์อยู่แล้ว สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งของมุสโสลินีคือ เขาไม่ได้ปลดกษัตริย์ออกแต่ประการใด เนื่องจากยังคงต้องการกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งประเทศ
เพื่อที่จะเข้าใจหลักการปกครองของมุสโสลินียิ่งขึ้น ลองมาดูคำขวัญในการปกครองประเทศของมุสโสลินีคือ
- Mussolini ha sempre regione (มุสโสลินีถูกต้องเสมอ)
คำขวัญนี้แสดงให้เห็นว่ามุสโสลินีต้องการยืนยันให้ประชาชนเชื่อตามนโยบาย และแนวทางการบริการประเทศของเขา มุสโสลินีบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ คือทุกอย่างมาจากผู้นำ และสิ่งที่ออกมาจากผู้นำนั้นถูกเสมอ ประชาชนจึงไม่จำเป็นต้องคิดมากอะไรทั้งสิ้น ทำตามที่ผู้นำบอกก็เพียงพอแล้ว
- Believe, Obey, Fight (เชื่อมั่น, เชื่อฟัง, ต่อสู้)
นอกจามุสโสลินีจะถูกเสมอแล้ว ประชาชนยังจะต้องเชื่อมั่นในตัวผู้นำ คล้ายๆ ลัทธิเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยของบ้านเราเหมือนกัน นอกจากเชื่อมั่นแล้วยังต้องเชื่อฟัง และต่อสู้กับสิ่งที่ขัดแย้งต่อคำสั่งของผู้นำอีก การปกครองในลัทธิฟาสซิสต์นี้ ผู้ปกครองจึงพยายามปลุกระดมประชาชนให้พร้อมเสมอเพื่อการต่อสู้กับอะไรก็ตาม ที่ขัดกับผลประโยชน์ของรัฐ
- Everything in the State nothing against the state, nothing outside the state. (ไม่มีอะไรที่จะต้องต่อต้านรัฐ ไม่ว่าจะในหรือนอกรัฐ)
ไม่ว่าจะเป็นขบวนการภายในประเทศที่ขัดต่อฟาสซิสต์ และแรงต่อต้านจากประเทศที่กระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของฟาสซิสต์ คนอิตาลีพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อรักษารัฐเอาไว้
ผลของการปกครองของมุสโสลินี
การปกครองของมุสโสลินีนี้มีประสิทธิภาพมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับคอรัปชั่นในประเทศ ซึ่งในช่วงก่อนหน้าที่มุสโสลินีจะปกครองประเทศนั้น ข้าราชการของอิตาลีนั้นแย่ยิ่งกว่าแถวๆ นี้เสียอีก แต่เมื่อมุสโสลินีปกครองประเทศนั้นปรากฏว่าข้าราชการต่างตั้งใจมาทำงานกัน แต่เช้า เลิกก็เย็น และมีประสิทธิภาพในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้มุสโสลินีนี้ยังเพิ่มความสามัคคีขึ้นในชาติด้วยการจัดการกับ ขบวนการสังคมนิยม ที่เรียกร้องเดินขบวนอยู่เสมอ แทบไม่น่าเชื่อว่าภายหลังที่มุสโสลินีได้เป็นผู้นำประเทศ การเดินขบวนแทบจะหายไปจากอิตาลีเลย
มุสโสลินีให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาเศรษฐกิจ และการส่งเสริมการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ ที่ไม่น่าเชื่อก็ตองเชื่อคือ มุสโสลินีให้การสนับสนุนความสำคัญของศาสนา แต่หลังจากปี 1931 มุสโสลินีก็ขัดแย้งกับศาสนจักรขึ้นมา
ผลการพัฒนาตามแบบฟาสซิสต์
ถึงแม้ว่ามุสโสลินีจะพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 1929 ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาตามแบบฟาสซิสต์ของเขา มุสโสลินีหันไปหาลัทธิจักรวรรดินิยม เขาต้องการขยายจักรวรรดินิยมเพื่อต้องการทรัพยากรมาให้การพัฒนาอุตสาหกรรม ของอิตาลีด้วย ในการแสวงหาอาณานิคมนี้ มีดินแดนเพียงดินแดนเดียวที่ยังไม่เคยตกเป็นอาณานิคม ได้แก่ อบิสซีเนีย เพราะมุสโสลินีหวังว่าจะเจอทองคำในที่ดินแดนแห่งนี้
ฟาสซิสต์ บุกอบิสซีเนียในปี 1935 ในขณะที่องค์การสันนิบาตชาติในขณะนั้นก็ทำอะไรไปได้ไม่มากกว่าการประกาศ Sanction ฟาสซิสต์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การบุกอบิสซีเนียทำให้อังกฤษตีตัวออกห่างจากอิตาลีเพราะเห็นว่าอิตาลีมี พฤติกรรมรุกราน ด้วยเหตุนี้ฟาสซิสต์จึงทำสนธิสัญญาร่วมมือกับฮิตเลอร์ซึ่งเป็นผู้นำเยอรมัน
2. สภาพสังคมของประเทศเยอรมันหลังประกาศสงครามโลกครั้งที่ 1
การแพ้สงครามและภาระในการชำระค่าปฏิกรณ์สงครามของประเทศเยอรมันภายหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เยอรมันบอบช้ำอย่างที่สุด ไหนจะภาวะความกดดันทางเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศที่กดดันและขูดรีดให้เยอรมัน ต้องเสียค่าปฏิกรณ์สงครามจำนวนมหาศาล และถูกประเทศผู้ชนะสงครามยึดครองเหมืองถ่านหินต่างๆ ของตัว เยอรมันอยู่ในสภาพที่ไม่มีปัญญาจะใช้หนี้จำนวนมหาศาล แต่ก็ถูกกดันให้ใช้หนี้อยู่ทุกวี่วัน
ท่ามกลางสภาพแห่งความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ การแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ก็รุกเร้า รุนแรงขึ้นทุกที พอพระเจ้าไกเซอร์ วิเลี่ยมที่ 2 ทรงสละราชสมบัติ การเลือกตั้งครั้งแรกก็ปรากฏว่าพรรคสังคมนิยมได้เป็นเสียงอันดับ 1 แต่พรรคสังคมนิยมก็ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจได้สักที โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาวะเงินเฟ้อ อันเนื่องจากการรีดภาษีจากประชาชนเพื่อเสียค่าปฏิกรณ์สงคราม จำนวน 6,500 ล้านปอนด์ นอกจากนี้ยังถูกแทรกแซงจากฝรั่งเศส เพื่อกอบโกยเงินภาษีของราษฎรอีกด้วยซ้ำ
3. เหตุการณ์สำคัญระหว่างประเทศ ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1-2 
ก่อนที่จะก้าวไปถึงคำถามที่ว่า ทำไมนาซีจึงมีอำนาจขึ้นมาได้ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1-2 นั้น อยากจะขอย้อนกลับไปดูเหตุการณ์สำคัญระหว่างประเทศ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กันก่อน คือ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ก็เป็นธรรมดาที่ประเทศผู้ชนะสงครามจะร่วมประชุมกันเพื่อบีบบังคับให้ประเทศ ที่แพ้สงครามจะต้องยอมทำตามประเทศผู้ชนะสงครามกำหนดเพื่อจะให้ได้สันติภาพ กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง โดยการประชุมเพื่อสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้จัดขึ้นครั้งแรกที่ปารีส โดยเป็นการประชุมโดยผู้นำประเทศพันธมิตรผู้ชนะสงคราม 31 ประเทศ แต่มีผู้นำมหาอำนาจ 4 ประเทศที่เป็นแกนหลักในการประชุม ได้แก่ อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส และประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยในการประชุม ผู้นำฝรั่งเศสคือเครมองโซ เป็นคนที่ชิงชังเยอรมันมาก เนื่องจากฝรั่งเศสได้รับการรุกรานจากเยอรมันในสงคราม Franco-Prussion และพ่ายแพ้อย่างยับเยินในสงครามครั้งนั้น เคลมองโซยึดถือหลัก 3 ประการในการประชุมสันติภาพครั้งนี้คือ

: Restitution (การชดเชยค่าเสียหาย) คือให้เยอรมันชดใช้ค่าเสียหายทางการทหารแก่ฝรั่งเศส
: Reparation (การชดใช้) คือการจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงคราม
: Guarantees (การรับประกัน) การสร้างหลักประกันในการที่เยอรมันจะไม่รุกรานฝรั่งเศสอีก
ส่วนบทบาทของประเทศอังกฤษคือ ความพยายามเป็นทางสายกลาง แต่ค่อนข้างเอียงไปทางฝรั่งเศส เนื่องจากต้องการสนับสนุนจากประชาชนอังกฤษที่ไม่ค่อยชอบเยอรมันในการบุกเบล เยี่ยมอยู่แล้ว
สำหรับอิตาลีต้องการดินแดนที่เคยเป็นของตัวเองกลับมา แต่ความต้องการนี้ของอิตาลีขัดกับหลักการ self-determination (การกำหนดตามใจตัวเอง) ของวิลสัน อิตาลีจึงประท้วงในการประชุมโดยการออกนอกห้องประชุมหลายหน ในการประชุมครั้งนี้ไม่ปรากฏว่าอิตาลีได้ส่วนแบ่งอะไรที่น่าพอใจนัก
สหรัฐอเมริกา พยายามเสนอหลักการ 14 ข้อเข้าในการประชุมเรียกว่า หลักการวิลสัน 14 ข้อ ซึ่งมีหลักการดังนี้
  1. ยกเลิกสัญญาลับต่างๆ ให้ทำสนธิสัญญาต่อกันโดยเปิดเผย และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
  2. ให้ทุกประเทศมีเสรีภาพทางทะเล ในยามสงบและยามสงคราม
  3. ให้ยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าทุกอย่างเท่าที่จะทำได้
  4. ให้ทุกประเทศลดการสะสมอาวุธ ให้อยู่ภายใต้ความจำเป็นที่พอจะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศได้
  5. ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนในเขตอาณานิคม รวมทั้งให้โอกาสให้ประชาชนเหล่านั้นได้รับผลประโยชน์ในทรัพยากรของเขาเท่ากับประเทศเมืองแม่
  6. ถอนทหารออกจากรัสเซีย และเชิญชวนให้รัสเซียเข้าร่วมสันนิบาตชาติ
  7. ให้เบลเยี่ยมเป็นเอกราชและมีอาณาเขตทุกอย่างเท่าเดิม
  8. ถอนทหารและคืนดินแดนให้ฝรั่งเศส และจัดการเกี่ยวกับแคว้น อัสซาสและ ลอร์เรนให้ถูกต้อง
  9. จัดการใหม่กับดินแดนของอิตาลี เพื่อให้ได้ชนชาติเดียวกัน
  10. ให้โอกาสแก่ประชาชนของออสเตรีย-ฮังการี ในโอกาสที่จะปกครองตัวเอง
  11. ให้มีการจัดการอพยพประชากรชาวโรมาเนีย เซอร์เบีย และมอนเตเนโกรขึ้นมาใหม่ และให้เซอร์เบียมีทางออกทางทะเล
  12. ออตโตมันมีสุลต่านปกครองได้เหมือนเดิม แต่เชื้อชาติที่แตกต่างออกไปจะต้องมีสิทธิ์ในการปกครองตัวเอง และตั้งประเทศได้ ส่วนช่องแคบดาดะเนลล์จะต้องเป็นช่องแคบนานาชาติ
  13. ให้โปแลนด์มีเอกราช
  14. ให้มีองค์การระหว่างประเทศ เพื่อเป็นเวทีให้ชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่มีโอกาสปรึกษาหารือกันได้อย่างเสมอภาค

นอกจากนั้น ในสนธิสัญญาแวร์ซายด์ ยังกำหนดให้แคว้นอัสซาสลอร์เรน กลับคืนไปยังฝรั่งเศส เนื่องจากเยอรมันยึดมาเป็นของตนในช่วงสงคราม Franco-Prussian สำหรับในส่วนของอาณาจักรออสเตรีย- ฮังการี ให้แบ่งอาณาจักรที่ใหญ่โตออกเป็นประเทศต่างๆ ดังนี้คือ เชกโกสโลวะเกีย โปแลนด์ ยูโกสลาเวีย โรมาเนีย ออสเตรีย ฮังการี
ประเด็นต่อไปในการตัดกำลังเยอรมันก็คือให้ไรน์แลนด์ (เดิมเป็นของเยอรมัน) เป็นดินแดนรัฐกันชน (Buffer State) คือไม่ให้มีกองกำลังของชาติใดๆ แต่ยังเป็นของเยอรมัน นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังเรียกร้องที่จะควบคุมแค้วนซาร์ (Saar) ที่มีถ่านหินของเยอรมันเป็นเวลา 15 ปี และฝรั่งเศสต้องการให้เหมืองถ่านหินที่อยู่ในไซลีเซียตอนบนและดานซิกเป็นของ โปแลนด์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำให้เยอรมันอ่อนแอ แต่ในที่สุดดานซิกได้เป็นอิสระ ส่วนไซลีเซียได้ลงมติว่าจะอยู่กับเยอรมัน
ความพยายามของชาติสัมพันธมิตรในการกดขี่เยอรมันไม่ได้จำกัดแค่เยอรมันใน ทวีปยุโรปเท่านั้น ยังรวมไปถึงดินแดนภายนอกของเยอรมันได้แก่อาณานิคมต่างๆ ของเยอรมันซึ่งถูกรุมกินโต๊ะโดยผู้ชนะสงครามอีกด้วย เยอรมันถูกคุมกำเนิดกำลังทางการทหาร ไม่มห้มีกองทัพเรือและกองทัพอากาศ กองทัพบกก็เก็บไว้ให้มีขนาดเล็กๆ เพื่อมีไว้ป้องกันตัวเองแต่ไม่สามารถมีกำลังที่จะไปยึด หรือรุกรานใครได้อีก
ผลที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับการประชุมสันนิบาตชาติคราวนี้ก็คือ การตกลงสร้างสันนิบาตชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรุกรานระหว่างประเทศ แต่สันนิบาตชาติไม่ได้ระบุว่า หากมีการรุกรานจะมีมาตรการจัดการอย่างไร และในที่สุดสหรัฐอเมริกาไม่ยอมเข้าร่วมสันนิบาตชาติและประกาศไม่ยอมรับสนธิ สัญญาแวร์ซายด์ ซึ่งเหตุผลที่สหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับสนธิสัญญาแวร์ซายด์นั้น เพราะสนธิสัญญาแวร์ซายด์โหดร้ายและบีบคั้นเยอรมันเกินไป และการที่สหรัฐอเมริกาไม่ต้องการเข้าร่วมสันนิบาตชาติเพราะเป็นการขัดกับลิ ทธิมอนโร (ที่ไม่ต้องการให้ใครเข้ามายุ่งกับทวีปอเมริกา) นอกจากนี้ยังขัดขวางลัทธิโดดเดี่ยว (Isolationist) ของสหรัฐอเมริกาที่รักษามาตั้งแต่ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ประชาชนชาวอเมริกันก็กลัวว่า หากสหรัฐอเมริกาอยู่ภายใต้สันนิบาตชาติ สหรัฐอเมริกาอาจต้องส่งกำลังทหารไปรบนอกอาณาจักร และประการสุดท้ายที่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจไม่เข้าร่วมในสันนิบาตชาติก็คือ ในสันนิบาตชาตินี้อังกฤษมีเสียงโหวตมากกว่าสหรัฐ เนื่องจากมีประเทศในเครือจักรภพ 5 แห่ง จึงมีเสียงโหวต 6 เสียง ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีอยู่เสียงเดียวเท่านั้น
หลังจากที่ชาติมหาอำนาจผู้ชนะสงครามได้ตกลงใจกันทำสนธิสัญญาแวร์ซายด์ เสร็จ มันได้ถูส่งไปยังเยอรมันเพื่อบังคับให้เยอรมันเซ็นยอมรับสภาพความพ่ายแพ้และ เสียค่าใช้จ่ายทุกชนิดที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่เนื่องจากสนธิสัญญาบีบคั้นและรุนแรงถึงขนาดที่เรียกว่า บีบให้เยอรมันจนมุม ด้วยเหตุนี้เยอรมันจึงไม่ยอมรับสนธิสัญญาในระยะแรก แต่เนื่องจากเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องยอมถูกฝรั่งเศสโจมตี เยอรมันจึงต้องยอมลงนามในสัญญามหาโหดนี้ด้วยน้ำตา ณ ห้องกระจกพระราชวังแวร์ซายด์ ที่ๆ เคยบังคับฝรั่งเศสมาลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อครามสงคราม Franco-Prussian ในปี 1971
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีองค์การระหว่างประเทศเกิดขึ้นมาใหม่องค์กรหนึ่ง คือ องค์การสันนิบาตชาติ แต่องค์การนี้มีอายุสั้นนัก มันได้หายไปโดยปริยายในครั้งที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ องค์การสันนิบาตชาติก่อตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อรักษาสันติภาพ สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสงครามที่กินอาณาเขตกว้างขวางและทำลายชีวิตมนุษย์มากที่สุดในโลกขณะนั้น โดยองค์การสันนิบาตชาติจึงเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรับประกันว่า โลกนี้จะปลอดภัยจากสงคราม
2. เพื่อความร่วมมือ จากประสบการณ์ในช่วง Concert of Europe ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า สันติภาพไม่ได้เกิดมาจากความต้องการของชาติใดชาติหนึ่งตามลำพัง แต่สันติภาพต้องเป็นสิ่งที่มาจากความร่วมมือกันของชาติทุกชาติ ด้วยเหตุนี้องค์การสันนิบาตชาติจึงสนับสนุนให้ชาติมหาอำนาจมาเป็นสมาชิกใน องค์การนี้
3. เพื่อลดอาวุธ เหตุผลกนึ่งของการก่อกำเนิดขึ้นมาของสงครามโลกครั้งที่ 1 คือการที่ชาติต่างๆ ในยุโรปพากันแข่งขันกันสะสมอาวุธและต่างฝ่ายต่างมองว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นภัย คุกคามซึ่งกันและกัน การลดการสะสมอาวุธจึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่ทำให้แต่ละชาติหันมามองกันในทาง ที่ดีขึ้น
4. เพื่อควบคุมการออกเสียงแบบประชามติ เพราะว่าหลักการหนึ่งที่วูดโรว วิลสันได้พยายามชี้แจงก็คือ ต้องการให้แต่ละชาติมีสิทธิมีเสียงในการปกครองตัวเอง หรือสามารเลือกได้ว่าอยากอยู่ใต้ปกครองของชาติใด ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการกบฏในจักรวรรดิ ซึ่งเป็นการดึงชาติมหาอำนาจอื่นๆ เข้ามาแทรกแซงปัญหาภายในประเทศจึงลุกลามเป็นปัญหาระดับโลก
นอกจากนี้ ในองค์การสันนิบาตชาติยังมีมติร่วมกันว่า หากมีการรุกรานเกิดขึ้น ประเทศสมาชิกจะลงโทษทางเศรษฐกิจด้วยการแซงก์ชั่น (Sanction) หากการแซงก์ชั่นไม่เป็นผลอาจจะมีการประชุมกันเพื่อกำหนดการใช้กำลังทางทหาร นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งศาลโลกขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย
อย่างไรก็ตามองค์การนี้ก็ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่สำคัญที่สุดให้บรรลุ จุดประสงค์ได้ นั่นคือการรักษาสันติภาพ เพียง 20 ปีต่อมาสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้อุบัติขึ้นและมีผลรุนแรงกว่าครั้งก่อน โดยกินอาณาเขตไปทั่วโลก รวมทั้งมาถึงเอเชียของเราด้วยดังที่ได้รู้จักในนาม สงครามมหาเอเชียบูรพา การที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นนี้ เป็นผลจากจุดอ่อนของสันนิบาตชาติ คือ ประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียตและเยอรมัน ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก มีแต่ประเทศที่มุ่งจะเล่นงานเยอรมันคือฝรั่งเศสและอังกฤษที่มีบทบาทสำคัญใน องค์การนี้ การที่มีประเทศเข้าร่วมน้อยทำให้ไม่มีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน ประเทศมหาอำนาจจึงใช้อำนาจบาตรใหญ่ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นการที่ประเทศฝรั่งเศสทำตัวเป็นอันธพาลเสียเอง ด้วยการยึดครองแคว้น Ruhr ของเยรอมันเพื่อควบคุมการจ่ายค่าปฏิกรณ์สงคราม หรือจะเป็นการที่อิตาลีกรีฑาทัพเข้ายึดอบิซซีเนียหน้าตาเฉย เป็นต้น นอกจากนี้องค์การสันนิบาตชาติยังไม่มีมาตรการทางการทหารในการปราบปรามผู้ รุกรานประเทศอื่นๆ องค์การสันนิบาตชาติไม่มีกองกำลังเป็นของตัวเอง องค์การสันนิบาตชาติจึงไม่สามารถที่จะแบกรับกับความรับผิดชอบในการสร้าง สันติภาพให้กับโลกได้
สิ่งที่น่าสนใจในช่วง 20 ปีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึง 2 นี้อีกประการหนึ่งคือ ได้มีความพยายามที่จะเจรจาลดอาวุธ โดยการจัดการเจรจาให้โควตาด้านกองทัพเรือ เพราะกองทัพเรือเป็นกองทัพที่มีความสามารถที่จะคุกคามรัฐอื่นได้มากกว่ากอง ทัพบก จึงได้มีการจัดการประชุม Washington Conference (1921-1922) โดยในการประชุมดังกล่าว จัดให้ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และอิตาลี มีอัตราส่วนของเรือรบได้ใน 5 : 5 : 3 : 1.67 : 1.67 และไม่ให้เยอรมันมีกองทัพเรือเลย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการสะสมกำลังทางกองทัพเรือมากเกินไป และจะกลายเป็นภัยคุกคามระหว่างกัน แต่ความพยายามต่างๆ ของชาติมหาอำนาจในการรักษาสันติภาพในการเจรจาลดอาวุธนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวความคิดแบบอุดมคตินิยม (Idealism) โดยไม่คำนึงถึงหลักความจริงว่า ไม่ว่าประเทศใดๆ ก็คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติกันทั้งนั้น และกองกำลังทหารเรือ เป็นเครือ่งมือสำคัญที่สุดในการเป็นมหาอำนาจ
สำหรับการประชุม Washington Conference คราวนี้ มหาอำนาจญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยพอใจอย่างมากที่ให้อัตราส่วนกองทัพเรือของตัวเอง น้อยกว่าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ญี่ปุ่นมองว่า ประเทศคนผิวขาวทั้งหลายสบประมาทญี่ปุ่น ไม่ให้ความสนใจกับญี่ปุ่นจึงอนุญาตให้สัดส่วนกองเรือแก่ญี่ปุ่นน้อยเกินไป ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงรีบพัฒนากองทัพเรือเป็นการใหญ่ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะทำสงคราม
สงครามโลกครั้งที่ 2
                เยอรมัน
จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เยอรมันตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม หลังจากนั้นเป็นต้นมาเยอรมันก็ต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และภาระหนี้ที่จะต้องชดใช้แก่ประเทศผู้ชนะสงคราม ปัญหาอันหนักหน่วงของเยอรมันทำให้เกิดความต้องการที่จะแสวงหาคำตอบที่จะ แก้ไขกับความทุกข์ยากต่างๆ เหล่านี้ คำตอบของการแก้ไขปัญหาอยู่ที่ 2 ด้านคือ 1.ไปทางซ้าย ได้แก่นำลัทธิคอมมิวนิสต์มาใช้ตามแบบรัสเซีย หรือ 2.ไปทางขวา คือการนำลัทธิรักชาติอย่างสุดโต่งมาใช้ในประเทศ เพื่อเป็นการสร้างพลังใจไม่ให้คนในชาติต้องจมอยู่ในความเป็นจริงอันแสนทุกข์ทรมาน
เยอรมันได้เลือกทางซ้ายก่อน ในระยะแรกๆ ก็ดี แต่ต่อมาก็ไปต่ออย่างกระท่อนกระแท่น เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 1929 ทำให้ผู้คนไม่เชื่อใจในวิธีการพัฒนาตามแบบสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ และนี่เองเป็นแรกชักนำให้แนวทางขวาเข้ามาเบียดจนแนวซ้ายตกขอบ แนวทางขวานี้มีผู้นำได้แก่ พรรคนาซี หรือ National Socialist German Workers ที่มีผู้นำคือ อดอลฟ์ ฮิตเลอร์
ฮิตเลอร์ได้ก่อตั้งพรรคนาซีมาในปี 1920 ในระยะแรกไม่ค่อยมีคนสนใจนัก แต่เนื่องจากเขามีพรสวรรค์ทางการพูด จึงชักนำให้ผู้นำบางคนเชื่อบ้าง ฮิตเลอร์ทำการต่อสู้และก่อกวนทางการเมืองเรื่อยมา เขาเคยติดคุกและใช้เวลาในคุกเขียนหนังสือเรื่อง การต่อสู้ของข้าพเจ้า หรือ My struggle เนื้อหาในหนังสือเป็นการโจมตีชาวยิวและวิธีที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศ เขาถูกปล่อยออกจากคุกในเวลาต่อมาและก่อกวนทางการเมืองมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 1933 เขาจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไม่คาดฝันเพราะในตอนแรกประธานาธิบดีในขณะ นั้นคือ ฮินเดนเบิร์ก ไม่ได้คาดหวังว่าฮิตเลอร์จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้นาน ฮินเดนเบิร์กไม่ได้เชื่อมั่นว่าฮิตเลอร์จะทำได้อย่างที่เขาพูดสักเท่าใด และคาดว่าฮิตเลอร์คงจะเหมือนนายกคนอื่นๆ คือ อยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน และการให้ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีและถูกปลดออกจะทำให้เขาลดความกระตือ รือร้นทางการเมืองลงบ้าง
อย่างไรก็ตามฮินเดนเบิร์กคาดการณ์ผิดไปถนัดใจ เมื่อฮิตเลอร์เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เขาครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ แผนการแรกที่เขาทำคือ การทำลายชื่อเสียงและกวาดล้างคอมมิวนิสต์ก่อนก่อนโดยกล่าวหาว่าพรรค คอมมิวนิสต์กำลังจะก่อกวนประเทศ ต่อมาจึงออกกฎหมายให้ตัวเองมีอำนาจสูงสุด เขาจัดการยุบพรรคการเมืองต่างๆ และให้กฎหมายรับรองว่ามีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวคือพรรคนาซี นอกจากนี้ยังปิดสหภาพแรงงานเพราะฮิตเลอร์ไม่ต้องการให้มีการเรียกร้อง ไม่ชอบความวุ่นวายทุกชนิด และฮิตเลอร์เกลียดสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์อย่างมาก โดยฮิตเลอร์มีกองกำลังเป็นของตัวเองที่เป็นตำรวจลับ เรียกว่าหน่วย SA เข้าทำการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองจนหมดสิ้น นอกจากนี้ยังพยายามปลูกฝังอุดมการณ์นาซีให้กับคนเยอรมันพร้อมๆ ไปกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เชื้อสายยิว
ในส่วนทางด้านการปกครองฮิตเลอร์เข้าก้าวก่ายอำนาจในการปกครองโดยการแทรก แซงข้าราชการที่ไม่ได้เป็นนาซี โดยให้ข้าราชการทุกคนที่ไม่ได้นิยมนาซีจะต้องออกจากตำแหน่ง และให้อำนาจสูงสุดแก่ผู้ว่าราชการแคว้นที่ได้รับแต่งตั้งโดยตรงมาจากส่วน กลาง ซึ่งทำให้ฮิตเลอร์สามารถดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางได้แม้แต่ในระดับรากหญ้า
ฮิตเลอร์เข้ามาได้อำนาจอย่างสูงสุดจริงๆ เมื่อฮินเดนเบิร์กตาย เขาก็ยุบตำแหน่งประธานาธิบดีมารวมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและให้คนเรียกเขา ว่า ฟูเรอร์ หมายถึงท่านผู้นำ ฮิตเลอร์จึงมีตำแหน่งเป็นผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียว
หลังจากที่ฮิตเลอร์ครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในเยอรมัน ฮิตเลอร์จึงได้พยายามเร่งรัดประเทศให้เตรียมพร้อมเข้าสู่สงคราม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการเพิ่มจำนวนของประชากร การเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อที่จะเป็นฐานไปสู่กรพัฒนากองกำลังทางการทหาร และยังเพิ่มกำลังทางการทหาร ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ แม้ว่าจะขัดกับสนธิสัญญาแวร์ซายด์ที่ได้ทำไว้ แต่ก็ไม่มีชาติใดทัดทาน ฮิตเลอร์ในขณะนั้นจึงมั่นใจเป็นอย่างยิ่งในการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และเยอรมันก็พร้อมที่จะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 จริงๆ
อังกฤษ
อังกฤษเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ยุโรปเกิดสันติภาพ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ก็เหมือนกัน อังกฤษมีส่วนอย่างมากในการปล่อยปละละเลยให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ขึ้นมา ทั้งๆ ที่อังกฤษกับฝรั่งเศสเป็นเสาหลักในองค์การสันนิบาตชาติ แต่ก็ทำอะไรกับเยอรมันไม่ได้เมื่อเยอรมันระดมกองกำลังทางการทหาร ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะอังกฤษเองไม่พร้อมที่จะเข้าไปยุ่งกับกิจการ ภายในภาคพื้นทวีป อังกฤษวุ่นวานอยู่แต่การจัดการกับปัญหาภายในของตัวเอง เพราะถึงแม้อังกฤษจะชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็จริง แต่ตัวอังกฤษเองต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรือเดินทะเลที่เป็นแหล่งที่มาสำคัญของรายได้ถูกจมไปหลายลำ นอกจากนี้ในทางฝั่งอาณานิคมตะวันออกยังปรากฏว่าอาณานิคมหลายอย่างของอังกฤษ เริ่มหลุดมือ หรือไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างที่เคย อังกฤษต้องสูญเสียอิรักและอาณานิคมอืนๆ เริ่มตีตัวออกห่าง โดยเฉพาะอินเดียที่มีการเรียกร้อวจากมหาตมะ คานธี ปาเลสไตน์ และ จอร์แดน อีกทั้งประชากรก็เบื่อหน่ายกับการทหาร ไม่ต้องการให้อังกฤษไปรบกับใคร หรือสร้างกองกำลังทางทหารเพิ่มเติม ประชาชนชาวอังกฤษต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่า
ฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสเองก็บอบช้ำไม่ใช่ย่อย จากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ในสงครามครั้งนั้นฝรั่งเศสสูญเสียทหารกว่า 1.5 ล้านคน หากรวมคนสูญหายทั้งหมดตั้งแต่ปี 1914-1919 ประมาณ 4 ล้านคน ฝรั่งเศสอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนคน และเนื่องจากสมรภูมิอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเองด้วย จึงพบแต่ความปรักหักพังเต็มไปทั่วฝรั่งเศส นอกจากนี้ภายหลังสงครามโลก ฝรั่งเศสต้องพบกับปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การลดค่าเงินฟรังก์เพราะเยอรมันเบี้ยวหนี้ ที่ตอนแรกจะต้องชดใช้เงิน แต่เยอรมันก็ขอผลัดผลัดไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดีฝรั่งเศสกลัวเยอรมันมาก ถึงขนาดสร้างแนวมาจิโนต์ (Majinot line) ซึ่งเป็นปราการที่ตั้งขึ้นที่ชายแดนติดต่อกับเยอรมันและลักเซมเบิร์กรวมระยะ ทางยาม 600 กม. ว่ากันว่าเป็นป้อมปราการที่เข้มแข็งที่สุดในโลกและจะสามารถต้านทานการรุกราน จากเยอรมันได้ อย่างไรก็ตามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวมาจิโนต์นี้ก็ไม่ได้ถูกใช้ เพราะว่าแทนที่เยอรมันจะบุกฝรั่งเศสมาตรงๆ เยอรมันกลับอ้อมบุกทางที่ไม่มีแนวป้องกันทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเสียประเทศให้ กับเยอรมันอย่างรวดเร็ว
เหตุการณ์สำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ความวุ่นวายทางการเมืองที่จะนำพาให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นมาจากการที่ชาติมหาอำนาจต่างๆ ครึ่งหนึ่งถูกปกครองด้วยลัทธิทหารนิยมที่ต้องการแสวงหาเมืองขึ้นภายนอก ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเถลิงอำนาจของมุสโสลินี ลัทธิทหารนิยมในญี่ปุ่น และนาซีในเยอรมัน ทั้ง 3 ชาติผู้นิยมสงครามได้พากันระดมกองกำลังทางการทหารอย่างเข้มแข็งและพร้อมรบ ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งคือ อังกฤษและฝรั่งเศสไม่พรอมที่จะทำสงคราม ส่วนสหรัฐอเมริกาก็กบดานเงียบอยู่คนเดียว กว่าจะเข้ามาอยู่ในสงครามก็เป็นตอนที่บ้านตัวเองคืออ่าวเพิร์ลที่ฮาวายถูก โจมตี
เหตุการณ์ที่จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในปี 1931 ได้แก่ การที่ญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรีย อิตาลีรุกรานอบิซซีเนียในปี 1935 แต่ก็ไม่มีมหาอำนาจทำอะไรมากไปกว่าการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็แซงก์ชั่นอิตาลีกันได้เพียง 1 ปี ก็มาทำการค้าขายกันต่อ ส่วนเยอรมันก็เริ่มต้นโดยการรวมกับออสเตรียในปี 1938 ในการวมกับออสเตรียนี้ค่อนข้างสงบ ไม่เสียเลือดเนื้อ อันเป็นเพราะส่วนหนึ่งของเยอรมันก็เคยอยู่รวมกับออสเตรียมาก่อนในสหพันธรัฐ เยอรมัน ส่วนในตัวออสเตรียเองก็อ่อนแอจากการสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยเหมือนกัน
ที่จริงเป็นสิ่งที่น่าแปลกที่อิตาลี เยอรมัน และญี่ปุ่นสามารถรุกรานชาติอื่นๆ ได้โดยไม่มีใครขัดขวาง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าชาติอื่นๆ ต่างอ่อนแรงมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และประชาชนส่วนใหญ่ก็เข็ดขยาดกับสงครามและไม่ต้องการให้รัฐบาลนำเงินเข้าไป ใช้ในกองทัพ ซึ่งการที่อังกฤษและฝรั่งเศสตัดสินใจต่อต้านเยอรมันช้าเกินไปนี้เอง ทำให้เยอรมันเหิมเกริมกล้าหาญที่จะรุกรานประเทศอื่นๆ ฝรั่งเศสและอังกฤษเคยเต็มใจให้เยอรมันผนวกประเทศอื่นๆ ที่มีเชื้อสายเยอรมันมากกว่า 50 % ตามใจชอบซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เหมือนปล่อยเด็กให้เอาแต่ใจจนเหลิงเกินไป เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาจากการที่ฮิตเลอร์เรียกร้องที่จะรวมแคว้นซูเดเตน (1939) ซึ่งในขณะนั้นเป็นของเชโกสโลวะเกียตามสนธิสัญญาแวร์ซายด์ แต่ฮิตเลอร์อ้างว่า คนในแคว้นซูเดเตนส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายเยอรมันจึงควรมารวมกับเยอรมัน ฮิตเลอร์ได้เชิญชาติมหาอำนาจ 4 ชาติ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลีและเยอรมันมาร่วมประชุมกัน ที่ประชุมมีมติให้เยอรมันยึดครองซูเดเตนได้ตามใจชอบ ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในขณะนั้นคือแชมเบอร์แลนด์ ได้รับการยกย่องจากประชาชนทั่วไปของอังกฤษมากว่าเจ๋งจริงๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงสงครามได้ โดยการตามใจเยอรมัน แต่แท้จริงแล้ว มันเป็นการเลื่อนสงครามให้เกิดขึ้นช้าลงแต่รุนแรงขึ้นต่างหาก
ฮิตเลอร์เมื่อได้ซูเดเตนแล้วเหมือนเด็กที่ถูกตามใจจนเคยตัว ฮิตเลอร์จึงเรียกแคว้นเมเมลคืนจากลิทัวเนีย เพราะเมเมลเคยเป็นของเยอรมันแต่ถูกลิทัวเนียยึดครองในช่วงระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 1 ถึง 2 ส่วนอิตาลีก็ไม่น้อยหน้า ได้เข้ายึดอัลบาเนีย เนื่องจากต้องการทางออกทางทะเลในขณะที่ฮิตเลอร์เมื่อได้เมเมลมาได้ครอบครอง แล้วจึงขอคืนฉนวนโปแลนด์เป็นทางออกทางทะเลของโปแลนด์ โปแลนด์ไม่ยินยอมที่จะคืนฉนวนโปแลนด์ให้ ฮิตเลอร์จึงขู่ว่าจะบุกโปแลนด์ งานนี้ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสเพิ่งรู้สึกตัวขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม กว่าอังกฤษและฝรั่งเศสจะรู้ตัวก็สายเกินแก้ ฮิตเลอร์ไม่หยุดยั้งความปรารถนาในการหาพื้นที่ให้ชาวเยอรมันอยู่อาศัย ฮิตเลอร์บุกยึด โปแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เบลเยี่ยม ฮอลแลนด์ ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส ยูโกสลาเวีย กรีซ ในตอนนั้น กองทัพของเยอรมันเหนือกว่ากองทัพของประเทศอื่นๆ ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะไปรบกับใครก็ชนะไปหมด ในที่สุดฮิตเลอร์ได้ตัดสินใจบุกอังกฤษซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายในทวีปยุโรปที่ เครื่องหมายสวัสดิกะยังเดินทางไปไม่ถึง  แต่ฮิตเลอร์ก็ไม่สามารถต่อสู้กับกองทัพอากาศที่เข้มแข็งของอังกฤษได้ การที่โจมตีอังกฤษไม่ได้ทำให้ฮิตเลอร์หันไปโจมตีรัสเซีย
การตัดสินใจไปโมตีรัสเซีย เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดมากที่สุดของฮิตเลอร์ เพราะแม้บิสมาร์กเองยังไม่กล้าทำอะไรรัสเซีย บิสมาร์กยังคงพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างเยอรมันกับรัสเซียอยู่ ตลอดช่วงดวลาในการบริหารประเทศของเขา การที่ฮิตเลอร์ตัดสินใจบุกรัสเซียทำให้เขาล้มเหลว 2 ประการ ประการปรกคือ ทำให้ฮิตเลอร์ประสบความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นก็พ่ายแพ้ตลอดมา ประการที่สองคือ ทำให้เยอรมันต้องรับศึกหนัก 2 ทาง คือจากด้านตะวันตกที่มีฝ่ายสัมพันธมิตรอันมีสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมด้วย และจากฝั่งตะวันออกที่มีรัสเซียที่ตีประชิดเข้ามา กลายเป็นว่าเยอรมันต้องรับศึก 2 ด้านคือ รัสเซียและสัมพันธมิตร โดยรัสเซียตีขนาบอีกข้างหนึ่ง ในที่สุดรัสเซียจึงบุกเข้าเบอร์ลินได้ก่อนปี 1945 เป็นอันอวสานของยุคสมัยอันเรืองรองของนาซี
ส่วนสถานการณ์ในเอเชียก็น่าสนใจอยู่เหมือนกัน ญี่ปุ่นตัดสินใจอยู่ฝ่ายเดียวกับเยอรมันเพราะญี่ปุ่นไม่พอใจกับชาติมหาอำนาจ อื่นๆ ที่มีท่าทีดูถูกคนเอเชียมาตั้งแต่สนธิสัญญาวอชิงตัน (1921-1922) และญี่ปุ่นเองก็ต้องการอาณานิคมเหมือนชาติมหาอำนาจยุโรป ญี่ปุ่นจึงตีประเทศต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ก่อน ญี่ปุ่นเข้ายึดครองประเทศไทย (ในสมัยนั้นเรียกว่าสยาม) โดยมีเป้าหมายให้เป็นสะพานไปถึงพม่าและอินเดียตามลำดับ
เช่นเดียวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามคราวนี้ในภายหลัง การเข้าร่วมสงครามครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากเงื่อนไขที่ว่าญี่ปุ่นบุกโจมตี เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในปี 1941 ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาสหรัฐอเมริกาก็ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นสู้รบกับสหรัฐอย่างเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ แต่ในที่สุดก็มาเสียท่าที่สมรภูมิมิดเวย์ในปี 1942 เพราะสหรัฐอเมริกาแปลโค๊ดลับของญี่ปุ่นได้ แล้วหลังจากนั้นมาญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายรับของสหรัฐอเมริกาเรื่อยมา เพราะไม่ว่าจะทำอะไรสหรัฐก็รู้ก่อนเสมอ ญี่ปุ่นสะบักสะบอมเต็มที่แล้ว แต่สหรัฐก็เล่นไม่เลิก จนในที่สุดญี่ปุ่นถูกบอมบ์ครั้งสุดท้ายด้วยระเบิดปรมาณู 2 ลูกที่ฮิโรชิมาและนางานซากิในปี 1945
การจบลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรากฏว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดๆ ในยุโรปโดยเฉพาะในเยอรมันและญี่ปุ่นต่างก็ประสบความเสียหายอย่างทั่วถึงกัน ยกเว้นสหรัฐและรัสเซีย ด้วยเหตุนี้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกประเทศโดยเฉพาะยุโรปที่เป็นสมรภูมิที่สำคัญต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจและ ปัญหาในการบูรณะฟื้นฟูประเทศ ทำให้เป็นมหาอำนาจของอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมันต้องซบเซาลงไป ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ 2 ชาติ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตที่ได้รับความบอบช้ำจากสงครามน้อยกว่า ได้ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนทันทีและความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ของ 2 มหาอำนาจนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของตำนานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใน อีก 50 ปีต่อมา ในชื่อ “สงครามเย็น”



บทที่ 7 สงครามเย็น

บทที่ 7  สงครามเย็น
(Cold War)
เหตุการณ์ที่ยัลต้า และฮิโรชิมา : สาเหตุของสงคราม
เป็นที่น่าสนใจว่า จริงๆ แล้ว ความขัดแย้งในยุคสงครามเย็นเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบเสียอีก เมื่อประเทศผู้เกือบจะชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มาประชุมร่วมกันที่ยัลต้า เมืองหนึ่งของโซเวียต ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางใต้ของทะเลดำ ในที่นี้เองที่ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น
ประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มโลกตะวันตกมีความเห็นว่าประเทศยุโรปตะวันออก ควรจะได้รับเอกราช และได้รับการปกครองภายในระบอบประชาธิปไตยและมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งระบบทั้งสองนี้น่าจะเป็นระบบที่สามารถป้องกันความขัดแย้งได้ดีกว่าการ ปกครองด้วยกระแสคลั่งชาติ หรือชาตินิยมแบบที่เคยมีมาก่อนหน้านั้น
ส่วนสหภาพโซเวียตตอนนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำทางการเมืองและ หารทหาร โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) มีความเห็นต่างไปคือ โซเวียตเป็นประเทศที่สามารถยึดครองชาติในยุโรปตะวันออกได้ตั้งแต่ช่วงสงคราม โลกครั้งที่ 2 และการที่โซเวียตเคยถูกนโปเลียนและฮิตเลอร์บุกเข้าไปถึงมอสโคว์มาแล้วถึง 2 ครั้ง สตาลินจึงต้องการใช้ประโยชน์จากยุโรปตะวันออกนี้เข้ามาเป็นรัฐกันชน (buffer state) เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงปลอดภัยของโซเวียตเอง
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1945 เมื่อกองทัพของสัมพันธมิตรสามารถปราบปรามเยอรมันได้อย่างราบคาบ ทหารของรัสเซีย 12 ล้านคน สามารถควบคุมโปแลนด์ไว้ได้หมด และอยู่ในลักษณะที่ประจันหน้า พร้อมเพรียงที่จะบุกยึดครองเข้าไปยึดกรุงเบอร์ลิน ในขณะที่ทหารของฝ่ายตะวันตกยืนอยู่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไรน์ กำลังจะไปทางตะวันออก ทหารของรัวเซียได้รับคำสั่งให้ตรึงกำลังไว้ก่อน 1 อาทิตย์เพื่อที่ชาติมหาอำนาจทั้งสามได้แก่ แฟรกคลิน รูสเวลส์, วินสตัน เชอร์ชิล และโจเซฟ สตาลิน จะเข้ามาพบกันที่ยัลต้า เพื่อตกลงกันเรื่องผลของสงคราม
วัตถุประสงค์แรกของการประชุมที่ยัลต้านี้ก็คือ การที่มหาอำนาจมานั่งตกลงกันเรื่องชาติต่างๆ ที่ถูกเยอรมันเข้ายึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการตกลงกันว่าให้เอกราชกับโปแลนด์อีกครั้งหนึ่ง และให้โปแลนด์เลือกตั้งรัฐบาลของตัวเองได้ ส่วนยูโกสลาเวียได้เป็นรัฐ ประกอบด้วยรัฐสมาชิกเหมือนเดิม สาวนวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 ก็คือเยอรมนีจะถูกแบ่งเป็นส่วนๆ และถูกควบคุมด้วย 3 พันธมิตรผู้ชนะสงคราม และเนื่องจากโซเวียตมีกองทัพที่ใหญ่โตจึงสามารถควบคุมเบอร์ลินและบริเวณ ครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศเยอรมัน และประการสุดท้ายคือ โซเวียตร่วมทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งในอีก 2-3 เดือนต่อมา ญี่ปุ่นก็พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งนี้อย่างหมดรูป ทั้ง 3 ชาติเข้าร่วมเซ็นสัญญากันในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1945
ในการประชุมครั้งนี้กล่าวได้ว่า รูสเวลส์ค่อนข้างเสียรังวัด และได้รับการประณามจากประชาชนเมื่อสนธิสัญญาที่ได้จากการประชุมที่ยัลตา ปรากฏสู่สาธารณชนปรากฏว่า ทำไมไปยื่นยุโรปตะวันออกให้กับสตาลินอย่างง่ายดายปานนั้น รูสเวลส์แก้ตัวว่าก็ผมทำดีที่สุดแล้ว และก็หวังว่าสหประชาชาติ น่าจะยื่นมือเข้ามาดูแลต่อไปแล้วกัน งานนี้กล่าวได้ว่า รูสเวลส์ทำไปเพื่อที่จะดึงให้โซเวียตเข้ามาร่วมในสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ต่อมาไม่นานสตาลินก็ได้ฉีกสัญญาที่มีไว้ต่อรูสเวลส์และเชอร์ชิลลงอย่างต่อ หน้าต่อตาด้วยการขัดขวางการเลือกตั้งในโปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย ฮังการี โรมาเนีย และบัลการเรียน โดยการสนับสนุนให้มีการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นอย่างถาวร และทำการปราบปรามขบวนการเพื่อประเทศเหล่านั้น อย่างไรก็ดี พวกตะวันตกก็ไม่ได้รวมหัวกันต่อต้านการกระทำของสตาลินแต่อย่างไร ปล่อยให้สตาลินขยายปีกครอบครองยุโรปตะวันออกได้จนหมด ส่วนสหรัฐอเมริกาก็มัวแต่วุ่นวายกับการสู้รบกับญี่ปุ่น และไม่ต้องการสูญเสียพันธมิตรกับโซเวียต ก็เลยทำเป็นนิ่งเฉยซะ
ลองมาดูที่สงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นมั่ง ที่จริงสหรัฐอเมริกาจัดการกับญี่ปุ่นได้ง่ายกว่าที่ตัวเองคิด และก่อนที่โซเวียตจะมาช่วยสหรัฐอเมริกา กองทัพเรือของสหรัฐอเมริกาก็เอาชนะญี่ปุ่นไปได้เกือบหมดทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก อยู่แล้ว แม้ก่อนที่จะเข้าร่วมการประชุมกันที่ยัลต้า สหรัฐอเมริกาก็เอาชนะญี่ปุ่นได้ถึงเกาะไซปันแล้ว ซึ่งเกาะนี้อยู่ใกล้ญี่ปุ่นมากขนาดที่จากจุดนั้น สหรัฐอเมริกาสามารถบินขึ้นเพือทิ้งระเบิดที่หลายๆ เมืองหนึ่งในญี่ปุ่นได้
ซึ่งก็นั่นแหละ สหรัฐอเมริกาก็ได้รุมทิ้งระเบิดที่ญี่ปุ่นลูกแล้วลูกเล่า บางทีก็ถูกเป้าหมายทางราชการ บางทีก็ถล่มไปที่ผู้คนตรงๆ เลย และในที่สุดสหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศใช้ระเบิดแบบใหม่ที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมา เป็นครั้งแรก
สหรัฐอเมริกาเริ่มการทดลองระเบิดอะตอมในปี ค.ศ.1942 ภายใต้โครงการแมนฮัตตัน (Manhuttan Project) ซึ่งเป็นโครงการลับของรัฐบาลที่มีนักวิทยาศาสตร์อยู่ 4 คนคือ Neil Bohr, Robert Oppenheimer และ Richard Feyman และ Enrico Fermi เป็นผู้บุกเบิกโครงการนี้
จริงๆ แล้วโครงการแมนฮัตตันนี้ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาเพื่อคิดระเบิดไปบอมบ์เยอรมัน โดยสหรัฐสืบรู้มาว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันได้ค้นพบนิวเคลียร์ฟิชชั่นตั้งแต่ปี ค.ศ.1938 แต่ฮิตเลอร์ไม่อยากจะให้พัฒนาต่อ เพราะฮิตเลอร์ไม่อยากใช้อาวุธที่แตกต่างจากอาวุธต่างๆ ที่เขาเคยใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ความที่สหรัฐหวาดกลัวว่า ฮิตเลอร์จะเปลี่ยนใจมาใช้ระเบิดอะตอม ทำให้สหรัฐอเมริกาเร่งมือพัฒนาอาวุธชนิดนี้สำหรับตัวเองขึ้นมาบ้าง
ในที่สุดประธานาธิบดีฮารี ทรูแมน (Harry Truman) ก็เป็นคนสั่งทิ้งระเบิดลูกนี้ โดยที่ตอนแรกเขาไม่ทราบถึงพิษสงของอาวุธชนิดนี้มาก่อน การที่ใช้อาวุธชนิดนี้ในญี่ปุ่นนอกจากจะทำให้สหรัฐอเมริกาชนะสงครามนี้อย่าง เด็ดขาดแล้ว ความยิ่งใหญ่และศักยภาพในการทำลายล้างของระเบิดอะตอมยังทำให้สหรัฐอเมริกา กลายเป็นชาติมหาอำนาจทางเทคโนโลยีและทางการทหารไปโดยปริยาย นั่นหมายถึงอำนาจทางการทหารของสหรัฐอเมริกาที่อยู่เหนือสหภาพโซเวียตอีกด้วย ซึ่งก็ได้ทำให้สหภาพโซเวียตรู้สึกหวาดกลัวเล็กๆ ขึ้นมา และแอบวิจัยพัฒนาอาวุธประเภทเดียวกันนี้ด้วย
ในที่สุดความหวาดกลัวซึ่งกันและกันได้นำไปสู่ความตึงเครียดระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจหลัก จึงนำไปสู่สงครามเย็นอันเป็นสงครามที่เกิดขึ้นยาวนานเกือบ 50 ปี
ระบบสองขั้วอำนาจ
                จะเห็นได้ว่า พอสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงปั๊บ โลกเราก็เริ่มสงครามใหม่ขึ้นอีกสงครามหนึ่งทันที สงครามครั้งนี้กินอาณาเขตทั่วทั้งโลกเกิดความขัดแย้งในบริเวณต่างๆ ที่อาจจะนำไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นทั่วโลก นโยบายคอนเทนเม้นท์ (Containment Policy) ของสหรัฐอเมริกาเป็นนโยบายสำคัญที่เป็นปัจจัยอันนำไปสู่การเผชิญหน้าอย่าง ตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจ สำหรับสหภาพโซเวียตแล้ว สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือการขยายอิทธิพลของชาติ การหาบริวารให้ครอบคลุมบริเวณต่างๆ ของโลกให้มากที่สุด สหภาพโซเวียตจึงพยายามส่งออกอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไปให้ประเทศต่างๆ ในทางตะวันออก ในขณะที่สหรัฐอเมริกาพยายามป้องกันไม่ให้แนวคิดนี้ขยายตัวออกไปมาก จริงๆ แล้วจะเห็นได้ว่าทั้งสองชาติพยายามเล่นกรเมืองกันอยู่ และพยายามหาสมัครพรรคพวกเพื่อสนับสนุนตัวเองให้มากที่สุด ความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
มาดูยุโรปกันมั่งว่าหลังจากสงครามเป็นอย่างไร ยุโรปเป็นสมรภูมิรบ ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะย่อยยับอย่างที่สุด มีหลายๆ คนถึงกับออกปากว่า นี่เป็นจุดสิ้นสุดของยุโรปเสียแล้ว เมืองต่างๆ ในยุโรปไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่เมืองน้อยต่างเต็มไปด้วยซากปรักหักพังและซากศพ ของมนุษย์ทั้งทหารและพลเรือน สหรัฐอเมริกาจึงพยายามกอบกู้ยุโรปตะวันตก เพื่อที่จะสร้างระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ไว้ในยุโรปตะวันตก และสร้างตลาดขนาดใหญ่สำหรับธุรกิจชาวเยอรมัน ด้วยเหตุนี้สหรัฐอเมริกาจึงส่งเงินช่วยเหลือไปที่เยอรมันและยุโรปตะวันตก อย่างมาก ถือว่าเป็นเงินให้เปล่าที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีการให้กันมาในหน้าประวัติ ศาสตร์เลยทีเดียวแผนการฟื้นฟูยุโรปของสหรัฐอเมริกานี้เราเรียกตามชื่อนายพล มาร์แชลว่า “แผนการมาร์แชล” ในที่สุด หลังทศวรรษที่ 1960 ยุโรปก็ฟื้นตัวเต็มที่และพัฒนาได้ดีกว่าช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว
แต่เมื่อเราดูพวกประเทศบริวารของทางสหภาพโซเวียตกันดูบ้าง ประเทศเหล่นี้แทบไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย แถมที่น่าเกลียดก็คือ สตาลินไปขโมยเอาโรงงานในประเทศโปแลนด์และเยอรมันตะวันออกมาตั้งลงในสหภาพ โซเวียตเสียเอง ในที่สุดสตาลินก็จัดการเปลี่ยนแปลงเมืองอุตสาหกรรมของโปแลนด์และเยอรมัน ตะวันออกให้เป็นทุ่งนา เอาอุตสาหกรรมและสลัมเข้ามาไว้ในโซเวียต ซึ่งภายใต้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น ทหารของสตาลินฆ่าคนและข่มขืนผู้หญิงมากเสียยิ่งกว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก
ความขัดแย้งแรกระหว่างสหรัฐอเมริกาและโซเวียตเกิดขึ้นในการแบ่งเบอร์ลิน (เยอรมันตะวันออก) จากที่บอกไว้ว่าเมืองนี้ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนหลังจากที่เยอรมันพ่ายแพ้ต่อ พันธมิตร คือ โซเวียตคุมทางตะวันออกได้ ส่วนสหรัฐอเมริกาคุมทางตะวันตกเฉียงใต้ได้และอังกฤษคุมเบอร์ลินได้ทางตะวัน ตกเฉียงเหนือ นครเบอร์ลินเลยหลายเป็นเมืองที่ประหลาดคือ ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งเป็นคอมมิวนิสต์และเมืองเบอร์ลินนี้ถูกล้อมรอบด้วยคอมมิวนิสต์
ในเดือน มิถุนายน ค.ศ.1948 สตาลินได้ออกคำสั่งปิดล้อมนครเบอร์ลินตะวันตก ไม่ว่าด้วยทางถนนหรือทางรถไฟ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีทางที่คนในเมืองอื่นจะเข้าไปในเบอร์ลินตะวันตกได้ยกเว้น จะบินเข้ามา ซึ่งเบอร์ลินนี่ก็อยู่ห่างจากพรมแดนทางเยอรมันตะวันตกประมาณ 20 ไมล์ เมื่อสตาลินสูญเสียเบอร์ลินตะวันตกไป เพราะตามแผนการมาร์แชลที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นก็คือต้องพยายามปิดล้อมสหภาพ โซเวียต ไม่ให้สร้างบริเวณเพิ่มขึ้นอันจะทำให้โซเวียตเข้มแข็ง น่ากลัวเป็นภัยคุกคาม สหรัฐอเมริกาจึงรีบส่งของเข้าไปช่วยในเบอร์ลินตะวันตกโดยผ่านทางเครื่องบิน ที่บินลงทุกๆ 3 นาที จึงกลายเป็นว่าในช่วงนั้นประชากรกว่า 2 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเบอร์ลินตะวันออกได้รับความช่วยเหลือทุกสิ่งทุกอย่าง จากสหรัฐอเมริกา และในที่สุดเดือนพฤษภาคมปีถัดมา สตาลินก็เลิกปิดล้อมเบอร์ลินตะวันตก สหรัฐอเมริกาจึงได้เบอร์ลินตะวันตกเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา
การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตในเหตุการณ์ปิดล้อม เบอร์ลิน จึงกล่าวได้ว่าเป็นการเผชิญหน้ากันแบบตึงเครียดครั้งแรกของสองขั้วมหาอำนาจ เป็นการแสดงให้เห็นถึงระบบการเมืองระหว่างประเทศในโลก ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปจากระบบหลายขั้วอำนาจในยุคก่อนหน้านี้ มาเป็นยุคสงครามเย็น และจากความพยายามของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในการทำทุกวิถีทางเพื่อครอบ ครองเบอร์ลินตะวันตก น่าจะเป็นภาพที่คอยเตือนเราว่า อีกหลายทศวรรษตอจากนี้ไป การเผชิญหน้าระหว่างยักษ์ 2 ตัวนี้เกิดขึ้นอีกมากแทบนับไม่หวาดไม่ไหว
จากเหตุการณ์การเผชิญหน้าในช่วงนี้นี่เอง สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรยุโรปตะวันตก จึงได้ร่วมมือกันก่อตั้ง องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization) และสหภาพโซเวียตก็ตั้งสนธิสัญญาวอร์ซอ (WARSAW PACT) ออกมาเผชิญหน้ากันพอดี นาโต้คือสนธิสัญญาที่พยายามดึงชาติต่างๆ ในยุโรปเข้ามาด้วยกันและพยายามโดดเดี่ยวชาติอื่นๆ ที่เป็นคอมมิวนิสต์ จะเห็นได้ว่าตอนนี้ยุโรปกลายเป็นสภาพที่ตั้งกลุ่มพันธมิตรมาเผชิญหน้ากันไม่ ผิดอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จริงๆ แล้วสนธิสัญญาวอร์ซอไม่ค่อยมีน้ำยาอะไร เพราะสนธิสัญญานี้จริงๆ ก็คือสหภาพโซเวียตกับพวกประเทศสุนัขรับใช้ (puppet state) ในยุโรปตะวันออกนั่นเอง
ความขัดแย้งที่ 2 ระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ก็คือสงครามเกาหลี โดยในประเทศจีนด้วยความช่วยเหลือของสหภาพโซเวียต ได้สนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือบุกเข้าเกาหลีใต้ ในปี ค.ศ.1950 สหรัฐอเมริกาเห็นดังนั้นแล้วจึงรีบส่งกองกำลังมาผลักดันให้เกาหลีเหนือขยับ ขึ้นไปที่เดิมสงครามเกาหลีสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1953 โดยไม่มีผู้แพ้ หรือผู้ชนะ เพราะเกาหลีเหนือกลับไปอยู่ที่เดิม และสหรัฐอเมริกาก็ไม่บุกอะไรเพิ่มเติม ในสงครามครั้งนี้ถือได้ว่าไม่เป็นที่สบอารมณ์ของประชาชนชาวอเมริกันเช่นเคย เพราะไม่มีเหตุผลที่ดีพอสำหรับสหรัฐอเมริกาในการหยุดสงครามแค่นี้ โดยไม่บุกต่อไปที่จีนหรือสหภาพโซเวียต คนอเมริกาต้องการให้ทำลายคอมมิวนิสต์ แต่รัฐบาลอเมริกาแค่ต้องการใช้นโยบายคอนเทนเม้นท์ซึ่งมีเป้าหมายเพียงไม่ให้ โซเวียตขยายกำลังเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่เป็นนโยบายที่เผชิญหน้าเพื่อมุ่งกำจัดคอมมิวนิสต์ ในสายตาของคนอเมริกันจึงค่อนข้างไม่พอใจกับสงครามครั้งนี้เท่าใดนัก
ในปี ค.ศ.1955 สหภาพโซเวียตได้ผู้นำคนใหม่คือ นิกิต้า ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ครุชชอฟนี้มีนโยบายค่อนข้างเป็นเสรี และพยายามเลิกใช้ระบบสตาลินที่เคยใช้มาก่อน นอกจากนี้พวกครุชชอฟยังพยายามถอดถอนพวกสมาชิกหัวเก่าในพรรคคอมมิวนิสต์ และแต่งตั้งคนหนุ่มๆ ขึ้นมาแทน และครุชชอฟยังคลายความตึงเครียดของการรวมอำนาจในแบบสตาลิน เศรษฐกิจของประเทศจึงพัฒนาขึ้นมาบ้าง สงครามเย็นจึงเรียกได้ว่าผ่อนคลายไประยะหนึ่ง และในที่สุดออสเตรียก็ได้เป็นเอกราชในปี ค.ศ.1955 และในปี ค.ศ.1956 ปรากฏว่าฮังการีประสบความสำเร็จในการต่อสู้ขับไล่สหภาพโซเวียตออกจากดินแดน และจัดให้มีการเลือกตั้งเสรีเพื่อตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ แต่น่าเสียดายที่ครุชชอฟไม่เลิกความคิดที่จะยึดครองกรุงเบอร์ลิน แต่กลับสร้างกำแพงยักษ์กั้นระหว่างนครเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตก และถึงขนาดตั้งปืนกลอัตโนมัติไว้เตรียมยิงใครก็ตามที่เข้ามาใกล้กำแพง เบอร์ลิน กำแพงเบอร์ลินตั้งอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งถูกทำลายไปในปี พ.ศ.1989
ในปี ค.ศ.1954 หน่วยงาน CIA ของสหรัฐอเมริกาได้ส่งหน่วยปฏิบัติภารกิจจำนวน 450 คน ไปยึดครองกัวเตมาลาและล้มล้างรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของประเทศนั้น หน่วยปฏิบัติภารกิจนั้นประสบความสำเร็จและสามารถกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์ใน กัวเตมาลาได้สำเร็จ สหรัฐอเมริกาได้ตระหนักว่าการใช้กำลังในการปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์ที่อยู่ ใกล้บ้านเป็นสิ่งที่จำเป็น ในปี ค.ศ.1960 ประธานาธิบดีไอเซ็นฮาวร์ (Eisenhower) จึงได้ออกแผนการในการฝึกสอนชาวอเมริกันที่เกิดในคิวบาจำนวนหนึ่ง เพื่อที่จะเจาะทำลายและกวาดล้างระบบการปกครองของฟิเดลคาสโตร อย่างไรก็ตามแผนการครั้งนั้นต้องเลื่อนไปจนกระทั่งในปีต่อมา  เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่สามารถติดตั้งกองกำลังในกัวเตมาลาได้สำเร็จ ซึ่งในปีต่อมาปรากฎว่าเป็นสมัยของประธานาธิบดีเคเนดี้ ซึ่งมีนโยบายเช่นเดียวกันไอเซ็นฮาวร์ คือพยายามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในคิวบาเช่นเดียวกัน
ในที่สุด เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.1961 กองกำลังของสหรัฐอเมริกา 1,500 คนจึงได้เคลื่อนกำลังที่อ่าวพิกส์ (The Bay of Pigs) ในครั้งนี้ปรากฏว่าคาสโตรได้ปักหลักฐานต้านทานกองกำลังของสหรัฐอเมริกาเอา ไว้ได้ การปฏิบัติการสหรัฐอเมริกาจึงล้มเหลว ไม่สามารถเด็ดคาสโตรให้หลุดออกจากตำแหน่งได้ หลังจากนั้นเพียง 2 วัน หนังสือพิมพ์นิว ยอร์ก ไทม์ ได้ตีพิมพ์เรื่องออกไปทั่วประเทศ ประชาชนจึงได้รับรู้แผนการของสหรัฐอเมริกา นับจนถึงวันนี้คาสโตรก็ยังคงเป็นประธานาธิบดีของคิวบาอยู่เลย
ในเหตุการณ์นี้เอง ได้นำมาสู่ความตึงเครียดสุดยอดของช่วงสงครามเย็น โดยในปี ค.ศ.1962 ปรากฏว่าประธานาธิบดีเคเนดี้ไปรู้มาว่าครุชชอฟได้วางกองขีปนาวุธที่มีพิสัย ไกลขนาดยิงเมืองอะไรก็ได้ในสหรัฐอเมริกาไว้ในประเทศคิวบา ประธานาธิบดีเคเนดี้จึงสั่งปิดล้อมคิวบา และไม่อนุญาตให้สหภาพโซเวียตเดินทางเข้าออกคิวบาจนกระทั่งจะมีการล้มเลิก ขีปนาวุธนี้ในประเทศคิวบา สหภาพโซเวียตก็ปอดแหกไม่แพ้กัน รีบสั่งถอนขีปนาวุธโดยด่วน แต่ก็มีเรื่องที่น่าตื่นเต้นเหมือนหนังฮอลิวูดเกิดขึ้นก็คือ อยู่เรือของโซเวียตขาดการติดต่อจากสหภาพโซเวียต อยู่ๆ เรือรบลำนั้นก็เลยเดินทางฝ่าเข้าไปในแวดวงของการปิดล้อมของสหรัฐอเมริกา ตอนนั้นเรื่องราวจะเป็นอย่างไร หากสหรัฐอเมริกาคิดว่าสหภาพโซเวียตคิดจะลองดีป่านนี้โลกเราคงแหลกเป็นจุลไป แล้ว ด้วยสหรัฐอเมริกาคงกดปุ่มขีปนาวุธถล่มสหภาพโซเวียต และสหภาพโซเวียตก็ต้องรีบกดปุ่มถล่มสหรัฐอเมริกาไปแล้ว แต่อย่างไรก็ไม่ทราบปรากฏว่ากองกำลังของสหรัฐอเมริกาเกิดตรวจจับเรือลำนั้น ไม่ได้ขึ้นมาเฉยๆ กลายเป็นว่าสหรัฐอเมริกาก็เลยไม่ทราบว่าเรือโซเวียตหลงฝ่าเข้ามา ก็เลยกลายเป็นว่าสงครามนิวเคลียร์ไม่เกิดขึ้น ช่างน่าตื่นเต้นจริงๆ
ในที่สุดครุชชอฟและเคเนดี้จึงมาตกลงกัน โดยปรัสเซียถอนขีปนาวุธในคิวบา และสหรัฐอเมริกายอมถอนขีปนาวุธในตุรกีและกรีก ว่ากันง่ายๆคือ ต่างฝ่ายต่างยอมลดปืนที่จ่อที่หัวของอีกฝ่ายลง
ในสมัยของประธานาธิบดีทรูแมน เขาได้ประกาศหลักการทรูแมน (Truman Doctrine) เป็นคำประกาศที่ว่า สหรัฐอเมริกามีอิทธิพลอยู่เหนือยุโรปทั้งหมด และไม่ยอมรับเด็ดขาดหากคอมมิวนิสต์จะแหยมเข้ามาในยุโรปตะวันตก สหภาพโซเวียตจะไปมีอิทธิพลอยู่อีกฝั่งหนึ่งของโลกก็ตามใจ แต่อย่าเข้ามาใกล้ตะวันตก
ในปี ค.ศ.1968 ประธานาธิบดีเบรซเนฟ (Leonid Brezhnev) ได้ก้ามเข้ามาเป็นประธานาธิบดีแทนที่ครุชชอฟ และได้ประกาศว่าจะเผชิญหนากับหลักการทรูแทนที่ได้พูดไว้ก่อนหน้านี้ โดยทำเป็นคำประกาศเบรซเนฟ (Brezhnev Doctrine) โดยการกล่าวว่า ประเทศยุโรปตะวันออก ไม่มีวันเป็นอื่นนอกจากคอมมิวนิสต์ ในประเทศเชคโกสโลวะเกีย ได้มีความพยายามเลือกตั้งรัฐบาลเพื่อเป็นประชาธิปไตย ปรากฏว่าสหภาพโซเวียตรีบส่งกองกำลังเข้าไปจัดการกับเชคโกสโลวะเกียโดยทันที เพื่อเป็นการประกันว่า ประเทศนี้จะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ ปรากฏว่ามีการต่อสู้กันอย่างรุนแรง มีคนตายไปมากกว่า 1 พันคน และอีกกว่าหมื่นคนต้องถูกคุมขัง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นนักเรียนนักศึกษาซึ่งมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในระบอบ ประชาธิปไตย
เบรซเนฟเป็นคนที่นำหลักการของสตาลินกลับเจ้ามาใช้ในสภาพโซเวียตขึ้นมาอีก ครั้งหนึ่ง และทำการต่อต้านระบบของครุชชอฟที่เน้นการผ่อนปรน เบรซเนฟประกาศว่าต่อไปนี้ประชาชนในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกต้องเข้ามา อยู่ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดของรัฐบาลของสหภาพโซเวียตอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ความตึงเครียดของสงครามเย็นจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งจนได้
สงครามเวียดนามก็คือสงครามหนึ่งในยุคสงครามเย็น โดยเหตุเกิดเมื่อเวียดนามเหนือพยายามบุกเข้าเวียดนามใต้ ที่จริงเป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดูไม่คุ้มค่าในการที่สหรัฐอเมริกาจะใช้กองกำลังมหาศาลเพื่อปกป้อง เวียดนามใต้ และตอนจบสหรัฐอเมริกายังแพ้หมดรูปอีกด้วย ทั้งๆ ที่ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่ออกจะอยู่ใกล้สหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศที่ไม่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกาและการที่สหรัฐ อเมริกายื่นเท้าเข้าไปหาเสี้ยนในเวียดนามนี้จึงกลายเป็นสงครามนอกบ้านที่กิน เวลายาวนานที่สุดของสหรัฐอเมริกา และยังทำให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียอะไรต่อมิอะไรไปมากมาย สิ่งที่สหรัฐอเมริกาได้หลังจากสงครามครั้งนี้หากจะมีบ้าง ก็น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการทบทวนนโยบายคอนเทนเม้นท์ของตัวเองว่า เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สหรัฐอเมริกาจะกันเข้ามาปรับปรุงประเทศตัวเองมากกว่า การทำตัวเป็นตำรวจโลกเพื่อคอนเทนคอมมิวนิสต์
ภายหลังจากสงครามเวียดนามจึงกลายเป็นว่า สหรัฐอเมริกาได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของตัวเองขนานใหญ่ โดยการไม่ใช้นโยบายคอนเทนเม้นท์แล้ว หันมาเล่นวิธีการดุลแห่งอำนาจ โดยการดึงจีนซึ่งในขณะนั้นมีปัญหากับสหภาพโซเวียต ให้เข้ามาเป็นตัวแสดงอีกตัวแสดงหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองระหว่าง ประเทศ
สงครามเวียดนาม (1954-1968) : ปัญหาและความสำคัญ
เพราะเหตุใดสงครามเวียดนามจึงกลายเป็นจุดสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของ วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีผู้คนสนใจศึกษากันมากมาย แต่ละคนอาจจะมีคำตอบเป็นของตัวเอง แต่อย่างน้อยก็ยอมรับกันว่า
  1. เป็นสงครามที่ประเทศยักษ์ใหญ่ระดับมหาอำนาจไม่สามารถเอาชนะประเทศเล็กๆ ยากจนที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นประเทศได้
  2. สหรัฐอเมริกามีเหตุผลไม่เพียงพอในการประกาศทำสงคราม
  3. สงครามครั้งนี้เป็นสงครามร้อนที่เกิดขึ้นในสงครามเย็น
  4. เป็นสงครามที่ทำให้บทบาทของสื่อมวลชนเด่นชัดมาก ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในสงครามโดยผ่านสื่อมวลชนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  5. เป็นสงครามที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศสหรัฐอเมริกาในเชิง เศรษฐกิจ (เศรษฐกิจตกต่ำด้วยผลของสงครามอย่างรุนแรง) การเมือง (มีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเมือง) วัฒนธรรม (วัฒนธรรมของอเมริกันมีการเปลี่ยนแปลงหลังสงครามเวียดนามอย่างมโหฬาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ความรู้สึกของคนอเมริกันที่ไม่เคยรู้จักความพ่ายแพ้มา ก่อน)
สงครามเวียดนามมีต้นกำเนิดอันยาวนาน โดยเราคงจำกันได้ว่าดินแดนส่วนนี้เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองดินแดนอินโดจีนได้ ทำให้อิทธิพลของฝรั่งเศสหายไปชั่วคราว ในขณะนั้นเองที่กลุ่มชาตินิยมเวียดนามได้ก่อกำเนิดขึ้นมา กลุ่มขาตินิยมเวียดนามนี้แน่นอนว่าต้องการเรียกร้องเอกราชให้กับประเทศ ผู้นำของขบวนการนี้คือ ลุงโฮเจ้าเก่า โฮจิมินห์ ของเรานั่นเอง
โฮจิมินห์และกลุ่มชาตินิยมเวียดนามได้เข้ารบต่อต้านญี่ปุ่นอย่างห้าวหาญ โดยใช้ยุทธิวิธีกองโจร ประเภท ตีแล้ววิ่งหนี ฯลฯ
ในที่สุดเมื่อญี่ปุ่นถอนกำลังออกจากอินโดจีนในปี ค.ศ.1945 ลุงโฮก็ได้ประกาศอิสรภาพให้แก่เวียดนาม อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสยอมไม่ได้ และพยายามเข้ามาครอบครองเวียดนามอีกครั้ง ลุงโฮก็ใช้วิธีการที่เคยรบกับญี่ปุ่น ในการเข้าต่อสู้กับเวียดนาม ในที่สุดการรบก็ยืดเยื้อมาถึงปี ค.ศ.1954 ประเทศจึงแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เวียดนามเหนือ อยู่ภายใต้การปกครองของลุงโฮ และเวียดนามใต้ ภายใต้การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
สาเหตุหลักที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาในสงครามนี้ และสนับสนุนฝรั่งเศสตั้งแต่ตอนแรกเพราะสหรัฐอเมริกามองว่า โฮจิมินห์เป็นคอมมิวนิสต์สหรัฐอเมริกามองการเรียกร้องเพื่อเอกราชของโฮจิ มินห์ว่าเป็นขบวนการหนึ่งในขบวนการขยายอิทธิพลของพวกคอมมิวนิสต์ ที่แท้จริงแล้วลุงโฮแกต้องการขับไล่พวกคนต่างชาติให้ออกไปจากบ้านเกิดเมือง นอนของเขาเท่านั้นเอง
ตลอดช่วงทศวรรษที่ 1950 ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกากำหนดนโยบายต่างประเทศโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานทฤษฎีทางความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศทฤษฎีหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือ ทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) เราคงเคยเล่นโดมิโนกันแล้วว่า ถ้าเราใช้นิ้วดีดตัวโดมิโนตัวหนึ่ง ตัวโดมิโนตัวอื่นๆ จะล้มทับกันระเนระนาดไปหมด สหรัฐอเมริกาก็มองว่า การล้มตัวของโดมิโนก็คือการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้หากมีรัฐใดรัฐหนึ่งในเอเชียกลายไปเป็นคอมมิวนิสต์ รัฐอื่นๆ ที่เหลือก็จะต้องตกไปเป็นคอมมิวนิสต์กันจนหมด ลองย้อนกลับไปดูนโยบายคอมเทนเม้นท์ของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาจึงต้องทำทุกอย่างที่จะคอนเทนให้คอมมิวนิสต์ไม่ขยายตัวออกไป มากกว่านี้
ในปี ค.ศ.1954 สหรัฐอเมริกาและประเทศบางประเทศในเอเชีย ได้รวมหัวกันก่อตั้ง SEATO เป็นองค์การที่เกิดขึ้นคล้ายๆ NATO ในยุโรปนั่นเอง ในช่วงนี้เองที่สหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญกับสงครามเวียดนาม ออกเงินและใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อที่จะทำให้เวียดนามใต้ไม่เป็น คอมมิวนิสต์
แต่เวียดนามใต้ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยดีเด่อะไรเหมือนที่สหรัฐอเมริกาทุ่ม ทุนสร้าง รัฐบาลของเวียดนามใต้เป็นรัฐบาลที่ห่วยแตกคอร์รัปชั่น และไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ด้วยเหตุนี้ในประเทศเวียดนามใต้เองจึงได้เกิดกลุ่มต่อต้านรัฐบาลตัวเอง (National Liberation Front) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เวียดกง พวกนี้ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนเวียดนามใต้เอง และได้รับการสนับสนุนจากลุงโฮที่เวียดนามเหนือด้วย ในไม่ช้าก็เกิดชบวนการต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นเต็มเวียดนามใต้ไปหมด
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเคเนดี้ได้เพิ่มกำลังทหารสหรัฐในเวียดนามใต้เป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะช่วยรัฐบาลเวียดนามใต้ต่อต้านพวกเวียดกง กลายเป็นว่ากองกำลังทหารของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามใต้เพิ่มจำนวนขึ้นมากมาย แต่ก็ไม่สามารถต้านทานการกบฏของพวกเวียดกงได้ พวกเวียดกงแอบทำลายเป้าหมายทางการทหารของสหรัฐอเมริกาในยามที่ไม่รู้ตัว จนในที่สุดในปี ค.ศ.1964 เรือรบลำหนึ่งของสหรัฐอเมริกาก็ถูกกระตุกหนวดเสือจากเรือรบเล็กๆ ของเวียดนามเหนือ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นคือ นายจอห์นสัน ก็ได้ประกาศสงคราม ในปี ค.ศ.1965 จอห์นสันได้สั่งให้ US Marines เคลื่อนฐานทัพเข้าไปในดานังและสงครามเวียดนามก็ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่นั้นเป็น ต้นมา
ซึ่งผลของสงครามก็อย่างที่ได้แอบเฉลยไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า สหรัฐอเมริกาพ่ายแพ้ย่อยยับ เราอาจจะประมวลได้เบื้องต้นว่า สาเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกาพ่ายแพ้สงครามครั้งนี้มีดังนี้
  1. นโยบายของสหรัฐอเมริกาอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีโดมิโนและหลักการคอมเท นเม้นท์ ซึ่งสหรัฐอเมริกายึดถืออย่างหัวปักหัวปำกับทฤษฎีโดมิโน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าถูกหรือผิด
  2. นโยบายของสหรัฐอเมริกาเป็นนโยบายที่ไม่ชัดเจน จอห์นสันและเคเนดี้ไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้แน่นอนว่า อะไรเป็นวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในสงครามเวียดนาม
  3. ประชาชนชาวเวียดนามใต้ไม่ได้รักรัฐบาลของตัวเอง เพราะรัฐบาลนี้มีปัญหากับประชาชนในเรื่องศาสนา, การคอร์รัปชั่น และการตามก้นสหรัฐอเมริกาต้อยๆ
  4. กองทัพของสหรัฐอเมริกาไม่ได้มารบในครั้งนี้ด้วยหัวใจ เหมือนทหารเวียดกงที่ไม่มีอะไรจะสูญเสียแล้ว นอกจากชีวิต
  5. พันธมิตรของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้ความช่วยเหลือในสงครามครั้งนี้อย่างเพียงพอ แม้แต่ประชาชนชาวอเมริกาเองยังต่อต้านสงครามครั้งนี้
การแข่งขันกันสะสมอาวุธ
                สิ่งที่น่าตื่นเต้นอีกอย่างหนึ่งของ สงครามเย็นคือการแย่งกันสะสมอาวุธ ในช่วงสงครามเย็นนี้การสร้างและการสะสมอาวุธที่มีการทำลายล้างสูง ซึ่งทำให้เกิดผลทางด้านจิตวิทยาทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธของทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตมีลักษณะของการ ทำลายล้างกันหมดทั้งสองฝ่าย (Mutually Assured Destruction) หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า MAD เป็นหลักการที่สองชาติมีพลังอำนาจที่จะลบล้างกันให้สิ้นซาก ณ ช่วงเวลาที่ทำสงครามกันเลย ทฤษฎีนี้ขึ้นอยู่กับประเด็นดังต่อไปนี้
  1. ชาติทั้งสองชาติมีพลังอาวุธมหาศาล
  2. ทั้งสองชาติสามารถตรวจพบอาวุธของแต่ละฝ่ายได้ ตั้งแต่มีการปล่อยจรวด
  3. ชาติทั้งสองสามารถใช้กำลังอาวุธโต้ตอบกันได้ในช่วงกระพริบตา
คล้ายๆ กับว่า หากประธานาธิบดีสหรัฐ เริ่มกดปุ่มอาวุธในวินาทีที่ 1 สหภาพโซเวียตจะตรวจจับได้ในวินาทีที่ 2 และจะเริ่มกดปุ่มในวินาทีที่ 3 เห็นได้ว่าภายในช่วงดีดนิ้วดังเป๊าะนั้น ทั้งสองฝ่ายอาจจะทำร้ายกันเองจนราบคาบเป็นหน้ากลอง
สาเหตุที่ทั้งสองชาติสามารถทำเช่นนี้ได้ ด้วยการพัฒนาของขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile – ICBM) เป็นจุดเริ่มต้นของ MAD หรือ การทำลายกันหมดทั้งสองฝ่าย
จุดมุ่งหมายในการพัฒนา ICBM ก็คือ ความพยายามที่จะลดช่วงเวลาที่จะโต้ตอบอาวุธนิวเคลียร์ของอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ ทำอย่างไรให้โต้ตอบให้เร็วที่สุด เราลองมาคิดดูใหม่ ว่าจะมีวิธีการใดที่จะทำได้บ้าง
วิธีแรกที่นำมาใช้ก็คือ เล่นง่ายๆ แค่พยายามวางอาวุธไว้ใกล้บ้านของอีกฝ่ายหนึ่งให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้สหรัฐอเมริกาจึงไปวางระเบิดที่ตุรกีและกรีก และสหรัฐอเมริกาก็ไม่วางระเบิดที่คิวบาซึ่งก็อย่างที่เราทราบกันแล้วว่า สุดท้ายก็ปอดแหก แพ้ใจตัวเองรีบถอนไปทั้งคู่
ส่วนวิธีการที่สองก็ทันสมัยขึ้นมาอีกนิด ได้แก่ การสร้างขีปนาวุธใต้น้ำ (Submarine Launched Ballistic Missile – SLBM) หมายความว่าขีปนาวุธจะถูกยิงมาจากเรือดำน้ำที่ไหนในโลกก็ไม่รู้ที่ไม่มีใคร สามารถตรวจจบได้ เพียงระยะเวลาไม่กี่นาที ขีปนาวุธก็จะถล่มเป้าหมายได้ โดยที่ไม่มีใครทราบว่ายิงมาจากทางไหน ถือว่าเป็นวิทยาการสุดยอดหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาได้ในยุคสงครามเย็น
นอกจากนี้ยังมีวิธีการที่สาม ได้แก่วิธีการสอดแนมซึ่งเป็นวิธีการของพวกสปาย (Spy) ตอนแรกที่อเมริกันทำก็คือ ส่งเครื่องบินอเมริกันขึ้นไปบินเหนือโซเวียต และแอบถ่ายรูปสถานที่ติดตั้งจรวดมิซไซล์ของโซเวียตต่อมา ซึ่งวิธีการนี้ไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไหร่ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงใหม่ๆ เครื่องบินสอดแนมของ U2 ของอเมริกันถูกยิงร่วงคาฟ้า ตอนที่พยายามสอดแนมโซเวียต นักบินถูกจับกุมตัว และเครื่องบิน U2 ก็ถูกถอดออกเป็นชิ้นๆ เพื่อศึกษาเทคโนโลยี สหรัฐอเมริการีบพัฒนาอาวุธใหม่ทันที ได้แก่ SR-71 ซึ่งเป็นเครื่องบินสอดแนมความเร็วสูง ที่บินในชั้นบรรยากาศที่สูงกว่า U2 ในทางปฏิบัติ SR-71 ถูกใช้ในการบินในบริเวณชายขอบแดนโซเวียต และใช้กล้องถ่ายรูปชนิดซูมได้ใกล้สุดๆ มาถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ภายในสหภาพโซเวียต
เรื่องของบรรดาสปายยังไม่จบแค่นั้น เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วใช่ไหมว่า ดาวเทียมดวงแรกของโลกชื่อ สปุตนิก (Sputnik) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์มากสมัยนั้น ว่าเราสามารถต่อต้านกฎของนิวตัน แล้วส่งอะไรบางอย่างที่ผลิตโดยมนุษย์ขึ้นต้านทานแรงโน้มถ่วงของโลกขึ้นไปบน ชั้นบรรยากาศ เราเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมต้องพยายามส่งอะไรบางอย่างขึ้นไปบนอวกาศนั่นด้วย จริงๆ แล้เราอาจจะรู้มานานแล้วหรือเพิ่งรู้ตอนนี้ก็ไม่เป็นไร แต่สิ่งที่เป็นความจริงคือ สปุตนิกเป็นดาวเทียมสอดแนมดวงแรกของโลก ดาวเทียมเป็นวิธีการที่ดีมากในการสอดแนมประเทศอื่นๆ ในช่วงสงครามเย็น ทั้งนี้เราไม่สามารถยิงดาวเทียมได้แม้เราจะสงสัยว่ามันเป็นดาวเทียมสอดแนม เนื่องจากเป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้การที่ดาวเทียมลอยค้างฟ้าอยู่บนนั้น ทำให้ดาวเทียมสามารถถ่ายรูปของประเทศใดๆ ในโลกก็ได้ ด้วยเหตุนี้เครื่องบินสอดแนมจึงไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป ในเมื่อดาวเทียมสามารถถ่ายรูปอะไรบนโลกก็ได้ แม้แต่ป้ายทะเบียนรถของเราด้วยซ้ำไป
จะเห็นได้ว่าในที่สุดเทคโนโลยีในการทำลายกันหมดทั้งสองฝ่าย (MAD) ได้พัฒนาถึงขีดสุด ทำให้สงครามเย็นถูกอุ่นขึ้นมาเป็นระยะๆ และเกือบจะเป็นสงครามร้อนหลายต่อหลายครั้ง อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายคน โดยเฉพาะอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ได้กล่าวไว้ว่า การที่ไม่เคยเกิดสงครามร้อนแบบเบ็ดเสร็จขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพ โซเวียตนั้นเป็นเพราะว่า หากทำไปแล้วจะไม่คุ้มกันจริงๆ จังๆ หากเราเริ่มทำลายฝ่ายตรงข้าม ไม่นานเราก็จะถูกทำลายด้วย อาวุธนิวเคลียร์จึงถูกนำมาใช้ข่มขู่กันไปมาในยุคสงครามเย็น โดยไม่มีการนำมาใช้ทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างจริงๆ จังๆ
นอกจากการข่มขู่กันโดยการผลิตอาวุธนิวเคลียร์และการพยายามทดลองอาวุธดัง กล่าวแล้ว การพยายามพัฒนาอาวุธตามรูปแบบก็มีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาเรือดำน้ำพิฆาตที่สามารถทำลายอาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ได้ เครื่องบินพิฆาตต่างๆ ที่ถูกพัฒนามาเพื่อทำลายระเบิด หรือระบบต่อต้านขีปนาวุธ ในโครงการสตาร์วอร์ส (ชื่อได้มาจากหนังของจอร์จ ลูคัส) ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้ได้ใช้ทรัพยากรและงบประมาณของทั้งสองชาติมหาอำนาจเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งช่วงเวลาดังกล่าวถือได้ว่า กองทัพสหรัฐอเมริกาได้รับการอุดหนุนด้านงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งนี้เพื่อป้องกันความมั่นคงของประเทศชาติ
จะเห็นได้ว่าการขยายกำลังทางทหารนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อข่มขู่ให้อีกฝ่ายหนึ่งหวาดกลัว ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างพากันหัวหดกับการแอบถูกโจมตี การถูกสอดแนม และอื่นๆ ในช่วงเวลาอย่างนี้จึงน่าจะมีความพยายามบางอย่างที่จะลดความหวาดกลัวซึ่งกัน และกันนี้ให้ได้
1. การลดความตึงเครียด (Détante)
ปลายทศวรรษที่ 1960 สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้เผชิญปัญหาอย่างเดียวกันก็คือ จะทำอย่างไรดี จะชะลอความตึงเครียด หรือเพิ่มความตึงเครียดกันดี ในส่วนของการเพิ่มความตึงเครียดก็อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วคือ ความพยายามในการพัฒนาอาวุธและลดเวลาในการโต้ตอบซึ่งกันและกัน แต่ในช่วงสงครามเย็น ก็ได้มีความพยายามในการลดความตึงเครียดด้วย หากไม่เช่นนั้นแล้ว คงเกิดสงครามร้อนระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจไปนานแล้ว
ในปี ค.ศ.1969 สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีคนใหม่ทีเราจะต้องจำชื่อกันต่อไป ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) เป็นประธานาธิบดีที่มีนโยบายที่ต้องการลดความขัดแย้งระหว่างสองชาติมหาอำนาจ และยอมรับว่า สหภาพโซเวียตเป็นชาติมหาอำนาจที่มีศักยภาพในอาวุธนิวเคลียร์เทียบเท่าสหรัฐ อเมริกา
เมื่อนิกสันได้เป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ.1969 นั้น เขาได้ประกาศถอนกำลังอเมริกาจากสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นสงครามที่คร่าชีวิตชาวอเมริกาไปกว่า 30,000 คน ในขณะนั้นได้เกิดขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีนักศึกษาออกมาต่อต้านสงคราม จากความภาคภูมิใจที่เป็นโลกใหม่ของโลกที่ไม่เคยแพ้ใครมาก่อน กลายมาเป็นความเศร้าสลด อกหักทั้งชาติ อย่างที่เคยได้กล่าวไว้ว่าสงครามเวียดนามได้ทำให้สหรัฐอเมริกาเกิดการ เปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศอย่างมากมายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เมื่อนิกสันได้ถอนกำลังออกจากเวียดนามแล้ว เขาจึงหันไปลดความตึงเครียดกับสหภาพโซเวียต ในตอนนั้น ประธานาธิบดีในสหภาพโซเวียตได้แก่ เบรซเนฟ ก็ต้องการจะลดความตึงเครียดเช่นเดียวกัน การผ่อนคลายความตึงเครียดเริ่มต้นมาจากการที่นายวิลลี บรานท์ (Willy Brandt) ประธานาธิบดีเยอรมันตะวันตกได้ประกาศยอมรับการคงอยู่ของรัฐเยอรมันตะวันออก และเป็นประธานาธิบดีเยอรมันตะวันตกคนแรกที่เดินทางไปเยือนเยอรมันตะวันออก นอกจากนี้ยังไปเยือนมอสโควและโปแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองชาติอย่างที่ไม่เคยเป็น มาก่อน อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาแอบโมโหอยู่ลึกๆ เนื่องจากกลัวว่าเยอรมันตะวันตกกับตะวันออกจะกลับมากลายเป็นพวกเดียวกันอีก ครั้งหนึ่ง
การลดความตึงเครียดหรือ détante นี้มีความสำคัญมาก มันไม่ได้เป็นการที่สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตหันมาจูบปากจับมือกันอย่าง เดียวเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วใน détante นี้มีการแอบเล่นบทบาททางการทูตอยู่ด้วย ดาราในงานนี้ได้แก่ นาย เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) เป็นอีกชื่อหนึ่งที่เราต้องจำกันให้แม่นต่อจากนี้ไป คิสซิงเจอร์ เป็นนักการทูตที่มีความเฉลียวฉลาดและมีความสนิทสนมกับนิกสันมาก ทั้งสองคนมักจะแอบทำงานกัน 2 คน โดยไม่ได้ปรึกษาที่ปรึกษาคนอื่นสักเท่าไหร่ คิสซิงเจอร์ได้จัดการประชุมระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ทั้งนี้เพื่อต้องการให้จีนและโซเวียตช่วยสหรัฐอเมริกาในการถอนกำลังออกจาก เวียดนาม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะนำจีนเข้าสู่โต๊ะการทูตระหว่าง สหรัฐอเมริกาและโซเวียตซึ่งเคยเป็นตัวแสดงหลักในการเมืองโลกและวางแผนที่จะ ส่งนิกสันเข้าไปเยือนจีน อันเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างแก่โซเวียต ซึ่งตอนนั้นไม่ถูกกับจีน
กลับมาที่เสียดนามอีกที ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.1972 ปรากฏว่าเวียดนามเหนือเข้ายึดเวียดนามใต้ได้ นิกสันได้ตอบโต้โดยการส่งเครื่องบินเข้าไปบอมบ์เวียดนามเหนือ ตอนนั้นแทบจะเป็นการทำลายความพยายามลดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและ สหภาพโซเวียต แต่ในที่สุดก็ได้เกิดการเจรจาสุดยอด (summit) ขึ้นระหว่างสองชาติมหาอำนาจขึ้นจนได้ในเดือนพฤษภาคมในปีนั้น ในการประชุมดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องที่จะลดความตึงเครียดจากการสะสมอาวุธลง
ด้วยเหตุนี้ชาติมหาอำนาจทั้ง 2 คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเป็น 2 ชาติมหาอำนาจหลักที่มีความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์และความตึงเครียดจากการ แข่งขันกันสะสมอาวุธ
การสิ้นสุดของสงครามเย็น
หากการสร้างกำแพงเบอร์ลิน เป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็น การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี ค.ศ.1989 ก็เป็นสัญลักษณ์ของการจบสิ้นของสงครามเย็น อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ.1991 อันเป็นวันที่ประธานาธิบดี จอร์จ บุช ได้ประกาศระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ซึ่งเป็นคำประกาศถึงบทบาทของกฎหมายระหว่างประเทศ และเหนือสิ่งอื่นใด ระเบียบโลกใหม่จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากอำนาจที่ไร้การท้าทายของ สหรัฐอเมริกาที่สามารถรวบรวมประเทศสัมพันธมิตรเพื่อให้การสนับสนุนปฏิบัติ การพายุทะเลทราบ (Desert Storm) ของสหรัฐอเมริกาได้
อย่างไรก็ตามระเบียบโลกใหม่ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ง่ายอย่าง ที่สหรัฐอเมริกาคิด ภายหลังสงครามเย็นสหรัฐอเมริกาไม่สามารถกลายเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก ซึ่งสาเหตุดังกล่าวมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
การเมืองภายในของสหรัฐอเมริกา
หลังจากที่ประธานาธิบดีจอร์จ บุช ชนะสงครามนอกประเทศ แต่ประธานาธิบดีฯ ก็แพ้การเลือกตั้งในประเทศตัวเอง ให้กับนาย บิล คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต
พรรคเดโมแครตมีนโยบายการบริหารประเทศ และนโยบายการกำหนดบทบาททตัวเองในประชาคมโลกแตกต่างจากพรรครีพับบริกัน โดยพรรรคเดโมแครตจะเน้นการสร้างอาชีพในประเทศ การสนับสนุนแรงงานภายในประเทศ การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอันเอื้อประโยชน์แก่สหรัฐอเมริกา จึงเป็นนโยบายที่เน้นการให้ความสำคัญกับการกินดีอยู่ดีของประชากรภายใน ประเทศ
ด้วยเหตุนี้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสาธารณะที่กำหนดโดยรัฐบาลพรรคเดโมแครตนั้นไม่ได้ เอบทบาทการเป็นมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกา
การเมืองภายในของสหรัฐอเมริกาเป็นผลสะท้อนตัวของประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา รัฐสภาอเมริกัน ตลอดจนผู้บริหารประเทศที่ให้ความสนใจกับความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกาลด น้อยลง งานด้านต่างประเทศถูกลดลงทั้งบทบาทและเงินงบประมาณ กระทรวงการต่างประเทศ องค์กรข่าวสาร และข้อมูลลับไม่ได้รับการสนับสนุน และอุปกรณ์ต่างๆ ล้าสมัย ไม่มีการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ สถานทูตและสถานกงสุลของสหรัฐอเมริกาในประเทศต่างๆ ก็ไม่ได้รับงบประมาณเท่าที่เคยได้ในช่วงก่อนหน้านั้น กระทรวงการต่างประเทศสูญเสียบทบาทในการเป็นหน่วยงานหลักที่มีต่อรองกับหน่วย งานต่างๆ ทั่วโลก
ความรุ่งเรืองของเอเชียแปซิฟิก
ต้นทศวรรษที่ 1990 ถือเป็นศตวรรษของเอเชียแปซิฟิก ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับ 2 หน่วยติดต่อกันหลายปี ในช่วงเวลานี้เองที่เกิดความร่วมมือในลักษณะองค์การะหว่างประเทศเกิดขึ้นมาก มาย ไม่ว่าจะเป็น APEC, AFTA, NAFTA และ WTO ความสำเร็จของบรรษัทข้ามชาติในการลงทุนในประเทศต่างๆ แต่ท่ามกลางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจนี้ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน และประเด็นที่สหรัฐอเมริกาขัดขวางไม่ให้จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้า โลก
เอเชียแปซิฟิกภายหลัง Plaza Accord ในปี ค.ศ.1985 เป็นเอเชียแปซิฟิกที่ขยายตัวการลงทุนทางตรงโดยญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ทั้งจากผลิตผลมวลรวมประชากรที่สูงขึ้น และจากการปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันความรุ่งเรืองของเอเชียแปซิฟิกจะพิสูจน์ออกมาแล้วว่า อยู่บนระบบเศรษฐกิจแบบฟองสบู่
ในช่วงการจบสิ้นลงของสงครามเย็น บทบาทการขยายตัวของเอเชียแปซิฟิกในช่วงก่อนหน้านั้น จึงเป็นการท้าทายความเป็นมหาอำนาจเอกของสหรัฐอเมริกาและตรงไปตรงมาที่สุด
การรวมกลุ่มของสหภาพยุโรป
นอกจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วแล้ว ภูมิภาคอื่นๆ ของโลกโดยเฉพาะยุโรปก็มีการรวมตัวและกลายเป็นกลุ่มใหม่ที่ก้าวเข้ามาต่อรอง การเป็นมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกา ความแนบแน่นของประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป บวกกับการขยายตัวรองรับสมาชิกเข้ามาใหม่เรื่อยๆ ทำให้สหภาพยุโรปเพิ่มบทบาทในทางการเมืองและหารค้าระหว่างประเทศขึ้นมาท้าทาย บทบาทของสหรัฐอเมริกาในหารเป็นมหาอำนาจ
นอกจากนี้ การจบสิ้นของสงครามเย็นทำให้สหภาพยุโรปไม่ต้องกังวลถึงภัยคุกคามจากสหภาพ โซเวียตอีกต่อไป สหภาพโซเวียตเปลี่ยนแปลงจากภัยคุกคาม ไปเป็นโอกาสแห่งการลงทุนและการร่วมทุน ทำให้การตัดสินใจของสหภาพยุโรปจึงไม่จำเป็นต้องอิงผลประโยชน์ของสหรัฐ อเมริกาในขณะที่อาจจะเป็นการแข่งขันมากกว่าความร่วมมือด้วยซ้ำ
สรุป
                สงครามเย็นเป็นช่วงเวลา 50 ปีที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดช่วงหนึ่งของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความขัดแย้งในช่วงสงครามเย็นเป็นความขัดแย้งที่แปลกใหม่ในช่วงเวลาประวัติ ศาสตร์ โดยไม่เคยปรากฎมาก่อนเลยว่าจะเกิดมหาอำนาจที่มีพลังอำนาจเกือบใกล้เคียงกัน ขนาดนี้ โลกเราไม่เคยถูกแบ่งแยกเป็นขั้วอำนาจ 2 ฝ่ายที่มีพลังประจันหน้ากันเช่นนี้มาก่อน โลกทั้งโลกกลายเป็นสนามประลองของ 2 ชาติมหาอำนาจหลัก และทำให้คนหลายๆ ส่วนในโลกต้องเป็นเหยื่อกับภาวะสงครามตัวแทน (proxy wars)
สงครามเย็นเป็นสงครามที่เกิดขึ้นมาจากการปะทะกันระหว่างอุดมการณ์ 2 อุดมการณ์หลัก ได้แก่ อุดมการณ์ของตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาด กับอุดมการณ์ตะวันออกที่เน้นการควบคุมระบบเศรษฐกิจส่วนกลาง ความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์เกี่ยวกับตลาดนี่เองที่เป็นปัจจัยสำคัญอยู่ เบื้องหลังสงครามตลอดระยะเวลา 50 ปี


บทที่ 8 โครงสร้างแห่งอำนาจและดุลอำนาจ

บทที่ 8  โครงสร้างแห่งอำนาจและดุลอำนาจ
(Power Structure and Balance of Power)
อำนาจ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้ถูกนำมาศึกษาโดยเฉพาะในเรื่อง โครงสร้างแห่งอำนาจ (Power Structure) หมาย ความว่าเป็นการกระจายซึ่งอำนาจของเหล่าปะเทศมหาอำนาจทั้งหลายในโลก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รัฐที่มีพลังอำนาจน้อยกว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงแย่งชิงอำนาจของรัฐที่มีพลัง อำนาจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การชนะหรือแพ้ในสงคราม หรือการตัดสินใจของผู้นำของรัฐ ทั้งนี้โครงสร้างของอำนาจจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจุดยืนของรัฐต่างๆ ในระบบการเมืองระหว่างประเทศ ประเด็นต่างๆ ที่ได้ศึกษามาในหนังสือเล่มนี้ ขอให้ผู้อ่านสังเกตประเด็นต่อไปนี้ให้ดี
A การปฏิวัติฝรั่งเศส
B ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นมหาอำนาจ

Aการประชุมคองเกรสแห่งเวียนนา
Bปรัสเซียกลายเป็นมหาอำนาจระดับกลาง

Aสงครามไครเมีย
Bรัสเซียถอยห่างจากการควบคุมออตโตมัน

Aสงคราม Franco-Prussian
Bการขึ้นมาของเยอรมัน

Aสงครามโลกครั้งที่สอง
Bความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต
จะเห็นได้ว่า วิกฤติการณ์ในแต่ละสมัย (A) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของมหาอำนาจ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจโลกด้วย (B) ด้วยเหตุนี้การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้า ใจในโครงสร้างของอำนาจโลก
ตัวกำหนดความสำเร็จในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐหนึ่งๆ ก็คือ การที่รัฐนั้นได้ตั้งเป้าหมายในการดำเนินนโยบายให้สอดคล้องหรือขัดแย้งกับ โครงสร้างแห่งอำนาจของโลกแค่ไหน หากขัดกับโครงสร้างอำนาจของโลก รัฐนั้นสามารถรู้หลบรู้หลีกเพียงใด หากไม่เช่นนั้นก็เป็นเรื่องยากที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศให้ประสบความ สำเร็จ
นักทฤษฎีทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสายสัจนิยมโดยทั่วไปบอกว่า สิ่งที่อันตรายที่สุดในโลกอนาธิปไตยก็คือ การเกิดขึ้นของสงคราม แต่วิธีการที่จะจัดการกับสงครามก็คือ รัฐที่เป็นสมาชิกของสังคมระหว่างประเทศจะสามารถจัดการกับโครงสร้างของอำนาจ ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร
โดยแท้จริงแล้ว “อำนาจ” เป็นประเด็นหลักของการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เราไม่สามารถหาข้อสรุปอย่างเอกฉันท์เกี่ยวกับการให้คำจำกัดความของคำว่า “อำนาจ” บางคนมองว่า อำนาจ เป็นเรื่องการทหาร เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การทูต และความสามารถอื่นๆ ที่รัฐสามารถใช้ได้ ในขณะที่บางคนกลับมองว่าอำนาจไม่สามารถอธิบายในทางอื่นๆด้นอกจากจะต้อง เปรียบเทียบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียก่อน เช่น ถ้าเราจะพูดถึงอำนาจที่มหาศาลของสหรัฐอเมริกาได้ก็ต่อเมื่อนำไปเปรียบเทียบ กับมหาอำนาจของรัฐอื่นๆ แล้ว ด้วยเหตุนี้การทำความเข้าใจเรื่องของ “อำนาจ” ให้ง่ายขึ้นจึงจะต้องนำอำนาจเข้าไปศึกษาในโครงสร้างแห่งอำนาจ
ในการศึกษาเรื่องโครงสร้างแห่งอำนาจนั้น มีการมองว่าอำนาจมีความหมายอยู่ 2 ประการ ประการแรกคือการมองอำนาจว่าเป็นเรื่อง “คงที่” ซึ่งหมายความว่าอำนาจเป็นการวมกันของความสามารถต่างๆ ของรัฐ ไม่ว่าจะโดยการเปรียบเทียบกับรัฐอื่น หรือวัดอำนาจกันเพียงในรัฐนั้นๆ เท่านั้น ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงประการใด ประการที่สองคือการมองอำนาจว่าเป็นเรื่อง “เคลื่อนไหว” ซึ่งหมายความว่า อำนาจไม่สามารถมองได้เพียงว่าเป็นการรวมกันของความสามารถต่างๆ ของรัฐ แต่อำนาจนั้นจะวัดได้ก็ต่อเมื่อมันได้ถูกมองว่า 1.จะมีการใช้อำนาจ หรือจากการที่รัฐอื่นมองว่ารัฐนั้นจะใช้ความสามารถนั้นๆ และ 2.คือความสามารถในการควบคุมหรือมีอิทธิพลเหนือรัฐอื่น อำนาจระหว่างรัฐจึงสามารถวัดได้ก็ต่อเมื่อเข้าไปสังเกตความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐ และผลที่ออกมาจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ
การมองอำนาจในแบบที่ 2 เป็นการมองอำนาจที่คล้ายคลึงกับการศึกษาเรื่องโครงสร้างแห่งอำนาจของรัฐ
การวัดอำนาจ
จากการที่เราได้เห็นว่ามีการให้คำจำกัดความของคำว่าอำนาจอยู่แตกต่างกัน ทำให้แง่มุมของการวัดอำนาจแตกต่างกันไปด้วย ในกรณีที่มีคนให้คำจำกัดความของคำว่าอำนาจนั้นเป็นเรื่อง “คงที่” ก็จะสัดอำนาจกันด้วยเรื่องการทหาร เศรษฐกิจ และพลังความสามารถของรัฐด้านอื่นๆ ที่อยู่ในรัฐนั้นๆ โดยไม่ต้องดูว่ามีการใช้อำนาจนั้นๆ เกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่
อย่างไรก็ดีปัญหาของการวัดอำนาจก็จะเกิดขึ้นอยู่ดีว่า เราจะใช้หน่วยอะไรในการนับการวัดพลังอำนาจแต่ละด้าน เราจะให้หน่วยในการวัดอำนาจในเรื่องการทหารมากหรือน้อยกว่าอำนาจในเรื่อง เศรษฐกิจ และมากน้อยกว่ากันเท่าใด และเรื่องลักษณะทางภูมิศาสตร์ เทคโนโลยี หรือความสามารถทางการทูตจะถูกนำมาใช้ในการวัดอำนาจหรือไม่ แล้วเรื่องความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาตินั้นจะถูกนำมาใช้วัดใน เรื่องของพลังอำนาจบ้างหรือไม่
นักวิชาการหลายคนตระหนักว่าการวัดอำนาจในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ นักทฤษฎีอย่างเช่น A.F.K Organski มองว่ารายได้มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP เป็นเรื่องที่สำคัญในการนำมาวัดพลังอำนาจ ส่วน David Singer ก็ให้ความสำคัญกับพลังอำนาจทางการทหาร ความสามารถด้านอุตสาหกรรมและความสามารถของประชาชนภายในประเทศขึ้นแน่นอนว่า การให้ความสำคัญกับประเด็นใดก็ย่อมมีความสัมพันธ์กับลักษณะทางระบบโครงสร้าง ระหว่างประเทศในขณะนั้นๆ ด้วย
การวัดพลังอำนาจของแต่ละรัฐเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในการอธิบาย พฤติกรรมและแนวโน้มของรัฐต่างๆ ในระบบระหว่างประเทศซึ่งจะนำไปสู่สงครามและสันติภาพได้ ทั้งนี้ผู้นำของรัฐต่างๆ ก็ต้องพยายามวัดพลังอำนาจของรัฐคู่กรณี ก่อนที่จะนำไปสู่การริเริ่มสงครามระหว่างรัฐ โดยเมซิตา Bueno de Mesquita ได้ทำการวิจัยไว้แล้วพบว่า ระหว่างประมาณปี 1816-1974 ประเทศที่เป็นผู้ก่อสงครามถึง 83% เป็นประเทศที่ชนะสงคราม นั่นแสดงว่าประเทศผู้ก่อสงครามได้มีความพยายามวัดพลังอำนาจของรัฐคู่กรณี และเห็นแนวโน้มที่จะชนะสงคราม จึงริเริ่มทำสงครามขึ้นมา
สงคราม Franco Prussian เป็นสงครามที่แสดงให้เห็นเกี่ยวกับความสำคัญของประเด็นในข้อดังกล่าว เนื่องจากในขณะนั้นบิสมาร์กคิดคำนวณแล้วว่า หากเกิดสงครามในช่วงนั้น บิสมาร์กต้องชนะแน่ เขาจึงพยายามทุกอย่างเพื่อให้เกิดสงคราม และเมื่อเกิดสงครามแล้วผลที่ได้ก็คืออำนาจของฝรั่งเศสลดลง และปรัสเซียสามารถรวมชาติเยอรมันได้
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า การคิดคำนวณนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกเสมอไป การตัดสินใจของเยอรมันในการทำสงครามโลกครั้งที่ 1 และการตัดสินใจของญี่ปุ่นในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ได้ผ่านการตัดสินใจอย่างระมัดระวังแล้ว แต่ที่ผิดคาดและกลับมาเป็นผู้แพ้ทั้งๆ ที่เป็นผู้ริเริ่มสงคราม สาเหตุที่เป็นดังนั้นคือการขาดการวิเคราะห์ในบางเรื่อง เช่น ความยืดเยื้อของสงคราม และการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา
เพื่อที่จะทำความเข้าใจเรื่องโครงสร้างแห่งอำนาจได้ง่ายขึ้นจะขอยกแนวคิด ของนักคิดในสาย neo-realism ซึ่งมองว่ามองว่า ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงต่างๆ เป็นระบบขั้วอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นระบบหลาบขั้วอำนาจใน Concert of Europe ที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ตลอดจน ระบบสองขั้นอำนาจในช่วงสงครามเย็น หรือระบบขั้วอำนาจเดียว ในกรณีที่มีประเทศมหาอำนาจในโลกเพียง 1 ประเทศ เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีการวัดระดับขั้วอำนาจนั้นสามารถทำได้โดยการดูจากจำนวนของชาติ มหาอำนาจในระบบ หรือบางคนอาจจะให้ความสำคัญกับคำว่าระบบเป็นเพียงการแบ่งแยกการปกครอง เช่น ประชาธิปไตย เผด็จการ หรือฟาสซิสต์ บางคนอาจจะมองว่าระบบเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม อย่างไรก็แล้วแต่
วิธีการมองโครงสร้างแห่งอำนาจมี 2 วิธีการได้แก่
1. โครงสร้างแห่งอำนาจในฐานะที่เป็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
นักทฤษฎีที่ศึกษาเรื่องอำนาจในกระแสดั้งเดิมให้ความสนใจโครงสร้างแห่ง อำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของการกระจายอำนาจโดยเปรียบเทียบระหว่างรัฐกับ พันธมิตร โดยการศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมระหว่างรัฐ และความเป็นไปได้ในการเกิดสงครามอย่างไร เช่นภายหลังสงครามฟรังโก-ปรัสเซียน ที่เมื่อจบสงครามลงแล้ว รัฐเยอรมันรวมตัวกันได้กลายเป็นมหาอำนาจในภาคพื้นยุโรป ทำให้ชาติอื่นๆ ที่เป็นมหาอำนาจในขณะนั้น เช่น อังกฤษ และรัสเซีย มีปฏิกิริยาอย่างไร และมีแนวโน้มที่จะเกิดสงครามระหว่างชาติต่างๆ นั้นหรือไม่
ในปัจจุบันนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องอำนาจ ได้เพิ่มการศึกษาโครงสร้างแห่งอำนาจเป็นเรื่องของการมีความสัมพันธ์ซึ่งกัน และกันมากขึ้น เช่น รัมเมล (Rudolph J. Rummel) และแม็คคลีแลนด์ (Charles A. McClelland) ซึ่งเขียนขึ้นมาในทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ซึ่งเป็นช่วงรุ่งเรืองของแนวคิดแบบพฤติกรรมศาสตร์ ในงานของรัมเมลชื่อ มิติต่างๆ ของรัฐ (Dimansionally of Nations – DON) เขาได้พยายามศึกษาอธิบายและทำนายพฤติกรรมหลายๆ รัฐ โดยใช้เครื่องมือทางสถิติในการเก็บข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์ ซึ่งในการศึกษาครั้งหนึ่งได้มีตัวแปรที่จะต้องนำมาวิเคราะห์ในงานชิ้นนี้ถึง 94 ตัว ไม่ว่าจะเป็นพลังทางการทหาร ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความรวมมือระหว่างประเทศ ลัทธิอาณานิคม การติดต่อสื่อสาร และองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งได้ใช้เป็นตัวแปรพื้นฐานในการวิเคราะห์ประเทศต่างๆ ถึง 82 ประเทศ ซึ่งได้ทำให้รัมเมลได้ข้อสรุป 2 ประการจากงานวิจัยของเขาคือ
1. ความขัดแย้งมักจะไม่ได้เกิดจากการที่รัฐใดรัฐหนึ่งเพิ่มระดับความสัมพันธ์ต่างประเทศ กับรัฐอื่น
2. ความขัดแย้งระหว่างรัฐเริ่มต้นที่ภายนอกรัฐ ไม่ได้มาจากการเมืองภายในประเทศ
2. โครงสร้างของอำนาจในฐานะที่เป็นระบบอนาธิปไตย
นักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายคนให้ความสนใจศึกษาโครงสร้างของ อำนาจในฐานะที่เป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอนาธิปไตย ซึ่งเป็นโครงสร้างในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ผู้ตัดสินนโยบายจำเป็นจะ ต้องให้ความสนใจ เราจะเห็นได้ว่าระบบอนาธิปไตยซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติในความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศนี้เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ประเทศต่างๆ มีความสัมพันธ์ต่อกันด้วยความไม่ไว้วางใจ ตลอดจนเป็นการสร้างความขัดแย้งซึ่งกันและกัน
คำว่าอนาธิปไตย ที่โดยทั่วไปแล้วทำให้เกิดภาพลักษณ์ของการใช้ความรุนแรง ทำลายล้าง และความวุ่นวาย แต่สำหรับพวกสัจนิยมคำว่าอนาธิปไตยหมายความถึงระบบหนึ่งที่ต่างจากระบบการ เมืองภายในประเทศ เพราะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (ในฐานะที่เป็นตัวแสดงในระบบ) และในระบบนี้จะพบได้ว่าไม่มีอำนาจใดๆ เหนือรัฐ รัฐทุกรัฐมีสภาพเป็นอธิปัตย์ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้รัฐทุกรัฐสามารถอ้างสิทธิในการเป็นเอกราชและปราศจากการแทรกแซง ของรัฐอื่น และก็อ้างสิทธิในการใช้อำนาจอย่างสมบูรณ์เหนือขอบดินแดนตน ถึงแม้ว่ารัฐต่างๆ จะมีความเห็นแตกต่างในด้านปัจจัยเรื่องอำนาจกันบ้างก็ตาม
ในการทำความเข้าใจกับคำว่าอนาธิปไตย เราจะต้องเห็นความแตกต่างระหว่างคำว่า “อิทธิพล” (authority) และ “อำนาจ” (power) ก่อนเพราะในระบบอนาธิปไตยนั้น มันเป็นไปได้ที่แต่ละประเทศจะมี “อำนาจ” ไม่เท่าหัน แต่เป็นไปไม่ได้ที่รัฐใดจะมี “อิทธิพล” เหนือกันและกัน หมายความว่าถึงแม้ว่ารัฐต่างๆ มีอำนาจไม่เท่ากัน แต่ไม่มีรัฐใดมีอิทธิพลบังคับบงการเหนือรัฐอื่นๆ (อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี)
อนาธิปไตยจึงเป็นลักษณะของสภาพแวดล้อมที่รัฐอธิปไตยทุกรัฐเข้ามาติดต่อ สัมพันธ์กัน และเมื่อไม่มีอำนาจสูงสุด จึงมีโอกาสง่ายมากที่จะเกิดความรุนแรงและสงครามระหว่างประเทศ (ซึ่งต่างกับสภาพสังคมภายในรัฐที่จะมีผู้ใช้อำนาจรัฐ คอยห้ามปรามการใช้กำลังต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น) และถึงแม้ว่าจะมีช่วงเวลาของสันติภาพและความมั่นคงในระบบระหว่างประเทศกับ เขาด้วยเหมือนกัน แต่พวก realism ก็มองว่า การขาดหายไปของอำนาจที่เหนือกว่า หรือศูนย์กลางของอิทธิพลเหนือรัฐทุกรัฐ (ตัวอย่างเช่นรัฐบาลโลก ที่มีอิทธิพลที่จะสร้างกฎและควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกฎ) เป็นสิ่งที่มีความแตกต่างจากสังคมภายในประเทศที่มีรัฐบาลของทุกประเทศทำ หน้าที่นั้นแล้ว
ด้วยเหตุนี้การขาดหายไปซึ่งศูนย์กลางของอิทธิพล (อนาธิปไตย) นั่นเองเป็นตัวช่วยอธิบายว่า เพราะเหตุใดรัฐจึงต้องพึ่งพาอำนาจ และขวนขวายอำนาจเพิ่มเติมโดยเปรียบเทียบกับรัฐอื่นๆ อยู่เสมอ (ถ้าเป็นสังคมภายในประเทศ บุคคลทุกคนไม่จำเป็นต้องพกปืน เพราะมีตำรวจ แต่ในทางสังคมระหว่างประเทศ ทุกรัฐจะต้องพกปืน เพราะไม่มีใครเป็นตำรวจโลก อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี) นั่นเป็นเพราะว่าในทางหนึ่ง สภาวะอนาธิปไตยมักจะเป็นสิ่งที่มาคู่กับการที่รัฐต่างๆ ไม่ใช้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งในสภาวะแวดล้อมดังกล่าว รัฐทุกรัฐต้องประสบกับสถานการณ์ที่ต้องพึ่งพาตัวเอง (Self-Help) เพราะไม่สามารถพึ่งพาประเทศอื่นๆ ในเรื่องความมั่นคงของประเทศตัวเองได้ ในสังคมระหว่างประเทศ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่โดนหักหลังหากเราต้องฝากความมั่นคงของประเทศเรา ไว้กับประเทศอื่นที่คิดว่าตัวเองเป็นตำรวจโลก ก็เหมือนที่ ฮอบส์ได้พูดไว้เกี่ยวกับความไม่ไว้วางใจกันของหน่วยงานต่างๆ ในสังคมเมื่ออยู่ในสภาวะอนาธิปไตย หรือเหมือนที่ตูซีดีดิสได้กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า ชาวเอเธนส์ได้แนะนำกันเองว่า “อย่าฝากความหวังในเรื่องความมั่นคงไว้กับรัฐสปาร์ตาและพันธมิตร”
ในเมื่อสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสถานการณ์ที่เป็น อนาธิปไตย รัฐจึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “security dilemma” ซึ่งพอจะแปลได้ว่า “สภาพความมั่นคงที่จะทำให้เกิดความไม่มั่นคง” การที่รัฐใดรัฐหนึ่งพยายามที่จะปกป้องความมั่นคงของตัวเองโดยการสะสมอาวุธ โดยไม่ได้มีความคิดที่จะสะสมอาวุธไปเพื่อรุกรานรัฐอื่น แต่สภาวะ dilemma นั้นจะเกิดขึ้นแม้รัฐนั้นจะมีความจริงใจที่จะสะสมอาวุธไปเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ลองคิดว่ารัฐอื่นๆ จะคิดว่าอย่างไร ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งริเริ่มสะสมอาวุธไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ที่สรรหา มาอ้าง รัฐอื่นๆ ก็จะมองนโยบายดังกล่าวด้วยความไม่เป็นมิตร และกล่าวหาว่านั่นคือภัยคุกคาม และพยายามจะแข่งขันกันสะสมอาวุธ ในที่สุดอาจจะนำพามาสู่ความไม่มั่นคงขนาดทำให้เกิดสงครามได้ในที่สุด ในที่นี้จึงสรุปได้ว่า security dilemma คือสถานการณ์ที่รัฐใดรัฐหนึ่งพยายามจะรักษาความมั่นคงให้กับตัวเอง แต่ในที่สุดแล้วรัฐนั้นกับไม่มั่นคง (เพราะรัฐอื่นๆ ต่างก็ต้องการรักษาความมั่นคงของตัวเองเช่นเดียวกัน)
ตัวอย่างของ security dilemma เช่น ความพยายามของรัฐกรีกในอันที่จะปกป้องตัวเองจากการรุกรานของเปอร์เซียด้วย การเริ่มสะสางกองกำลังสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ (สงครามเพโลพอนนีเซียน) แต่กลับกลายเป็นว่าการเพิ่มสมรรถภาพทางการทหารของเอเธนส์ถูกมองจาก สปาร์ตาที่เป็นรัฐที่เข้มแข็งทางการทหารที่สุดในขณะนั้นว่าเป็นการคุกคาม จนนำไปสู่ความกระทบหระทั่งถึงขั้นสงคราม กลายเป็นสงครามเพโลโพนีเซียน ในที่สุด
อย่างไรก็ตามยังมีการถกเถียงในแวดวงวิชาการอยู่ว่า เราควรจะวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยให้น้ำหนักกับสภาวะแวดล้อม แบบอนาธิปไตยนี้ในฐานะที่เป็นปัจจัยอันทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ ได้อย่างไร พวก realism บางกลุ่มที่เรียกว่า defensive realism มองว่า ปัจจัยที่นำไปสู่สงครามนั้นบางครั้งเกิดมาจากปัจจัยภายในประเทศมากกว่า ปัจจัยระหว่างประเทศ ซึ่งหมายความว่า สภาวะที่จะเกิดสงครามขึ้นหรือไม่นั้นเกิดจากปัจจัยภายในประเทศมากกว่าปัจจัย ระหว่างประเทศ โดยสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่เป็นแบบอนาธิปไตยเป็นเพียงการให้ “โอกาส” ที่ สงคราม “น่าจะเกิดขึ้นได้” เท่านั้น ในขณะที่ realist บางกลุ่มก็จะให้ความสำคัญกับสังคมอนาธิปไตยว่าเป็นที่มาสำคัญของการใช้อำนาจ ระหว่างประเทศ
อนาธิปไตยอันเอื้อให้เกิดระบบการป้องกันตัวเองนี้เอง ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศอาจจะเกิดขึ้นได้ยากลำบาก เพราะรัฐต่างต้องการแสวงหาความมั่นคง หรือมีวิธการใดไหมที่ความร่วมมือระหว่างประเทศอาจจะก่อกำเนิดขึ้นได้ซึ่งทำ ให้เกิดการศึกษาทฤษฎีเกม (Game Theory) ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาว่าภายใต้สภาวะหนึ่งๆ รัฐจะกำหนดนโยบายต่างประเทศอย่างไรให้เกิดผลประโยชน์แห่งชาติมากที่สุด
พวกนักสัจนิยมใหม่หรือ neorealism มองรัฐแต่ละรัฐว่า นอกจากจะเป็นตัวแสดงที่มีเหตุผลและเป็นอันหนึ่งอันเดียวแล้ว ในบางครั้งรัฐยังสนใจเรื่องการได้ประโยชน์ โดยเปรียบเทียบ (relation) หรือการได้ประโยชน์โดยสมบูรณ์ (absolute) หมายความว่าอย่างไร
หากรัฐใดรัฐหนึ่งต้องการได้ประโยชน์โดยสัมบูรณ์นั้นหมายความว่า พวกเขาจะไม่สนใจรัฐอื่นว่าจะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด สำหรับพวกสัมบูรณ์แล้วเขาจะมองว่า “ตราบใดที่ผมได้รับประโยชน์ ผมก็ไม่สนใจว่าคนอื่นจะเพิ่มกองกำลังของตัวเอง หรือได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มแต่อย่างใด” แต่ในกรณีของพวกโดยเปรียบเทียบนั้นเขาจะมองว่า หากพวกเขาได้รับผลประโยชน์อะไรบางอย่างพวกเขาก็ยังไม่สนใจ จนกระทั่งได้เปรียบเทียบกับชาวบ้านว่า พวกเขาได้รับผลประโยชน์มากกว่าชาวบ้านหรือเปล่าเท่านั้นจึงจะพอใจ ซึ่งข้อสมมติฐานที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความพอใจของรัฐนี้เอง อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือความร่วมมือระหว่างประเทศขึ้นก็ได้ สำหรับพวก neorealism นี้เองจึงมีความคิดเห็นว่า สมมติฐานแบบ “โดยเปรียบเทียบ” อาจจะทำให้เกิดสงครามมากกว่าแบบ “โดยสัมบูรณ์”
ดุลแห่งอำนาจ
จากที่ได้เริ่มต้นการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า อยู่บนพื้นฐานของระบบรัฐแบบอนาธิปไตย ที่ต่างฝ่ายต่างต้องพยายามรักษาความมั่นคงของประเทศตัวเองไว้ด้วยตัวเอง อันนำมาซึ่งระบบ security dilemma แล้วนั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีอยู่ 2 วิธีการที่ระบบระหว่างประเทศสามารถรักษาความมั่นคงไว้ได้ คือ
1. แนวคิดของกรอติอุส และพวกสำนักอังกฤษ (English School) ที่มองว่าจะต้องมีการพัฒนาระหว่างประเทศให้กลายเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ และ
2. แนวคิดที่จะรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศด้วยการรักษาดุลของอำนาจด้วยการ ผ่อนและดึง เมื่อพบว่าดุลแห่งอำนาจในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสูญเสียไป เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งพยายามทำลายดุลแห่งอำนาจที่มีอยู่
หนังสือเล่มนี้พยายามจะแสดงให้เห็นว่า ควรจะพยายามรักษาดุลแห่งอำนาจ เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงระหว่างประเทศขึ้นมาให้ได้ แต่มีปัญหาประการต่อมาที่จะต้องทำความเข้าใจอยู่สองประการคือ 1.ดุลแห่งอำนาจนี้เกิดขึ้นได้เองหรือมีใครทำให้มันเกิดขึ้น และ 2.ดุลอำนาจแบบใดจึงจะสามารถรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศได้มากกว่ากัน
สำหรับคำถามข้อแรกมีแนวคำตอบในปัญหานี้มีอยู่สองฝ่าย ฝ่ายแรกได้แก่ Henry Kissinger และ  ฝ่ายที่สองคือ Kenneth Waltz
Kissinger มองว่า ดุลแห่งอำนาจเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่ดุลแห่งอำนาจเป็นความตั้งใจของชาติต่างๆ ที่จะทำให้เกิดขึ้น (voluntarism) โดยการกำหนดของรัฐหรือผู้กำหนดนโยบายของรัฐ สภาวะของดุลอำนาจที่กำเนิดเกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นระบบสองขั้วอำนาจ หลายขั้วอำนาจหรือขั้วอำนาจเดียว จึงเกิดความตั้งใจของผู้กำหนดนโยบายในอันที่จะทำให้สังคมระหว่างประเทศเป็น เช่นนั้น แต่ความตั้งใจดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นความตั้งใจโดยอิสระเสียทีเดียว ยังคงตั้งอยู่บนโครงสร้างบางประการ เช่น เรื่องประเด็นปัญหา หรือ ความตั้งใจของรัฐอื่น และข้อจำกัดทางด้านอำนาจของรัฐที่กำหนดนโยบายต่างๆ เป็นต้น เช่นในช่วงคองเกรส (Congress of Vienna) ที่ชาติมหาอำนาจพยายามมาตกลงกันเขียนแผนที่ยุโรปเสียใหม่ เพื่อที่จะรักษาดุลอำนาจหลังสงครามนโปเลียนไว้ให้ได้
ในขณะที่ Waltz กลับมองว่า ระบบดุลแห่งอำนาจจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้มาจากความสมัครใจของรัฐใดรัฐหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ว่ารัฐจะเป็นตัวแสดงที่มีเหตุมีผลและเป็นอันหนึ่งอันเดียวที่ต้อง การจะใช้ความสามารถทั้งหมดในการหามาซึ่งประโยชน์แห่งชาติ แต่รัฐไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องกำหนดนโยบายต่างประเทศท่ามกลางสภาวะ อันวุ่นวายสับสนและไม่สามารถคาดเดาได้ของระบบการเมืองระหว่างประเทศรัฐทั้ง หลายต้องการรักษาระบบระหว่างประเทศให้เป็นไปในรูปแบบที่อำนาจของชาติต่างๆ เข้าสู่สภาวะสมดุล (equilibrium) มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยเหตุนี้เมื่อมีรัฐใดรัฐหนึ่งพยายามที่จะ ครอบงำหรือแสดงอิทธิพลขึ้นมากจนทำลายระบบที่เป็นอยู่ รัฐอื่นๆ จะร่วมมือกันโดยไม่ได้นัดหมายที่จะต้องทำให้ดุลแห่งอำนาจกลับหลายเป็นรูปแบบ ที่สมดุลเหมือนเดิม
ภาพลักษณ์ของดุลแห่งอำนาจจึงสามารถเปรียบเทียบได้กับการเล่นบิลเลียด ซึ่งลูกบิลเลียดที่มีขนาดใหญ่และวิ่งได้เร็วกว่าก็จะกระแทกชิ่งลูกบิลเลียด ที่เล็กและเคลื่อนไหวได้ช้ากว่า การที่ลูกใหญ่กระแทกลูกเล็ก ทำให้มุมดั้งเดิมที่มันเคยอยู่ต้องเปลี่ยนแปลงไป แล้วก็จะมีลูกบิดเลียดลูกอื่นเข้ามาวิ่งกระแทกมันอีก วนไปวนมาเช่นนี้เหมือนระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งแต่ยุคคองเกรส (Congress of Vienna) จนกระทั่งถึงยุคสงครามเย็น
ในการนี้ Waltz มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทำห้างเลือกของรัฐใดรัฐหนึ่งถูกจำกัดด้วยกิจกรรม ของรัฐอื่นๆ ทั้งหมด นอกจากนี้ดุลแห่งอำนาจยังไม่ได้เกิดมาจากการที่ผู้นำรัฐสามารถเลือกได้ แต่เกิดมาจากการที่ผู้นำรัฐต้องตัดสินใจในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ซึ่งหมายถึงว่า “สถานการณ์” นั่นเองที่เป็นตัวกำหนดให้รัฐตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราเรียกคนที่คิดอย่าง Waltz นี้ว่าเป็นพวก สัจนิยม-โครงสร้างนิยม (structure realism) หรือพวกสัจนิยมใหม่ (neorealism)
ดุลแห่งอำนาจและความมั่นคงของระบบ
การรักษาดุลแห่งอำนาจเป็นวิธีการหนึ่งที่จะได้มาซึ่งสันติภาพแล้วปัญหา ประการต่อมาก็คือ ดุลแห่งอำนาจรูปแบบใดจึงสามารถรักษาสันติภาพและความมั่นคงของระบบความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มากกว่ากันระหว่าง แบบสองขั้นอำนาจ (bipolar) คือสภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยสงครามเย็น หรือแบบหลายขั้วอำนาจ (multipolar) คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุค Concert และยุคสงครามโลก
แนวทางการตอบคำถามนี้ได้แบ่งเป็นสองพวก คือ 1.Kenneth Waltz และ 2.J.David Singer และ Karl Deutsch
ในขั้นแรกทั้งสองพวกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ระบบหลายขั้วอำนาจทำให้ผู้ตัดสินนโยบายจะต้องเผชิญกับตัวแสดงจำนวนมาก ทำให้จะจ้องพิจารณาข้อมูลต่างๆ มาก ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศค่อนข้างสูง
ความแตกต่างของทั้งสองกลุ่มอยู่ที่ว่า พวก Waltz มองว่า ระบบหลายขั้วอำนาจอันนำมาซึ่งข้อมูลมหาศาลนี้ทำให้ผู้กำหนดนโยบายสับสนกับ ความสลับซับซ้อนของปัญหา อันจะนำมาสู่การตัดสินใจผิดพลาดได้ในที่สุด ในขณะที่ระบบสองขั้วอำนาจนั้นมีตัวแสดงที่น้อยกว่า สามารถคาดเดาการกระทำของแต่ละรัฐได้โดยง่าย เช่นในช่วงสงครามเย็นจบลงใหม่ๆ ในทศวรรษที่ 1950s จะเห็นได้ว่ามีสองขั้นอำนาจหลักคือสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ถึงแม้ว่าในทศวรรษดังกล่าวและทศวรรษต่อมาจะมีเรืองหวาดเสียวเกิดขึ้นในความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศแต่ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีสงครามขนาดใหญ่เกิดขึ้นระหว่าง สองประเทศจริงๆ จังๆ เลยสักครั้ง ด้วยเหตุนี้วอลส์จึงมีความเห็นว่าระบบหลายขั้วอำนาจจะนำมาซึ่งความวุ่นวาย และอาจจะเกิดสงครามได้ง่ายกว่าระบบสองขั้วอำนาจ
ในขณะที่พวก Zinger ซึ่งเป็นพวกที่ 2 กลับมองว่า การที่มีข้อมูลต่างๆ เป็นจำนวนมากนี้เองทำให้การกำหนดนโยบายต่างประเทศในระบบหลายขั้วอำนาจจะ กระทำไปอย่างระมัดระวัง เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงการตัดสินใจผิดได้ การเมืองในระบบหลายขั้วอำนาจจึงเป็นการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างดูเชิงซึ่งกัน และกันมากกว่าที่จะรีบร้อนกำหนดนโยบายออกไป ซึ่งอาจจะทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้
แนวคิดทั้งสองฝ่ายต่างมีตรรกะในการอธิบายที่ดี แต่อาจจะผิดทั้งคู่ก็ได้ ดังที่ Mesquita (Bueno de Mesquita) ได้มองไปต่างมุมว่า เขาไม่เห็นว่าระบบหลายขั้วอำนาจจะนำมาซึ่งความไม่แน่นอนแต่อย่างใด เมซกิตามองว่า ทั้งสองระบบขั้วอำนาจหรือระบบหลายขั้วอำนาจต่างก็มั่นคงและแน่นอน หากระบบไม่เปลี่ยนแปลง แต่เมื่อใดที่มันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในตัวระบบ เมื่อนั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็จะไม่แน่นอน
อย่างไรก็ตามในโลกปลายยุคสงครามเย็นจะเห็นได้ว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวจากระบบสองขั้วอำนาจภายหลังสงครามโลกครั้งที่ สอง ดำเนินไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น รัสเซีย จีน และประเทศกลุ่มอาหรับ เป็นต้น
ไม่ว่าเราจะเชื่อแนวคิดของนักวิชาการทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสาย ไหน แต่ความสัมพันธ์แบบขั้วอำนาจในระบบระหว่างประเทศมีความสำคัญมาก การล่มสลายของผู้นำหรือมหาอำนาจโดยกะทันหัน มักจะนำมาซึ่งความวุ่นวายและความไร้เสถียรภาพในระบบ และทำให้เกิดสงครามขนาดใหญ่เพื่อแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจ ดังเช่นที่เกิดในช่วงทศวรรษที่ 1930 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่สหรัฐอเมริกาปฏิเสธความเป็นมหาอำนาจ แล้วกลับเข้าสู่ลัทธิแยกตัว (Isolationist) ซึ่งเป็นการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา
ด้วยเหตุนี้ระบบระหว่างประเทศจะมั่นคงได้จะต้องมีศูนย์รวมของอำนาจในความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งนั่นหมายความว่าพวก realism ยอมรับว่ารัฐแต่ละรัฐมีความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของอำนาจ และการที่รัฐใดรัฐหนึ่งเป็นมหาอำนาจนั่นหมายถึงว่า รัฐนั้นจะประกันสันติภาพของรัฐเล็กๆ ด้วย หากรัฐที่เป็นมหาอำนาจนั้นสูญเสียความเป็นมหาอำนาจของตัวเองไป จะทำให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 มีงานวิชาการชิ้นหนึ่งที่โดดเด่นมากเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกาว่า ในขณะนั้นอยู่ในช่วงการตกต่ำหรือไม่ ได้แก่งานของ Paul Kennedy ซึ่งได้พยายามศึกษาการเกิดขึ้นและตกต่ำของมหาอำนาจในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่าน มา นำไปสู่การโต้เถียงในโต๊ะนักวิชาการหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Charles Kindleberger, Joseph Lepgold ได้ศึกษาบทบาทการตกต่ำของสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นว่า ตกลงแล้วเป็นการตกต่ำจริงๆ หรือเป็นสิ่งที่ตกต่ำโดยเปรียบเทียบ เพราะประเทศอื่นๆ เริ่มมีอำนาจขึ้นมาทัดเทียม เช่น เยอรมัน และอังกฤษ เป็นต้น นอกจากนี้การล่มสลายของสหภาพโซเวียตยังทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า สหรัฐอเมริกาจะเป็นมหาอำนาจที่เหลืออยู่เพียงขั้วเดียว หรือโลกจะกลายไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจในที่สุด
สรุป
ในบทนี้เป็นบทที่เขียนให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจกับประเด็นของการนำเอา เรื่องอำนาจไปใช้ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้แก่เรื่องโครงสร้างแห่งอำนาจ อันหมายถึงการกระจายของอำนาจระหว่างมหาอำนาจในระบบความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของนโยบายของรัฐใดรัฐหนึ่ง ผู้ที่ศึกษาโครงสร้างแห่งอำนาจมักจะแบ่งการศึกษาเรื่องโครงสร้างแห่งอำนาจ ออกเป็นรูปแบบของ “ขั้ว” ซึ่งหมายถึงมหาอำนาจหรือการจัดการระบบพันธมิตร ซึ่งจำนวนของขั้วในโครงสร้างแห่งอำนาจแสดงถึงการกระจายตัวของอำนาจในช่วง เวลาหนึ่งๆ นั่นเอง
นอกจากประเด็นนี้ในเรื่องขั้วอำนาจ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อสันติภาพระหว่างประเทศ ซึ่งมีนักวิชาการหลายแขนงได้ถกเถียงกันว่าขั้วอำนาจแบบใดที่จะทำให้เกิด เสถียรภาพในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มากกว่ากัน หรืออาจจะเป็นการหายไปของขั้วอำนาจอย่างกะทันหัน ที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
บทสรุป
ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใด  สมัยใด ความสัมพันธ์ของมนุษย์มักจะมีเรื่องของการจัดการอำนาจระหว่างกันและกันอยู่ เสมอ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันเป็นแบบแผนความสัมพันธ์แบบหนึ่งของมนุษย์จึง เป็นความสัมพันธ์ที่ขึ้นอยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างแห่งอำนาจเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะศึกษาความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยวางศูนย์กลางให้อยู่ในเรื่องของการศึกษาความ สัมพันธ์แบบอำนาจ
โครงสร้างแห่งอำนาจในยุคสมัยต่างๆ ต่างมีความแตกต่างกัน ในยุโรปหลังปี 1815 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่ยุโรปพยายามจัดระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจภายในทวีปใหม่ หลังจากที่ได้ถูกอิทธิพลของนโปเลียน เข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในยุโรป และได้นำเอาอิทธิพลของลัทธิเสรีนิยม ชาตินิยมเข้าไปในยุโรป จนทำให้โครงสร้างอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของยุโรปแบบเดิมไม่มีวันหวน กลับมาได้อีก
ความพยายามจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบ Concert เป็นสิ่งที่ขัดกับความเป็นจริงด้านเชื้อชาติที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ต้นกล้าของเสรีนิยมที่เกิดจากนโปเลียนได้เจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ และค่อยๆ พร้อมที่จะขจัดอิทธิพลอำนาจเก่าๆ ออกไป
แต่ยิ่งเสรีนิยมเติบโตขึ้นเท่าใด ความกดดันของมหาอำนาจที่จะพยายามกดเสรีนิยมก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น ความขัดแย้งที่อยู่ภายในประเทศต่างๆ ได้ทำให้ประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ต่างพากันจ้องตาเป็นมันที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์
รัสเซีย จ้องตุรกีอย่างตาเป็นมันในวิกฤติการณ์ไครเมีย และปัญหาของอาณาจักรออตโตมัน เนื่องจากต้องการเข้าไปแทรกแซงและต้องการทางออกทะเลน้ำอุ่น ซึ่งฝรั่งเศสและอังกฤษโต้ตอบทันควันด้วยการแทรกแซงรัสเซีย ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพียงเป็นการทำให้ดุลแห่งอำนาจกลับคืนสู่ปกติได้เพียง ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่สัญญาณที่ดีเลยของมหาอำนาจในการรักษาพลังอำนาจแบบเก่าเอาไว้
อย่างไรก็ตามการเล่นกับดุลแห่งอำนาจอย่างระมัดระวัง ก็ทำให้เกิดผลดีของตำแหน่งของชาติในโครงสร้างอำนาจระหว่างประเทศเหมือนกัน ดังเช่นบิสมาร์ก ผู้เดินแต่ละก้าวอย่างระมัดระวังอยู่เสมอ ก็ได้ทำให้ปรัสเซียสามารถเป็นผู้นำในการรวมชาติเยอรมันได้สำเร็จท่ามกลาง ความอันตรายของมหาอำนาจที่จ้องจะเล่นงานอยู่เสมอ
การตัดสินใจกับดุลแห่งอำนาจแบบผิดๆ ก็นำมาสู่ความวุ่นวายในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เยอรมันตัดสินใจก่อสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง และนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ในครั้งที่ 2 ถึงกับทำให้โครงสร้างของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากระบบหลายขั้วอำนาจก่อนหน้านั้น กลายเป็นระบบ 2 ขั้วอำนาจที่ถูกแยกจากกันเด็ดขาดในช่วงสงครามเย็น
ระบบ 2 ขั้วอำนาจเป็นระบบที่ “หวาดเสียว” แต่ “ปลอดภัย” พอสมควร มีวิกฤติการณ์หลายครั้ง และมีการเผชิญหน้ากันโดยตรงบ้าง แต่ก็เกิดเพียงสงครามตัวแทน เป็นเรื่องให้ตกใจกันพอหอมปากหอมคอ แต่ไม่เคยมีสงครามเกิดขึ้นในบ้านของมหาอำนาจทั้ง 2 เลย
อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็นก็เป็นเรื่องที่ สนุกสนานและน่าติดตามในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับสูง การพัฒนาของกระบวนการข่าวและการสอดแนม สงครามตัวแทนต่างๆ เช่น สงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ตลอดจนการลดความตึงเครียดและความร่วมมือกันเพื่อการเจรจาลดอาวุธ
ซึ่งหากศึกษาและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันให้ลึกซึ้ง จะพบว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีร่องรอยของความขัดแย้งในระบบสองขั้วอำนาจ ผสมผสานกับปัญหาเสรีนิยม ชาตินิยม อันเป็นปัญหาเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามเย็น การจัดการกับปัญหาดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่ผู้วิเคราะห์จะต้องเข้าใจปัญหาเก่าๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต
แต่ทั้งนี้แน่นอนว่า ปัญหาในปัจจุบัน ไม่เหมือนปัญหาในอดีต ชาตินิยมและปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน มีระดับความรุนแรงและการใช้เหตุผลที่แตกต่างจากอดีตเป็นอันมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พื้นฐานของความขัดแย้งดังกล่าวก็คือ “การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ” (Structure for Power) ซึ่งเป็นจริงทุกยุคทุกสมัย นั่นเอง