วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของโบลิเวีย

โบลิเวีย

1. กล่าวนำ
โบลิเวีย หรือ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “รัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวีย (Plurinational State of Bolivia)” เป็นประเทศหนึ่งที่เคยยากจนที่สุดในละตินอเมริกา เต็มไปด้วยปัญหาเรื้อรังทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ประกอบไปด้วยคนชาติพันธุ์ต่างๆ หลากหลาย เป็นประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง มีระบบพรรคการเมืองหลายพรรค และปกครองด้วยรัฐบาลทหารติดต่อกันหลายทศวรรษ มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 17 ฉบับ มีการรัฐประหารสลับกับการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ประชาชนไม่ค่อยมีความสนใจหรือมีความกระตือรือร้นในกิจกรรมการเมือง
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานที่ผ่านมานี้โบลิเวียได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ จากที่เคยได้รับสมญานามว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในละตินอเมริกา มีการกระจายรายได้น้อย และมีประชากรส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นคนพื้นเมืองมีวิถีชีวิตใต้เส้นความยากจน ทั้งๆ โบลิเวียที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลแต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของตนได้ จนมีสมญานามว่า “ลาที่นั่งอยู่บนเหมืองทอง” 
ในปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป โบลิเวียมีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จนนำหน้าหลายประเทศในละตินอเมริกา เช่น โคลัมเบีย โดมินิกัน เวเนซูเอลา เอลซัลวาดอร์ เปรี และ เอกวาดอร์ เป็นต้น โบลิเวียสามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งทำให้ตัวเลขของประชาชนใต้เส้นยากจนที่เคยมีถึง 60% ในปี ค.. 2006มาเหลือเพียง 30.3% ในปี ค.. 2010 หรือมากกว่า 1 เท่าในช่วงระยะเวลา 5 ปี
พบว่าในช่วงสมัยดังกล่าวเป็นช่วงสมัยที่ประเทศโบลิเวียสามารถจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศได้ จึงเป็นที่น่าสนใจว่า มีนโยบายใดของประเทศโบลิเวีย ที่เกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร กับการจัดการปัญหาความยากจน

2. รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง:  เผด็จการ, ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาการปลูกต้นโคคา
          นอกจากจะเป็นที่รู้จักในนามของดินแดนแหล่งสุดท้ายของ เอร์เนสโต เกบารา หรือที่รู้จักกันในนามของ เช กูวารา นักปฏิวัติแนวมาร์กซิสต์ผู้มีต้นกำเนิดในประเทศอาร์เจนตินาแล้ว ประเทศโบลิเวียยังเป็นที่รู้จักในนามของประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญค่อนข้างเปลือง และมีการแทรกแซงทางการเมืองจากฝ่ายเผด็จการอยู่เสมอ
          กล่าวได้ว่า ตั้งแต่ที่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี ค.. 1826 จนถึงปี ค.. 2011 ประเทศโบลิเวียมีรัฐธรรมนูญมาทั้งสิ้น 17 ฉบับ และได้ผ่านกระบวนการการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองต่างๆ ที่ไร้เสถียรภาพคล้ายกับเมืองไทย ผ่านการเลือกตั้ง สลับกับการรัฐประหารโดยคณะทหาร และการปกครองแบบเผด็จการมาโดยตลอด
          นับตั้งแต่ปี ค.. 1945 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่ของประเทศได้เพิ่มประเด็นกีดกันทางชาติพันธุ์และชนชั้นมากขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะพลเมืองโบลิเวียที่มีผิวขาว มีการศึกษาและมีฐานะดีเท่านั้นที่ได้รับสิทธิแห่งความเป็นพลเมืองเต็มที่ ส่วนชาวพื้นเมืองถูกกีดกันต่างๆ นาๆ จากนโยบายสาธารณะ
          ความขัดแย้งทางการเมืองของโบลิเวียมีรากฐานมาจากรัฐธรรมนูญที่กดขี่คนพื้นเมือง โดยบทบาททางการเมืองของชนพื้นเมืองชาวโบลิเวีย สามารถสืบย้อนไปได้ในขบวนการปฏิวัติแห่งชาติ (Nationalist Revolutionary Movement –MNR) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี ค.. 1951 โดยคนพื้นเมือง และประสบความสำเร็จในการปฏิวัติปี ค.. 1952 กลุ่ม MNR ได้เสนอแนวทางในการปฏิรูปการเมืองโดยให้สิทธิการเลือกตั้งทั่วไปกับประชาชน และวางรากฐานในการปฏิรูปที่ดิน การส่งเสริมการศึกษาอย่างเท่าเทียม และทำให้ยึดสัมปทานการขุดแร่ดีบุกให้เป็นของรัฐ แต่เหตุการณ์การแทรกแซงทางการเมืองของขุนพลทหารตั้งแต่ปี ค.. 1964 เป็นต้นมา ทำให้นโยบายต่างๆ ที่วางรากฐานไว้โดย MNR ไม่ประสบความสำเร็จ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาถึงทศวรรษที่ 1980 นั้นบทบาททางการเมืองของชนพื้นเมืองมีอยู่น้อยมาก  มีชนพื้นเมืองที่มีที่นั่งในรัฐสภาจำนวนน้อยมาก
แม้จะเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ แต่ในอดีตประเทศโบลิเวียมีปัญหาเรื่องการกระจายทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีเพียงคนกลุ่มน้อยในสังคมที่สืบเชื้อสายจากชาวสเปนในสมัยอาณานิคมเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรนี้ ประชาชนซึ่งเป็นคนพื้นเมืองส่วนใหญ่มีความยากจน และต้องดำรงชีพโดยการอาศัยการปลูกต้นโคคา ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของยาเสพติดโคเคน ผู้ที่มีอำนาจปกครองประเทศส่วนใหญ่คือชนกลุ่มน้อยที่มีเชื้อสายสเปน ส่วนคนท้องถิ่นมักไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากทรัพยากรธรรมชาติ และนโยบายสาธารณะของประเทศ
ขบวนการภาคประชาชนของคนพื้นเมืองในประเทศโบลิเวียค่อยๆ วางรากฐานอีกครั้ง ในช่วงท้ายของทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายต่อต้านการปลูกต้นโคคา ทำให้ชาวนาที่เคยหารายได้จากการปลูกโคคามีความไม่พอใจในนโยบายนี้ เพราะการปลูกต้นโคคานั้นสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมพื้นเมือง และยังเป็นแหล่งรายได้ส่วนใหญ่ของพวกเขา เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติส่วนใหญ่นั้นถูกสงวนไว้ให้กับคนผิวชาวที่มีเชื้อสายสเปน นับแต่นั้นเป็นต้นมา ที่นั่งในรัฐสภาถูกใช้เป็นช่องทางในการเรียกร้องสิทธิการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิทธิในการปลูกต้นโคคา
          นอกจากปัญหาความขัดแย้งที่มีที่มาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้ว โบลิเวียยังมีปัญหาการปลูกต้นโคคา โดยการปลูกต้นโคคาเป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมายในบางส่วนประเทศนี้ เนื่องจากเป็นพืชพื้นเมืองที่คนท้องถิ่นนำมาเคี้ยวกินหรือชงชา แต่การปลูกเพื่อการเก็บเกี่ยวไปผลิตยาเสพติดได้เพิ่มจำนวนสูงขึ้นมากในช่วง ค.. 1970 – 1980 จากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แต่หลังจากนั้นได้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วในช่วง 1990 เป็นต้นมา จากนโยบายของรัฐบาลร่วมกับสหรัฐอเมริกาที่ต้องการปราบปรามการปลูกและเก็บเกี่ยวใบโคคาที่ผิดกฎหมาย นโยบายดังกล่าวได้ทำให้เกิดความไม่พอใจ ในกลุ่มคนที่ปลูกโคคาเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการรวมตัวของเกษตรกรในนามกลุ่มสหภาพผู้ปลูกต้นโคคา รวมตัวเป็นองค์กรเพื่อต่อสู้ทางการเมือง หนึ่งในผู้นำกลุ่มผู้ปลูกโคคา นาย อีโว มอราเรส ผู้ซึ่งเคยเป็นเกษตรกรปลูกต้นโคคา และต่อมาภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปราบปรามการปลูกโคคา เขาก็ได้เข้าสู่สนามการเมือง และประสบความสำเร็จในการดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี ซึ่งนำทางไปสู่การประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี ค.. 2009

3. ก้าวเข้าสู่จุดของความขัดแย้ง
ตั้งแต่ปี ค.. 2001-2005 ประเทศโบลิเวียก้าวเข้าสู่ความตึงเครียดขั้นสูงสุดของความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ต้องเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีถึง 5 คน
จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นในสมัย นาย Gonzalo Sánchez de Lozada ผู้มีเชื้อสายสเปน ซึ่งชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งที่สองในปี ค.. 2002 ได้คะแนน 22.5% ในขณะนั้นนาย Evo Morales แห่งพรรค Movement to Socialism (MAS) ได้คะแนนเป็นลำดับสองคือ 20.9% นาย Morales มีนโยบายต่อต้านเศรษฐกิจแบบตลาดและเรียกร้องสิทธิของคนพื้นเมืองค่อนข้างชัดเจน ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ตามกฎหมายเลือกตั้งซึ่งอยู่ในรัฐธรรมของประเทศ กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้เลือก และรัฐสภาในครั้งนั้นได้เลือกตั้งให้นาย Gonzalo Sánchez de Lozada เป็นประธานาธิบดี ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐบาลผสมที่มีกลุ่มซ้ายกลาง (Movement of the Revolutionary (MIR) และขวากลางที่นิยมประชานิยม (New Republic Force) ซึ่งเดิมจะเป็นพรรคฝ่ายค้านร่วมกับ MAS ในการเลือกตั้งครั้งนั้นพบว่าพรรคอนุรักษ์นิยมขวากลาง (Nationalist Democratic Action (AND) ได้คะแนนเสียงในสภาเข้ามาค่อนข้างน้อย
หลังจากการเข้าดำรงตำแหน่งไม่นาน นาย Gonzalo Sánchez de Lozada พบกับปัญหามากมายทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ เนื่องด้วยเสียงที่ Lazada ชนะนั้นไม่เด็ดขาด มีเพียงประมาณ 43,000 คะแนนเหนือกว่า Morales เท่านั้น ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง พรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง ในช่วงนั้นนาย Lozada ยังต้องทำตามข้อตกลงที่ทำไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในเรื่องการวางแผนการใช้จ่ายภาครัฐอย่างรัดกุม เขาจึงตองกำหนดนโยบายที่ไม่เป็นที่นิยม เช่นการเพิ่มอัตราภาษี ที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.. 2003 ผู้ใช้แรงงานได้เดินขบวนประท้วงโดยใช้ความรุนแรง ในช่วงเวลาเดียวกับการนัดหยุดงานของบรรดาตำรวจเพื่อประท้วงนโยบายของรัฐบาลในการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ ในช่วงเวลานั้นจึงพบว่ามีการประท้วงของคนงาน, การนัดหยุดงานของตำรวจ ผสมโรงกับการเดินขบวนของนักเรียน ได้นำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรงของกลุ่มผู้ประท้วงและทหาร ซึ่งทำให้มีประชาชนถึง 31 คนต้องเสียชีวิตให้กับเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่เหตุการณ์ความขัดแย้งและการเดินขบวนก็ยังไม่จบตลอดทั้งปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชนเผ่าพื้นเมือง 2 คนคือ Morales ของพรรค MAS และ Felipe Quispe จากสหภาพ Syndical Unions and Compesino Workers (CSUTCB) และพรรคฝ่ายค้าน
การประท้วงดำเนินมาถึงจุดของการใช้ความรุนแรงสูงสุดในเดือนตุลาคม ค.. 2003 เมื่อประธานาธิบดีเสนอให้มีการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อส่งก๊าซไปยังประเทศเม็กซิโกและรัฐแคลิฟอร์เนีย ผ่านทางประเทศชิลี การตัดสินใจเช่นนี้ได้ส่งผลให้เกิดความสะเทือนใจต่อกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่โกรธแค้นจากการพ่ายแพ้ในสงครามที่เคยทำให้โบลิเวียต้องเสียทางออกทางทะเล นอกจากนี้การส่งออกก๊าซธรรมชาติยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความไม่พึงพอใจจากการที่ประชาชนพื้นเมืองชาวโบลิเวีย ซึ่งไม่เชื่อว่าพวกเขาจะได้ผลประโยชน์ที่เป็นธรรมจากการส่งออกก๊าซธรรมชาติ ความไม่พอใจของประชาชนชาวพื้นเมืองผสมกับการได้รับแรงกระตุ้นจากกระแสต่อต้านสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการกำจัดการปลูกต้นโคคา ทำให้ชาวนาที่มีไร่โคคากว่า 50,000 คน ต้องสูญเสียรายได้ทั้งหมดของเขาที่ได้จากการปลูกใบโคคา นอกจากนี้ Jeffrey Sachs (2003) ยังศึกษาเพิ่มเติมว่า กระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนโบลิเวียไม่พอใจกับการดำเนินนโยบายเปิดเสรีต่อเศรษฐกิจโลกของรัฐบาล จากการที่รัฐบาลยอมตกลงในข้อเรียกร้องของ องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติม
การชุมนุมต่อต้านและเดินขบวนปิดถนนในปี ค.. 2003 ทำให้ประเทศโบลิเวียตกอยู่ในสภาวะการเป็นอัมพาตตลอดเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะกับรัฐบาลถึง 37 คน ทำให้ประธานาธิบดี Lozada ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 17 ตุลาคม ผู้ที่มาแทนที่คือรองประธานาธิบดี Mesa ซึ่งนับว่าเป็นมือใหม่ทางการเมือง และไม่มีพรรคการเมืองคอยสนับสนุนอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดีพรรคฝ่ายค้านซึ่งมี Morales และ Quispe เป็นแกนนำ ได้ให้สัญญาว่าจะให้เวลารัฐบาลชุดใหม่ปรับปรุงตัว
ช่วงการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี Mesa นั้น เขาได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีสังกัดพรรคการเมืองเหมือนกัน โดยเลือกบุคคลที่ละเอียดอ่อนต่อประเด็นวัฒนธรรมท้องถิ่น และตั้งกระทรวงอนุรักษ์วัฒนธรรม (Indigenous affairs) ทั้งให้คำสัญญาว่า จะมีการทำประชามติเพื่อการตัดสินใจว่าจะมีการส่งออกก๊าซธรรมชาติหรือไม่ ตลอดจนการรับฟังความคิดของชนพื้นเมืองและฝ่ายค้านในการยกเลิกกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งออกมาในปี ค.. 1997 ที่อนุญาตให้บริษัทที่เป็นผู้ขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติสามารถเป็นเจ้าของทรัพยากรที่ตนเองขุดขึ้นมาได้ ตลอดจนการเสนอแผนเศรษฐกิจที่ให้ผู้รับภาระภาษีคือบริษัทพลังงานและพลเมืองที่มีฐานะดี การปฏิรูปกฎหมายผ่านรัฐสภา เพื่อเพิ่มการมีส่วนรวมทางการเมืองของพลเมือง และประกาศให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ดี Mesa ไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ และสิ่งที่เขาสัญญาส่วนใหญ่ก็ไม่เกิดผล เนื่องจากเขาไม่อาจจัดการกับกลุ่มการเมืองต่างๆ ในรัฐสภาที่แตกแยก และไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้
นอกจากในรัฐสภาแล้ว Mesa ยังผจญกับแรงต้านนอกระบบรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ประชาสังคม” ในรูปแบบของสหภาพการค้า องค์กรเกษตรกร กลุ่มนักเรียนที่มีบทบาททางการเมือง ซึ่งมักดำเนินการต่อต้านรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดการชุมนุม การปิดถนน เพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลไม่อาจปฏิเสธได้ นอกจากนี้เมื่อมองไปในรัฐสภาก็พบว่า Mesa ไม่มีพรรคการเมืองคอยช่วยสนับสนุน เพราะรัฐสภาประกอบไปด้วยฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ซึ่งไม่สนับสนุนนโยบายของ Mesa ส่วนกลุ่มธุรกิจหลักนอกรัฐสภาก็ไม่สนับสนุนนโยบายต่างๆ ของประธานาธิบดี เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนโยบายในเรื่องการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไฮโดรคาร์บอน จากการทำประชามติในปี ค.. 2004 เพื่อให้รัฐบาลเข้าไปมีส่วนรวมในกลุ่มธุรกิจประเภทนี้ให้มากขึ้น
สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งในปี ค.. 2005 ภายใต้การประท้วงของกลุ่มประชาชนทำให้ประธานาธิบดี Mesa ตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีต่อรัฐสภา จากนั้นผู้ประท้วงได้ข่มขู่ไม่ให้ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรรับตำแหน่งต่อ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่สามารถรับตำแหน่งได้เป็นลำดับที่สี่คือ Eduardo Rodríguez ประธานศาลสูงสุด จึงได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่สี่ นับตั้งแต่ปี ค.. 2001 เป็นต้นมาเพื่อที่จะจัดการให้มีการเลือกตั้งภายในระยะเวลา 1 ปี
ในกลุ่มคนพื้นเมืองที่มีบทบาททางการเมืองนั้น Juan Evo Morales Ayma  หรือเป็นที่รู้จักในนาม Evo ซึ่งเป็นนักการเมืองและนักกิจกรรมสังคมชาวโบลิเวียที่มาจากเผ่า Quechuan ผู้ซึ่งในที่สุดแล้วประสบความสำเร็จในทางการเมืองจนได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศโบลิเวียที่มาจากชาวพื้นเมืองตั้งแต่ปี ค.. 2006 ก่อนหน้าเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น Evo เป็นหนัวหน้าพรรค Movement for Socialism และหัวหน้าสหภาพการค้าใบโคเคน Evo มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสังคมนิยม และต้องการใช้นโยบายนี้ในการปกครองประเทศเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับประเทศมากขึ้น Evo ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และรณรงค์เพื่อให้มีการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนประสบความสำเร็จในปี ค.. 2009 ซึ่งได้ระบุไว้เกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน การทำธุรกิจให้เป็นของรัฐ (nationalizing) และการต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในประเทศ นอกจากนี้ยังมีนาย Filepe Quispe จากพรรค (Indigenous Pachakuti Movement -MIP) ชาวเผ่า Aymaran ทั้ง Morales และ Quispe เป็นคู่แข่งกัน แต่ทั้งสองคนก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของประธานาธิบดีที่เป็นมีเชื้อสายสเปน ซึ่งเน้นนโยบายในการส่งเสริมการส่งออกก๊าซธรรมชาติ และยอมรับการกดดันจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ลดการปลูกต้นโคคาซึ่งเป็นทางพืชทางเศรษฐกิจและพืชทางวัฒนธรรม
ผลของการเลือกตั้งในปี ค.. 2005 นั้น นาย Evo Morales หัวหน้าพรรคสังคมนิยมฝ่ายซ้าย  (Movement Toward Socialism – MAS) ได้รับคะแนนเสียงสูงที่สุดคือ  54% นับว่าเป็นครั้งแรกหลังจากปี ค.. 1982 ที่มีคนชนะเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) ได้ในครั้งแรก (Ribando, 2007; Centella, 2011) นอกจากนี้พรรค MAS ยังได้คะแนนเสียงสูงสุดในสภาล่างของรัฐสภา และได้ที่นั่งในสภาสูงถึง 12 ที่นั่งจาก 27 ที่นั่ง และในที่สุด เดือนมกราคม ปี ค.. 2006 นาย Morales ก็ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของโบลิเวียที่เป็นคนพื้นเมือง ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมานับร่วม 180 ปี
ภายหลังจากการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นาย Moralesได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมาก แม้จะมีเสียงคัดค้านจำนวนมากเช่นเดียวกัน แต่การใช้ความรุนแรงต่างๆ ได้ลดลงมาอย่างมากใน ปี ค.. 2007-2008 และหลังจากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยิ่งลดความขัดแย้งลงไปได้อีกมาก เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขปัญหาพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ ทั้งในเรื่องการกระจายทรัพยากร และการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของสังคม ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญของประเทศโบลิเวีย อันเป็นการลดความกดดันและความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อโครงสร้างทางกฎหมายและโครงสร้างทางการเมืองของประเทศที่มีความไม่เป็นธรรมในอดีต ที่ได้ก่อให้เกิดจุดประทุทางการเมืองอย่างสูงสุดในปี ค.. 2003 เป็นต้นมา
Evo Morales เป็นกสิกรชาวพื้นเมืองที่สืบเชื้อสายมาจากอินเดียนแดงเผ่า  Quechua และ Aymara  ภายหลังจากเขาจบชั้นมัธยมปลาย Morales ได้เข้ารับราชการทหารอยู่ช่วงหนึ่ง และได้ออกมาเป็นชาวไร่โคคา และเป็นผู้นำของสหภาพโคคาของโบลิเวีย ในปี ค.. ๑๙๙๗ เขาได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสังคมนิยม และในปี ค.. ๒๐๐๒ เขาเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับสอง โดยมีฐานเสียงเป็นคนพื้นเมืองและเกษตรกรชาวไร่โคคา
4. การแก้ไขปัญหา
          4.1 กระบวนการ
ปัญหาของประเทศโบลิเวียเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วมีความซับซ้อนไม่มากนัก เพราะมีที่มาจากความเหลื่อมล้ำ การกระจายทรัพยากร และปัญหาการปลูกต้นโคคาที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งจากการที่ได้มีความพยายามอย่างจริงจังของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงสามารถจัดการปัญหาได้ประสบความสำเร็จ เพราะรัฐบาลมีที่มาจากประชาชนพื้นเมืองซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งได้ออกนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย   นอกจากนี้ได้มีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นแห่งความขัดแย้ง ดังจะได้กล่าวถึงเนื้อหาในนโยบายและกฎหมายต่างๆ ในหัวข้อถัดไป
ในส่วนของการทำประชามติการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในสมัยประธานาธิบดี Morales  นั้นให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากทุกแคว้นในประเทศ แต่ในการร่างรัฐธรรมนูญนั้นได้รับการคว่ำบาตรจากฝ่ายค้านตลอดช่วงระยะเวลาทั้งหมดราว1.5 ปี  แต่ในที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านการลงประชามติและมีผลบังคับใช้ โดยให้นับจำนวนสมาชิกรัฐสภาเฉพาะที่เข้ามาประชุม 2/3 ไม่ใช่นับจากสมาชิกทั้งหมดของรัฐสภา (Crabtree, 2007)      
งานศึกษาเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศโบลิเวีย ของ ภควดี (๒๕๕๓ระบุว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขอประเทศโบลิเวียฉบับปัจจุบันค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะกระทำขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่เรียบร้อยนัก โดยประธานาธิบดี Morales ที่ได้รับการสนับสนุนจากคนพื้นเมืองนั้น ยังต้องต่อสู้กับทั้งกลุ่มผู้มีอำนาจเดิมที่เป็นชาวโบลิเวียเชื้อสายสเปน และจากกลุ่มทุนที่ไม่สนับสนุนคนพื้นเมืองด้วย ระหว่างการร่างและรณรงค์การทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ได้มีการใช้กำลังเข้าปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านรัฐธรรมนูญ  โดยกลุ่มผู้ต่อต้านประกอบไปด้วยกลุ่มทุนและฝ่ายอำนาจรัฐเดิ ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนเป็นคนพื้นเมือง ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้สนับสนุนนโยบายแนวสังคมนิยม ในการรณรงค์ดังกล่าวได้มีการกำหนดให้มีการตัดสินใจการกำหนดให้ีการจำกัดการซื้อที่ดินที่ "5,000 เฮกตาร์"  
นอกจากการปะทะกันโดยตรงระหว่างกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างกันแล้ว สื่อมวลชนก็เป็นเวทีของความขัดแย้งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ประเทศโบลิเวียเป็นประเทศที่ไม่มีสื่อของรัฐ มีแต่สื่อของเอกชน ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของโบลิเวีย โดยบางฉบับมีการบิดเบือนเนื้อหา เช่นการเสนอข่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกลับไปสู่ยุคป่าเถื่อน และการใช้กฎหมายของชุมชนแทนที่กฎหมายของรัฐ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหาว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการอนุญาตให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ของสื่อมวลชนทั่วประเทศไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของการลงประชามติได้ เมื่อคนส่วนใหญ่ในประเทศยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และให้สิทธิทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
4.2 เนื้อหา
4.2.1 การแก้ไขความขัดแย้งจากนโยบายการปลูกต้นโคคา
ภายหลังที่ Morales ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้ออกนโยบายที่แยกการปลูกต้นโคคาออกมาจากโคเคน (Coca Yes, Cocaine No Policy) โดยมีที่มาจากข้อตกลง Chapare (Chapare Agreement) ที่เขาได้ทำไว้กับประธานาธิบดี Mesa ตั้งแต่ปี ค.. 2004 ภายใต้นโยบายดังกล่าว Morales ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้อง 1. แสดงถึงความหมายในแง่บวกของใบโคคา 2. ทำให้ใบโคคาถูกนำไปใช้อย่างถูกกฎหมาย และ 3. ใช้นโยบายการเลิกปลูกต้นโคคาโดยสมัครใจ ทั้งนี้จะได้มีการสนับสนุนให้ปลูกพืชอื่นทดแทน 4. ควบคุมและกำจัดการผลิตโคเคนและยาเสพติดอื่นๆ อย่างจริงจัง
เพื่อที่นโยบายดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จได้ Morales ได้ลดอัตราโทษของการปลูกต้นโคคา และพยายามพัฒนาการใช้ต้นโคคาในวิธีอื่นๆ เช่นการแปรรูปใบโคคาให้เป็น ชาโคคา โดยมีประเทศเวเนซุเอลา ให้ทุนช่วยเหลือโรงงานในแคว้น Yungas ในการแปรรูปโคคาให้เป็นสินค้าเกษตร เช่น แป้ง สำหรับอบขนม และยาสีฟันเพื่อการส่งออก ในเดือนมิถุนายน 2006 ประธานาธิบดี Morales ได้ประกาศแผนการณ์ยกเลิกการจำกัดการกำหนดเขตปลูกโคคาในแคว้น Yungas และให้อิสระต่อผู้เกษตรกรที่จะสามารถขายโคคาให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน รัฐบาลประสบความสำเร็จจากเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ว่าจะให้มีการยกเลิกการปลูกโคคาโดยสมัครใจในพื้นที่ 3,000 เฮ็กเตอร์ในแคว้น Yungas
                    นโยบายของ Morales เป็นนโยบายที่คำนึงถึงความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม ซึ่งถึงแม้ว่าผลของนโยบายจะปรากฎได้ช้า แต่ก็ประสบความสำเร็จด้วยการยอมรับของทุกฝ่าย จากการมีส่วนร่วมของฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน
          4.2.2 การปฏิรูปที่ดิน
จากปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน อันนำมาซึ่งความยากไร้และความเหลื่อมล้ำในประเทศโบลิเวียมานานกว่า 5 ทศวรรษ ในที่สุด ประธานาธิบดี Morales ได้กำหนดโครงการปฏิรูปที่ดินจำนวน 7.5 ล้านเอเคอร์ให้แก่ชุมชนดั้งเดิมจำนวน 60 ชุมชน และสัญญาว่าจะให้โฉนด และการเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีกสิกรรมให้กับชุมชนชาวโบลิเวียที่ยากจนภายในระยะเวลา 5 ปี
นโยบายการปฏิรูปที่ดินของ Morales ได้รับการขัดขวางและต่อต้านจากกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและเจ้าของที่ดินจำนวนมากในแคว้น Santa Cruz เช่นเดียวกับเจ้าของที่ดินชาวบราซิลที่มาทำกสิกรรมในเขตภาคตะวันออกของประเทศ แต่การต่อต้านดังกล่าวไม่ส่งผลต่อนโยบายของ Morales มากนัก ในที่สุดเขาจึงประสบความสำเร็จในการประกาศการปฏิรูปที่ดิน และระบุไว้ในรัฐธรรมนูญได้เป็นผลสำเร็จ
4.2.3 ปัญหาก๊าซธรรมชาติ
แม้ว่าประเทศโบลิเวียจะมีแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก และส่งออกก๊าซธรรมชาติไปให้ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ที่ผ่านมาประชาชนของประเทศไม่ค่อยได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าวมากนัก ประเทศโบลิเวียที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่เคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนติดอันดับในภูมิภาค ซึ่งในปัจจุบัน ปัญหานี้ได้รับการดูแลแก้ไขอย่างจริงจาก จากนโยบายของรัฐในการทำให้กลับมาเป็นของรัฐ (nationalization) ในสมัยของประธานาธิบดี Mesa ที่ได้มีการประกาศทบทวนสัญญาสัมปทานบริษัทน้ำมัน และได้มีการเพิ่มภาษีอัตราต่างๆ ในการส่งออกน้ำมันในสมัยประธานาธิบดี Morales เพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีจากการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น
4.2.4 ข้อตกลงสันติภาพ/กฎหมายอันเกิดจากข้อตกลง
           แนวทางการสร้างความปรองดองของประเทศโบลิเวีย คือการให้สิทธิในทางด้านวัฒนธรรม การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย โดยผ่านกฎหมายและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งมีความยาวถึง 411 มาตรา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม การไม่กำหนดให้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกให้เป็นศาสนาประจำชาติ การสนับสนุนสิทธิของคนพื้นเมือง โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประเทศโบลิเวียเป็นรัฐพหุวัฒนธรรม เพื่อให้หลากหลายวัฒนธรรม ชนชาติ และประเพณี สามารถดำรงความเป็นตัวตนได้ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ภาษาราชการของโบลิเวียมี ๓๖ ภาษา ทั้งภาษาพื้นเมืองและภาษาราชการ
          4.2.5 การให้อิสระในการปกครองชุมชนตนเอง
          รัฐธรรมนูญของประเทศโบลิเวียได้กำหนดให้คนพื้นเมืองมีสิทธิในกระบวนการนิติบัญญัติของตนเอง ตราบเท่าที่กฎหมายจะไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้โดยดำเนินตามกรอบสิทธิของชาวพื้นเมืองตามคำประกาศของสหประชาชาติ ที่ชนพื้นเมืองมีสิในการจัดระบบความยุติธรรมตามจารีตประเพณี และมีสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกันที่นั่งในวุฒิสภาบางส่วนให้แก่วุฒิสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากชุมชนชาวพื้นเมือง และยังมีแนวทางในการกระจายรายได้และทรัพยากร โดยจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 5,000 เฮ็กเตอร์ และการกำหนดให้รัฐบาลเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย 

5. อะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จของการสร้างความปรองดอง
การดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี Morales เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านการปกครองที่ไม่เป็นธรรมที่ถูกครอบงำโดยคนเชื้อสายสเปนซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม อันเป็นปัญหาเรื้อรังตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ชัยชนะของ Moralesถือเป็นชัยชนะอันเป็นสัญลักษณ์ของการประสบความสำเร็จของกิจกรรมทางการเมืองที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน การต่อต้านจักรวรรดิ์นิยม และทุนนิยมโดยรัฐ และมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งสู่การปฏิรูปประเทศ Morales คือสัญลักษณ์ของชนพื้นเมืองที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมอย่างแท้จริง และเป็นผู้ที่ได้อำนาจทางการเมืองอย่างสง่างามจากการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ได้เสียงข้างมากแบบเด็ดขาดในการเลือกตั้งครั้งแรกเพียงครั้งเดียว
-กรอบคิดในการสร้างความปรองดอง  
ประเทศโบลิเวียมีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันที่แม้จะมีรากเหง้าของความขัดแย้งสั่งสมมาในช่วงเดียวกัน เช่น โคลัมเบีย และ ชิลี ซึ่งเป็นอีก 2 ประเทศในภูมิภาคเดียวกันนี้ที่รายงานฉบับนี้ได้ศึกษา แต่การใช้ความรุนแรงเข้าเผชิญหน้ากันที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจเช่นเดียวกับที่เกิดในสองประเทศที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 เป็นต้นมาที่ไม่มีประเด็นปัญหาด้านสงครามเย็นอีกต่อไปแล้ว ด้วยเหตุนี้การใช้นโยบายทีเอนเอียงไปในทางสังคมนิยมของประธานาธิบดี Morales จึงไม่ถูกมองว่าเป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับที่เคยเกิดกับชิลีและโคลัมเบียและอีกหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ด้วยเหตุนี้นโยบายการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในโบลิเวีย จึงสามารถดำเนินการได้โดยมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้นำของประเทศยังสามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ กรอบคิดสำคัญในการสร้างความปรองดอง อยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนและการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนี้ การที่โบลิเวียได้แก้ไขบทเรียนจากความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ที่เคยล้มเหลวจากการเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาโดยใช้นโยบายประชานิยมมาแล้ว ทำให้ประเทศโบลิเวียเลือกที่จะแก้ไขปัญหา โดยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นเพียงนโยบายประชานิยมชั่วคราวเพื่อสร้างฐานเสียงของนักการเมือง
-กระบวนการ
กระบวนการสร้างความปรองดองของประเทศโบลิเวียมีความแตกต่างจากกระบวนการสร้างความปรองดองในหลายประเทศ เนื่องจากเป็นการใช้กระบวนการของรัฐที่มีอยู่ การร่างรัฐธรรมนูญ การกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อคนส่วนใหญ่ในสังคม การใช้นโยบายที่ส่งเสริมความแตกต่างหลากหลาย ฯลฯ โดยนโยบายส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มคนที่เคยอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำ ได้แก่คนพื้นเมืองซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และมีข้อสังเกตคือนโยบายของโบลิเวียไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เนื่องจากฝ่ายค้านและฝ่ายที่เคยมีอำนาจเก่า รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย ไม่ยอมเล่นในกติกาใหม่ที่ประธานาธิบดี Morales วางไว้ เพราะทราบดีว่าเสียงส่วนน้อยของตนเองไม่อาจจะช่วยให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์ที่ได้จากการตกลงใหม่ในกติกาฉบับใหม่เหล่านี้ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศโบลิเวียจึงเป็นกระบวนการของคนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่ผ่านระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมมของประชาชนหมู่มาก

6. บทสรุปกรณีศึกษาโบลิเวีย เปรียบเทียบกับประเทศไทย
กรณีศึกษาของประเทศโบลิเวีย มีบางประการที่คล้ายกับประเทศไทยเมื่อหลายปีที่ผ่านมาแล้ว ที่ประเทศไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ความเหลื่อมล้ำในการกระจายทรัพยากร สิทธิทางการเมือง และการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ เป็นต้น
ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ และรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ หรือนโยบายภาครัฐของไทยส่วนใหญ่ไม่เคยสามารถจับให้ถึงปัญหาเรื้อรังของประเทศไทย ไม่เคยมีการกำหนดเพดานการถือครองที่ดิน การกระจายผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ และการยอมรับสิทธิของชุมชนต่างๆ ของประเทศไทยก็ยังไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ความสำเร็จอย่างงดงามของประเทศโบลิเวียคือ การสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การขจัดความยากจน การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และการแก้ไขปัญหาการปลูกโคคา ซึ่งเป็นปัญหายาเสพติดได้ ทั้งนี้โบลิเวียภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นโบลิเวียที่มั่นคง ไม่ใช่เพียงแต่ประเทศที่มีนโยบายประชานิยมเหมือนประเทศอื่นๆ ที่เคยล้มเหลวเพราะนโยบายเหล่านี้มาแล้วในแถบละตินอเมริกา
          ประเทศโบลิเวียอาจเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาที่ระดับรากฐานได้ แต่การนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมก็จะต้องระลึกว่า โบลิเวียยังเป็นประเทศที่ไม่ได้ผูกพันตัวเองเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกมากนัก ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้ว เราอาจจะใช้วิธีเดียวกับโบลิเวียไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากประเทศไทยมีพันธสัญญาในระดับโลกและระดับภูมิภาคมากมาย และประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมากเหมือนประเทศโบลิเวีย


วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

Unfair Election ของการเลือกตั้งในระบบสาขาวิชาชีพในฮ่องกง

อธิบายศัพท์: 

เขตเลือกตั้งตามแบบแบ่งเขต หรือ หลักภูมิศาสตร์ (Geographical Constituencies-GCs) คือการแบ่งเขตพื้นที่ในการเลือกตั้งตามภูมิประเทศ โดยกำหนดจำนวนประชาชนที่มีภูมิลำเนาในเขตที่มีสิทธิเลือกผู้แทนของตนเข้าสู่รัฐสภา  

กลุ่มเลือกตั้งตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Functional Constituencies-FCs) คือการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในกลุ่มวิชาชีพ หรือกลุ่มผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อที่จะช่วยให้ปฏิบัติภาระกิจเป็นประโยชน์แก่งานของกระบวนการนิติบัญญัติ

เนื้อหา: 
รายงานของ Human Right’s monitor (Hong Kong Human Rights Monitor, 1998) รายงานถึงความผิดปกติของระบบ  FCs ในฮ่องกงซึ่งไม่ใช่การเลือกตั้งที่มีความเป็นธรรม (unfair election) ดังต่อไปนี้

1. มีความแตกต่างกันอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ลงคะแนนในสาขาต่างๆ
คือผู้มีสิทธิลงคะแนนในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ มีจำนวนไม่เท่ากัน โดยในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา มีจำนวนคนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 61,290 คน ในกลุ่มสุขภาพที่มีจำนวนผู้ลงคะแนนเสียง  27,487 คน ส่วนกลุ่ม urban and regional councils มีผู้มีสิทธิลงคะแนนแค่ 50 คนเท่านั้น

บางกลุ่มวิชาชีพ มีคนลงคะแนนมากเป็น 6 หมื่นคน ในขณะที่บางกลุ่ม มีคนลงคะแนนแค่ 50 คน อะไรคือความเท่าเทียม

2. คนบางคนมีคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่า 1 เสียง (บางคนมีเสียงถึง 7 เสียงด้วยซ้ำ)

การมีคะแนนเสียงเลือกตั้งได้มากกว่าหนึ่งนี้ คือความเป็นจริงที่ว่า บรรษัทต่างๆ ในฮ่องกงต่างมีความเชื่อมโยงกัน และมีเจ้าของร่วมกัน 

เช่น เป็นความจริงที่ว่า Hang Seng Bank เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Hong Kong Bank การจัดการการลงคะแนนกันเองในบรรษัท (corporate vote) ในการเลือกตั้งแบบกลุ่มนี้ ทำให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีเสียงเลือกตั้งมากกว่า 1 เสียง 

ธนาคารหลายแห่งจึงมีเสียงมากกว่า 2 คะแนน เพราะเลือกได้ทั้งกลุ่มธนาคารและกลุ่มการเงิน เช่น 
HongKong and Shanghai Bang, Kincheng Tokyo Bank, Hang Seng Bank และ the Bank of East Asia ต่างมีคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ถึง 3 คนจากกลุ่มที่แตกต่างกัน 

โดย Hang Seng Bank เป็นสาขาลูกของ Hong Kong Bank และ กลุ่ม Hong Kong Bank มีคะแนนเสียง 6 คะแนน ผู้ที่ถือคะแนนเสียงเลือกตั้ง เช่นประธานธนาคาร the Bank of East Asia สามารถควบคุมคะแนนเสียงได้อีก 3 คะแนน แล้วยังมีคะแนนเสียงของตนเองได้ใน “การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต” อีก รวมแล้วประธานธนาคารอาจจะมีคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกงได้ถึง 7 คะแนนในคนๆ เดียว




วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

TPP นี่มัน'ดี'หรือ'ไม่ดี' ?


ณัชชาภัทร อมรกุล

เปิดวิทยุไปช่องไหน ก้อมีแต่คนพูดถึงเรื่อง TPP ( ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก - Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement )

1. TPP คือ อะไร..
เอาสั้นที่สุด มันคืออภิมหาบิ๊กโปรเจ็คท์ Free Trade ที่ตอนนี้มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ ใกล้ ๆ บ้านเราก้อมีเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่เป็นสมาชิกอยู่

2. มันดีหรือไม่ดี
ก่อนอื่นต้องบอกว่าโลกนี้มีหลายสี แม้แต่สีเดียวก้อมีหลายเฉด...

TPP มันไม่ได้ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย และไม่ได้ส่งผลเสียต่อทุกฝ่าย มันขึ้นอยู่กับว่า Sector ไหนจะได้รับผลประโยชน์ และ Sector ไหนจะเสียผลประโยชน์...

มีคนบอกว่า ถ้าหักลบกันแล้ว เสียน้อยกว่าได้ เราก้อน่าจะเข้า TPP เราฟังแล้วเกาหัว สงสัยว่า ... เออ มันใช่เหรอวะ...

ถ้ามองแต่ Growth มันอาจจะใช่ แต่ถ้ามองภาพรวมแล้วมันผิด เพราะจะมีแต่บริษัทที่แสดงตัวเลขได้เท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ ส่วนคนที่ตกที่นั่งลำบากคือประชาชนตัวเล็ก ๆ

ยกตัวอย่าง 3 เรื่อง
A. เปิดเสรีสินค้าเกษตรกับจีน ... เมื่อสมัยยุคคุณทักษิณ มีการปิดเสรีทางสินค้าเกษตรกับจีน โดยความมุ่งหมายว่า จะส่งส้ม ลำไย มังคุด อะไรพวกนี้ไปจีน ... ตอนนั้นคุณ xxx ซึ่งเป็น รมต. พาณิชย์ ไปพูดที่ มช. บอกว่า คนจีนกินส้มกันคนละลูก เราก้อไม่มีปัญญาปลูกให้กินแล้ว
ผลกระทบเป็นอย่างไร
- ประเทศจีนปลูกส้มได้ ส้มจีนราคาถูก ไม่มีเม็ดด้วย ส่งมาขายบ้านเรา
- ส้มไทยเริ่มสู้ราคาไม่ได้ ตอนนี้ไปตลาด มีแต่ส้มจีนขาย
- กระเทียมก้อเช่นกัน กระเทียมจีนหัวโต ๆ ตอนมาเมืองไทยใหม่ ๆ โลละ 20-30 บาท แข่งกับกระเทียมไทยที่โลละ 50-60 บาท ตอนนี้กระเทียมจีน โลละ 100 บาท ส่วนกระเทียมไทยค่อย ๆ หายไป

B. เปิดเสรีการค้ากับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นี่ก้อเป็นความตกลงสมัยคุณทักษิณเหมือนกัน... ค่ะ...
ผลกระทบคือ
- ไทยสามารถส่งชิ้นส่วนเครื่องยนต์ไปขายออสเตรเลียได้มากขึ้น มี Growth อ่า .. ใช่แล้ว นี่คือข้อดี
- ต้องแลกกับการที่ออสเตรเลียมาสร้างเหมืองต่าง ๆ ในประเทศไทย ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนมากมาย เช่น เหมืองทองคำ ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นไม่สามารถทำกินได้ ปลูกอะไรก้อไม่ได้ แค่จะอยู่ยังอยู่ไม่ได้เลย ทั้งน้ำ ทั้งอากาศ เสียหมด มีใครรับผิดชอบ?...
ถ้าดูกันตามทฤษฎี ได้มากกว่าเสีย นี่... จริงๆ แล้ว การค้าเสรีออสเตรเลียนี่ต้องสนับสนุนใช่ไหมคะ เพราะไทยเราขายสินค้ามีมูลค่าไปออสเตรเลียได้มากขึ้น แต่ถ้าดูกันในรายละเอียด ประเทศไทยต้องรับภาระสุขภาพของประชาชนจากผลกระทบของการขุดแร่ในประเทศไทย

C. แม้ว่าไทยจะเข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเต็มรูปแบบในปลายปี แต่ในความเป็นจริงมีการลดภาษีระหว่างประเทศสมาชิกกันมานานแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการลดภาษีเท่าใดนัก .... ประเทศสมาชิกอาเซียนในมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในการกีดกันสินค้าจากประเทศไทย ...

คือ ให้ลดภาษีเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ใช่ไหม ทำได้ แต่ไปเพิ่มกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น จะส่งผลไม้มา ต้องเข้าท่าเรือได้แค่ 2 ท่าเท่านั้น กว่าผลไม้จะไปถึง เน่าพอดี หรือตั้งกฎเกณฑ์ยากๆ เช่น ต้องไม่มีฝุ่น ไม่มีไร ไม่มีหนอน หรือบังคับให้ต้องซื้อกล่องของเขาเพื่อขนย้ายสินค้าภายในประเทศ
ประเทศไทยเราไม่เก่งด้านนี้ เปิดเสรี แต่ไม่มีมาตรการใด ๆ มารองรับค่ะ

3. เราต้องแลกกับการค้าเสรี ด้วยสิ่งที่เป็นศัตรูของคนจนทั้งโลก ได้แก่ ข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิบัตร ... ซึ่งจะทำให้เราต้องจ่ายค่ายาราคาแพงขึีนมากๆ และทำให้เราอาจเสียพันธุ์พืชทั้ง ๆ ที่ปลูกในประเทศเรา ไปให้กับบรรษัทข้ามชาติที่มีห้องแล็บดี ๆ และแย่งจดทะเบียนพันธุ์พืชไปมากกว่า....
ซึ่งตรงนี้ ............. ไม่ค่อยได้พูด

วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สงครามโลกครั้งที่ 3 ?

เห็นคนติดแฮชแทกว่า หรือนี่จะเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม...

ก้อน่าคิดนะ ถ้าสงครามโลกจะหมายถึงการที่ชาติมหาอำนาจจะแบ่งเป็นฝักฝ่าย เพื่อโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่งด้วยกำลังทางการทหาร มีเป้าหมายเพื่อบุกยึดอาณาเขตและปกครองดินแดนที่ยึดมาได้

แต่ดู ๆ แล้วความขัดแย้งครั้งนี้มันซับซ้อนกว่าสงครามโลก มันเป็นสงครามสมัยใหม่ที่มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตุรกียิงเรือบินของรัสเซียตกเมื่อสองวันก่อน

ดูฝั่งของตุรกีก่อน ตุรกีเองมีแรงจูงใจที่จะทำอะไรอย่างนี้อยู่แล้วแหล่ะ เนื่องจากอยู่ใกล้กัน แชร์อาณาเขตทะเลดำด้วยกัน แต่ก่อนที่จะแยกเป็นบริวารรัสเซียก้อมีอาณาเขตติดกันตั้งยืดยาว ความกระทบกระทั่งอะไรมันก้อมีอยู่เสมอ

ตุรกีนี่ถูกมองว่าให้การสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลซีเรีย ในขณะที่รัสเซียให้การสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย ในจุดที่เครื่องบินถูกยิงตกลงมาเนี่ยเป็นตะเข็บชายแดนของตุรกี เป็นจุดที่มีผู้ต่อต้านรัฐบาลซีเรีย้หนีอพยพเข้าไปอยู่ คือเห็นเครื่องบินรัสเซียมาบินเหนือดินแดนที่เป็นฝั่งของฝ่ายตรงกันข้ามรัสเซีย คิดดูสิ มันจะอะไรกันหล่ะ

นอกจากนี้ตุรกียังได้รับการกล่าวหาว่า เป็นผู้รับซื้อน้ำมันจากกบฎซีเรีย และไอซิสด้วย โดยซื้อแล้วไปฟอกขายให้กับคนอื่น ตรงนี้รัสเซียออกมาด่าชัดมาก ดังนั้นความเห็นไม่ลงรอยกันมันมี

แต่มันซับซ้อนตรงที่ว่า จากพฤติกรรมของตุรกีหลังจากยิงเพื่อนตกแล้ว ก้อรีบไปบอกสหประชาชาติว่า หนูป่าวนะ หนูเตือนเขาแล้วนะ ดูสิ ดู ๆ รัสเซียก้อเช่นกันแหล่ะ ต่างฝ่ายต่างงัดหลักฐานทั้งภาพถ่าย ทั้งคลิปอะไรมาบอกว่า หนูป่าวนะ หนูไม่ได้ผิดนะ อีนั่นมันทำก่อน ๆ ๆ ๆ

ตกลงจริงๆ ไม่ได้กร้าวกันทั้งคู่ป่าววะ

ทุกวันนี้รัสเซียกับตุรกีก้อมีประโยชน์ที่ทำร่วมกันอยู่นะ จะให้มาดักตบกันให้มลายหายสิ้นไปมันก้อทำไม่ได้ ตุรกีมีท่อก๊าซที่มาจากฝั่งรัสเซียเยอะมาก และมีคนตุรกีไปทำงานที่รัสเซียด้วย ที่จริงศาสนาคริสต์นิกายกรีกออร์โธดอกซ์ที่นับถือกันในรัสเซียก้อมีที่มาจากตุรกี ดังนั้นทั้งสองประเทศนี้ก้อมีความผูกพันกันทางวัฒนธรรมกันพอสมควร...

แต่ก้อมีกระทบกระทั่งกันบ้าง ตามประสาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศที่มีอีโก้กันทั้งคู่เยอะ ๆ แล้วอยู่ใกล้ ๆ กันแบบนี้

อย่าลืมว่า ตุรกีก้อต้องมีแบบเรียนสอนนักเรียนเขาเหมือนกันว่า เขาเคยเป็น จักรวรรดิ์ออตโดมันอันไพศาล ก้อขนาดเราไม่เคยเป็นจักรวรรดฺิ์อย่างนั้น เรายังภูมิใจในตัวเองอยู่เลย จะไปท้าต่อยกับชาวบ้านเขาไม่ลดละ

ประชารัฐ ?

อ่านข่าวเศรษฐกิจ เห็นท่านรองนายกสมคิด มาพูดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง โดยใช้นโยบาย "ประชารัฐ" ท่านบอกว่า หวังพึ่งกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กให้เอาผลกำไรประมาณ 1-2% มาร่วมมือกับภาครัฐ และประชาชน เพื่ออัดฉีดไปที่ท้องถิ่น

มันคืออะไร อ่านแล้วสงสัยว่านี่คือการรีดทรัพย์หรือเปล่าก้อไม่รู้ อ่านแค่เนื้อข่าว ไม่ได้ไปนั่งฟังท่านพูด ไม่ได้ฟังท่านตอบปัญหา แต่ถ้าอ่านแค่นี้ คิดว่า หรือนี่จะเป็นการรีดผลกำไรของบริษัทมาทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อลงท้องถิ่นนี่ อยากรู้จริงๆ ว่า บริษัทเอกชนจะได้อะไร เพราะปกติก็เสียภาษีอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ


นโยบายประชารัฐนี่ ถ้าจะให้เกิด ภาคเอกชนต้องมีความมั่นใจในภาครัฐมาก ๆ เลยนะ แต่ถ้ายังแก้ไขปัญหาความโปร่งใสไม่ได้ จะกลายเป็นนโยบายเรียกค่าหัวคิว

นอกจากเรื่องค่าหัวคิวแล้ว อีกเรื่องนึงก็คือ การ "ฮั้ว" กันระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประชาชน 

อีกอย่าง เรื่องการดำเนินการภาครัฐนี่ เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพหรือเปล่า เราเข้าไปตรวจสอบอะไรได้แค่ไหน

อย่างกองทุนเงินออมแห่งชาตินี้แนวคิดดีมาก ๆ แต่พอคิดว่า ต้องเอาเงินไปฝากกับภาครัฐนะ เราก้อไม่กล้าแล้ว เพราะว่าขนาดนี้ยังบริหารเงินประกันสังคมหรือ กบข. กันแบบนี้

...
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐอีกอย่างนึงที่พูดกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วคือ "การเร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐ" อันนี้คือขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่ว่า "ภาครัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ" เลยนะ ซึ่งมันไม่ใช่หรือเปล่าวะ ตัวขับเคลื่อนประเทศนี่ มันควรใช่ภาครัฐเหรอ นี่มันนโยบายเศรษฐศาสตร์ยุคไหนเนี่ย

การเร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐ มันแค่เป็นตัวสะท้อนถึง "ประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐ" เท่านั้น ซึ่ง "การกระตุ้นเศรษฐกิจ" คือผลทางอ้อมที่เกิดขึ้น... มาหวังผลทางอ้อมให้สัมฤทธิ์ผลเท่าผลทางตรงนี่มันใช่เหรอ

การเร่งรัดนี้ ถ้าไม่โปร่งใสก็อาจะเป็นตัวทำให้เกิดการทุจริตคอร์รับชั่นด้วย เพราะถ้าอ้างเรื่องการเร่งรัด อาจทำให้ยกเลิกหรือยกเว้นกระบวนการตรวจสอบ เช่นการตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อม เพราะอ้างว่า เป็นนโยบายที่ต้องการให้โครงการสำเร็จโดยไว บางโครงการจึงส่งผลกระทบในระยะยาว

....
สำหรับสาเหตุของการให้ภาครัฐลงมาออกโรงนี้ ท่านเคยแจ้งว่า เป็นเพราะเอกชนค่อนข้างมีปัญหา การส่งออกชะลอตัว ภาคการผลิตหยุดชะงัก สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ เหลือแต่ภาครัฐ กับการท่องเที่ยว ที่อาจช่วยพะยุงเศรษฐกิจของประเทศได้

อ้าว แล้วบอกว่า จะดึงภาคเอกชนมาช่วย

บางทีก้อไม่เข้าใจเอกภาพของความคิดของท่านเหมือนกันนะ

จะทำอย่างไรถ้าวัฒนธรรมของไทยขัดกับหลักนิติธรรม ?

เจอคำถามจากพิธีกรว่า 

"จะทำอย่างไรถ้าวัฒนธรรมของไทยขัดกับหลักนิติธรรม...?"

เราตอบว่า ไม่เห็นว่ามันจะขัดเลย

ยิ่งถ้าคน ๆ นั้นเป็นคนที่เป็นญาติผู้ใหญ่เรา หรือ เป็นคนที่เคยมีบุญคุณต่อเราแล้วทำผิด เราต้องพยายามยืดหยัดให้เขาได้รับโทษ เพราะถ้าเราปล่อยเลยตามเลย ก็เท่ากับสนับสนุนให้เขาทำผิด แล้วมันเป็นความกตัญญูตรงไหน

......................

จริงๆ ระบบศักดินาของไทย เกิดมาเพื่อให้ผู้ใหญ่ยับยั้งชั่งใจ ไม่ให้กระทำผิด เพราะสมัยก่อน การมีศักดินา นั่นหมายถึงว่า คนที่มีศักดินาสูงนั้น ได้รับโทษมากกว่าคนที่มีศักดินาต่ำ เพื่อให้คนที่มีศักดินาสูง ๆ ถือเป็นการสร้างความยับยั้งชั่งใจให้กับคนที่มีอำนาจมาก ๆ ในสังคม

การเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ไม่ได้เป็นข้ออ้างให้สามารถปล่อยตัวได้ หรือได้รับโทษน้อยกว่าข้าราชการผู้เด็ก...

ดังนั้นวัฒนธรรมไทยจริงๆ มันสอดคล้องกับหลักนิติธรรม

GMO ?

วันนี้ตอนเช้า ฟังวิทยุ ได้ยินแง่มุมของนักเศรษฐศาสตร์ อาจารย์ ปิติ ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ท่านพูดถึงเรื่อง GMO

ก้อดีนะ ได้เห็นในอีกมุมหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองทางการตลาดและมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ แล้วตอนเช้าก้อได้อ่านจากมุมมองของนักวิศวพันธุกรรมอีกท่านหนึ่ง..
.
ขอบอกว่า จริงๆ แล้วเราโปร GMO เพราะคิดว่า การที่เราควบคุมพันธุกรรมพืชได้ ทำให้โลกเรามีความมั่นคงทางอาหาร และถ้าทำได้ เราจะสามารถหลีกหนีจากสงครามได้ เพราะไม่ต้องแย่งดินแดนกันเพื่อเพาะปลูก มี่ที่ดินนิดเดียวก้ออาจเลี้ยงประชากรเป็นร้อย ๆ ล้านได้

แต่ในอีกหลาย ๆ มุมมอง ก้อน่าสนใจ คิดไปคิดมา เออ หรือนี่กูคิดผิดมาตลอดป่าววะ...

.
เพราะว่า

1. จำเป็นหรือเปล่า .... ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาความแร้นแค้นของพื้นดิน หรือปัญหาศัตรูพืชอันหนักหน่วงแบบสหรัฐอเมริกา ที่เขาต้องทำ GMO เพื่อปลูกข้าวโพด

ประเทศไทยมีปัญหาอย่างอื่น เช่น ปัญหาพืชเกษตรล้นตลาด ปัญหาเฉพาะหน้าคือ ภัยแล้ง ที่อาจทำให้การเพาะปลูกเกิดปัญหา เราควรแก้ไขตรงนั้นดีไหม...พืช GMO นี่สามารถปลูกหน้าแล้ง ไม่มีน้ำได้ไหม
และที่อยากรู้คือ พืช GMO สามารถสั่งได้ไหม ว่าให้ออกหน้าไหน GMO มันสั่งได้ไหมั่้ว่า ต้องออกดอกช่วงนี้ ต้องออกผลช่วงนั้น ฯลฯ

2. การปลุกพืชแบบอุตสาหกรรม ที่ปลูกมากๆ ขายมากๆ ที่เป็นเทคนิคการปลุกพืชของไทยที่ทำมากว่า 100 ปีนั้น ผลก้อคือ ยิ่งปลูกไป ชาวนายิ่งจนลง และการปลูกเยอะ ๆ ไม่ได้ทำให้ผู้ขายหรือผู้ปลูกสามารถควบคุมราคาราคาผลิตผลทางการเกษตรได้

ถ้าเราเอาพืช GMO มาปลูก เราจะได้ผลผลิตออกมามาก ๆ เราควบคุมราคาได้ไหม... ยิ่งตลาดโลกที่มีตังค์เยอะ ๆ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป เขาไม่ชอบพืช GMO แล้วเราจะปลูกไปขายใคร

3. ตอนนี้มันใช่หรือเปล่า ที่ประเทศเรา หรือ โลกของเรา ไม่สามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรพอเลี้ยงคนทั้งโลก หรือจริงๆ แล้ว มันเกิดมาจากความสามารถ และการกระจุกตัวในการกระจายผลผลิต

เราจำได้ที่ท่านคานธี เคยบอกว่า โลกเรามีอาหารที่พอเลี้ยงคนได้ทั้งโลก แต่มีไม่พอที่จะเลี้ยงคน ๆ เดียวที่มีความโลภอย่างไม่สิ้นสุด

ฟังแล้วมาจ้องถามตัวเองว่า แล้วมันใช่หรือเปล่าที่เราต้องการผลผลิตมาก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ และเป็นแชมป์ส่งออก สินค้าที่มีมูลค่าต่ำ มาก ๆ

4. อยากรู้ว่า นโยบายของรัฐจริงๆ ตอนนี้อยากส่งเสริมอะไร เห็นกระทรวงพาณิชย์เขาเตรียมจัดงาน Organic ช่วงเร็ว ๆ นี้ อะไรกันหรือเปล่า อ่านผ่านตาแว๊บ ๆ ... คือ ถ้าจะ Gear ประเทศไปในทาง Organic มันก้อไม่ควรสนับสนุนการปลูก GMO แต่ถ้าอยากจะไปในทางอุตสาหกรรมการเกษตรที่ผลิตทีละมาก ๆ ก้อค่อยว่ากัน..

แต่ประเทศไทยมันก้อไม่เคยมีนโยบายอะไรในระยะยาว ไม่ว่าจะเรื่องเกษตร พลังงาน การศึกษา หรืออะไรก้อตาม ในช่วงสิบปีมานี้ ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก้อเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก บางทีก้อสับสน

.....

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ประเทศชาติควรให้มีการถกเรื่อง GMO เป็นวาระแห่งชาติ ถกกันแบบผู้ดีมีวัฒนธรรม เอาเหตุผล แง่มุมต่าง ๆ เข้ามาคุยกัน เพราะวันนี้ ถกเรื่องการเมืองไปก้อตีกันตาย ถกเรื่องที่ไกลกันสักหน่อย และไม่เกี่ยวกับสีเสื้อสักหน่อยก้อคงจะดี

รถไฟจีน ?



เมื่อเช้านี้ฟัง 100.5 ท่านอาจารย์ รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ได้กรุณามาเล่าให้ฟังว่า

จริงๆ มีความเข้าใจที่เชื่อกันไปเองหลายเรื่อง เช่น งบประมาณบานปลายเป็น 5 แสนกว่าล้าน ดอกเบืี้ยที่มากเกินไป ฯลฯ อะไรพวกนี้มันไม่จริง ยังไม่ได้มีการสรุปอะไรสักอย่างว่างบประมาณจะเท่าไหร่ หรือดอกเบี้ยเท่าไหร่ ไอ้เรื่องที่ว่าจะใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรของจีนหมดนั่นไม่ใช่ จริงๆ แล้วที่เจรจากันคือ อะไรใช้ของไทยได้ให้ใช้ของไทย ไอ้ที่สรุปกันจริงๆ นั่นคือ ไม่ใช่ความเร็วสูง

โอ๊ย จริงๆ มันไม่ใช่ ๆ ๆ 

แต่เส้นทางไปเชียงใหม่นั้นจะใช้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นน่าจะเป็นความเร็วสูง...ซึ่งจะได้ไม่เป็นการพึ่งพาจีนมากเกินไป แต่จะบาล๊านซ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น

อาจารย์ย้ำว่า อย่าด่วนตัดสินจากข่าว ให้คนที่สนใจลองอ่านข้อตกลงดูเอา...

เหม่ ฟังแล้วก้อรู้สึกว่า คนเชียร์จีนนี่ก้อเชียร์จีนจริงๆ เนอะ... คือ ถ้าไม่ให้คนธรรมดาอย่างเราฟังจากข่าว แล้วเราจะไปฟังจากไหน คนธรรมดาอย่างเราจะไปอ่านข้อตกลงไทยจีนอะไรเข้าใจ ... แต่อาจารย์เป็นคนพูดเก่ง

อาจารย์ลืมพูดเรื่องแผนพัฒนาที่ดินข้างทางของจีนหรือเปล่า ? หรือว่าผู้สัมภาษณ์ไม่ยอมเจาะประเด็นนี้ ? แล้วเวลามันน้อยไป แต่อาจารย์บอกว่า ในข้อตกลงจะเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ภายใน 7 ปี รถไฟนี้จะเป็นของไทย อาจารย์ยังกล่าวชมเชยผู้เจรจาเรื่องรถไฟไทยจีนนี่ด้วยว่า มีการพิจารณาอย่างลุ่มลึกเป็นขั้นตอน

ฟังแล้วก้อเห็นด้วยกับอาจารย์ว่า "อย่าด่วนด่า"

จริงไม่จริงอย่างไร ก้อคงต้องไปดีเบทหรือศึกษาให้ถ่องแท้อีกที... แต่เราคิดว่า ยังไงประเด็นนี้มันก็ควรอยู่ในหน้าสื่อ ต้องทำให้คนเข้าใจ ต้องให้คนวิจารณ์ และอย่างน้อยก้อเป็นโครงการที่ดูฉลาดกว่า สองล้านล้าน... เพราะโครงการนั้น แค่ตั้งชื่อก้อฟังดูโง่ แล้ว อยู่ ๆ ก้อบอกว่า จะใช้เงินเท่าไหร่ แทนที่จะตั้งชื่อโครงการว่า การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม หรืออะไรที่เป็นผล... คือมันต้องบอกว่า คนไทยจะได้อะไร ไม่ใช่บอกว่า จะใช้จ่ายเงินเท่าไหร่ ... ดูไม่ฉลาดเลยสำหรับพรรคการเมืองที่มีชนักปักหลังอยู่ที่การถูกโจมตีว่าไม่มีวินัยทางการเงิน

เผด็จการรัฐสภา ?

เผด็จการรัฐสภา?

คำว่า เผด็จการรัฐสภาในเมืองไทย มีความสำคัญมาก และเป็นหนึ่งในคีย์เวิร์ดของการชุมนุมทางการเมือง  
คำ ๆ นี้มีที่มาจากไหน เป็นจริงหรือไม่ และส่งผลกระทบอย่างไรต่อประชาธิปไตยของไทย
น่าจะนำมาวิเคราห์ด้วยกัน

1. ที่มา
โดยคำนี้มุ่งหมายวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลของคุณทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลอื่น ๆ ที่เป็นนอมินี หรือได้รับอิทธิพลของคุณทักษิณ ที่เรียกกันว่า  ระบอบทักษิณ” 
พวกเขาใช้คำว่า "เผด็จการรัฐสภา" ไปอธิบายรัฐบาลที่นำโดยคุณทักษิณ และรัฐบาลต่อ ๆ มาที่ชนะการเลือกตั้ง เพื่ออธิบายข้อเสียของระบอบทักษิณ คำว่าเผด็จการรัฐสภา จึงถูกใช้สลับสับเปลี่ยนกับคำว่า ระบอบทักษิณได้เต็มที่ ภายใต้การอธิบายนี้ เขาพูดถึงการทำงานในแบบพวกพ้องเครือญาติ (สภาผัวเมีย) ใช้อำนาจอย่างเผด็จการในการครอบงำอำนาจทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ จนฝ่ายค้าน ประชาชน และองค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีได้  
โดยทางทฤษฎีแล้ว คำว่า เผด็จการรัฐสภาไม่ได้เป็นของใหม่ในทางรัฐศาสตร์ แต่เกิดขึ้นมานานแล้วในหลายประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมืองที่รัฐบาลสามารถควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติได้อย่างเต็มที่ เพราะมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง มีวินัยพรรคที่รัดกุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแตกแถวแทบไม่ได้ (ผู้ที่ต้องการความรู้เพิ่มเติมอาจสืบค้นด้วยคำว่า elective dictatorship หรือ executive dominance)
ในทางทฤษฎีนั้น หากจะพิจารณาว่า ระบอบการเมืองใดเป็นเผด็จการรัฐสภาหรือไม่นั้น อาจจะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ตีความ ส่วนในทางหลักการแล้ว สิ่งที่เราน่าจะกำหนดตัวชี้วัดของความเป็นเผด็จการรัฐสภาน่าจะประกอบไปด้วย 
1. รัฐบาลมีเสียงข้างมากแบบสมบูรณ์
2. กระบวนการนิติบัญญัติอยู่ในมือรัฐบาล เช่น กฎหมายส่วนใหญ่ริเริ่มโดยรัฐบาล
3. ฝ่ายค้านไม่อาจทำอะไรรัฐบาลได้
4. องค์กรตามรัฐธรมนูญไม่อาจทำอะไรรัฐบาลได้ องค์กรตามรัฐธรรมนูญเช่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความทางการเมืองเข้าข้างรัฐบาล
5. สื่อและประชาชนต่อต้านรัฐบาลแต่ไม่อาจทำอะไรรัฐบาลได้ หรือสื่อเป็นพวกเดียวกับรัฐบาล
6. พรรคการเมืองทำตามมติพรรค ไม่ทำตามฉันทามติที่ได้จากประชาชน

ปัญหาของการมี เผด็จการรัฐสภาจึงทำให้เกิดปัญหาอย่างน้อยใน 3 ประเด็นคือ 
1) รัฐบาลมีอำนาจมากเกินไปจนไม่สามารถตรวจสอบได้ 2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิบัติตามวินัยพรรค ทำให้ความเป็นตัวแทนของประชาชนต้องเป็นรองความเป็นตัวแทนพรรค 3) กระบวนการนิติบัญญัติตกอยู่ในมือรัฐบาล หรืออีกนัยหนึ่งคือพรรคการเมือง ซึ่งไม่ได้สะท้อนความหลากหลายของการเป็นตัวแทนของประชาชน

2.  มีเผด็จการรัฐสภาในเมืองไทยจริงๆ หรือไม่
ถ้าตามทฤษฎีก็คงต้องบอกว่า "เข้าขั้น" เพราะรัฐบาลภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีอำนาจมาก ๆ เลย สาเหตุมาจากอย่างน้อย  2 ประการ 
     1. รัฐธรรมนูญ 2540 
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมให้นายกรัฐมนตรีเข้มแข็งมากขึ้น อันเนื่องมาจาก 
 1). การบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง
 2). การกำหนดให้ผู้เป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สองประการนี้ทำให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไปเป็นรัฐมนตรีจึงต้องลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เหลือเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีตำแหน่งเดียว ทำให้การปรับคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งทำให้อำนาจต่อรองของของนายกรัฐมนตรีมีความเข้มแข็งมากกว่าเดิมขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กลไกที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กำหนดให้มาควบคุมรัฐบาลคือ วุฒิสภาและองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ถูกมองว่าไม่สามารถควบคุมการทำงานของรัฐบาลได้

    2. นโยบายของพรรคไทยรักไทย 
การเปิดของกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) บวกกับ "นโยบาย" ของพรรคไทยรักไทย ที่ทำให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชนอย่างล้นหลาม ทำให้พรรคไทยรักไทยซึ่งในสมัยสุดท้าย ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว มีอิทธิพล

3. ผลกระทบ

ความกลัวในเผด็จการรัฐสภานั้น มีได้ แต่อย่ากลัวให้มากจนมาทำลายรัฐสภา 

เพราะในที่สุดแล้ว ปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 โลกได้เป็นประจักษ์พยานของเผด็จการรัฐสภาของไทย ที่ถูกทำลายลง พร้อม ๆ กับระบอบรัฐสภาด้วย เพราะไม่ว่าเผด็จการรัฐสภาจะทำลายตัวของมันเองด้วยความไม่ชอบธรรมของตัวเองจนถูกต่อต้านโดยภาคประชาชน (อีกฝั่งหนึ่ง) หรือถูกทำลายลงจากรัฐประหาร ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 แล้วก็ทำลายอีกครั้งในปี พ.ศ. 2557

แต่ด้วยธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลจะอยู่ในตำแหน่งได้เป็น "วาระ" 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลจะเข้มแข็งอย่างไร ถ้าอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มันก็จะมีวาระของมันอยู่แล้ว ดังนั้น มันคุ้มหรือไม่ ที่จะนำข้ออ้างเรื่องเผด็จการรัฐสภามาทำลายประชาธิปไตยด้วยตัวของมันเอง
ความกลัวในพลังด้านลบของเผด็จการรัฐสภา ส่งผลอย่างมากต่อกรอบการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และ 2558-59 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีโจทย์สำคัญคือ ทำยังไงจะไม่ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป โดยใน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ส่งผลให้มีการเพิ่มอำนาจขององค์กรอิสระ และศาลมากขึ้น ในขณะที่ รัฐธรรมนูญ 2558 (ฉบับที่ตกไป) นั้น ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งรัฐบาล "ผสม" ที่มีเอกภาพ

นี่คือสิ่งที่สะท้อนถึงความกลัวในผลด้านมืดของเผด็จการรัฐสภา  
ซึ่งมีบ้างก็ดี แต่อย่ามีมากเกินไป จนไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยได้เบ่งบานในสังคม 


ทำไมต้องกลัวรถไฟจีน ?

มันไม่ใช่ว่าสินค้าจีนไม่ได้มาตรฐานหรอก ไอโฟนผลิตที่จีน ใคร ๆ ก้อรู้ สินค้าจีนมีคุณภาพมาก ๆ เยอะแยะ ใครๆ ก้อใช้ สินค้าหลายอย่างที่ตีแบรนด์นอก ผลิตที่เมืองจีน เราดูถูกของจีนไม่ได้ ของจีนดี ๆ ก้อมี

แต่เราคิดว่าปัญหาของรถไฟจีน มันอยู่ที่ทัศนคติ ..




เวลาทัวร์จีนลงมา หรือ เวลาทัวร์ญี่ปุ่นมา มันแตกต่างกันไหม.. ทัวร์จีนลงมานี่เหมือน Tasmania Devil......... มาแล้วปรืดดดดดดด ...ทุกอย่างพินาศ ถ้านั่งกินข้าวอยู่เห็นรถทัวร์จีนมานี่ต้องเรียกเก็บตังค์ทันที ....

ที่สำคัญคือความละเอียดอ่อน .... เวลาจีนทำอะไรทีนี่มันน่ากลัว ดูอย่างปัญหาหมอกควันที่ปักกิ่ง หรือเรื่องปัญหาระเบิดวินาศสันตะโรที่เทียนจิน โอเค สินค้ามันอาจจะมีคุณภาพ เพราะมันถูกผูกด้วย TOR แต่ว่ากว่าจะมาเป็นสินค้าที่เราได้ กระบวนการมันยังไง....

ในขณะที่ของญี่ปุ่น.. เขาจะเน้นอารมณ์และความรู้สึกด้วย โถ ดูสิ เอาง่าย ๆ Tokyo Banana ซื้อทำไม.. ไม่ต้องถามเรื่องรสชาติ... คือ มันไม่ได้อร่อยเลย และ ทำไมต้องซื้อมากิน ... เพราะมันญี่ปุ่นไง เพราะมันน่ารัก เพราะมันน่าทะนุถนอม กว่าจะเปิด ทำแยกทีละชิ้น กล่องก็สวยงาม ได้แล้วญีุ่่ปุ๊นนน ญี่ปุ่น น่ารักอ่ะ

อีกอย่างพอบอกงานจีนนี่ มันให้ภาพที่อธิบายยาก.... เพราะที่ผ่านมาเขาทำร้ายตัวเองโดยการผลิตของปลอม นาฬิกา กระเป๋า มือถือ ฯลฯ เออ ของจริงมันก้อมี ก้อดีด้วย แต่บางครั้งถ้าเราได้ของปลอมมามันซวยป่ะหล่ะ ... แต่ถ้าของญี่ปุ่นนี่... ไม่มีปลอมปน ถ้าญี่ปุ่นนี่ มันคือ เวิร์ค ๆ

ข่าวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ให้ทัศนคติที่ไม่ดี.... เมื่อสองสามเดือนก่อน ฟัง อ. นิติภูมิพูดถึงปัญหาสังคมหนึ่งในกัมพูชา คนกัมพูชาจำนวนมากโดนไล่ที่เพราะคนจีนมากว้านซื้อที่ดินไปปลูกผลไม้ ข่าวจีนกับอุยกูร์ .... ข่าวจีน ฯลฯ ....


ต้องนับรวมกับทัศนคติของคนบางกลุ่มที่มีต่อ ซ๊พีด้วยไหม ซีพีซึ่งถูกมองว่าครอบงำอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย และซีพีมีความผูกพันกับจีน...นี่ยังมีเรื่องการใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้นอีก... อะไรมันจะไม่มีธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาลขนาดนี้

ซึ่งนี่คือการรับรู้ของเราที่มีต่อ จีน/ญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติที่มีต่อรถไฟ

และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เรากลัวรถไฟจีน..
....
และติดอีกนิดนึง...สำหรับเรา... เราคิดว่า รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีหน้าที่คือ รีบคืนอำนาจให้ประชาชน ต้องสร้างความปรองดอง ไม่ต้องมาทำนโยบายมหภาคให้... เพราะโครงการที่จะติดพันกันไปอีกหลายสิบปีนี้ ควรจะมาจากนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง... ของเราติดที่ตรงนี้จริงๆ ถ้าไม่งั้นจะรถไฟจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวเนซุเอล่า รัสเซีย เราก้อไม่หวั่นอะไร