วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

"รัฐบาลบราซิลกับการแทรกแซงราคากาแฟ"


ความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นปัญหาเดียวกับความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกพืชอื่น ๆ รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวสัตว์ด้วย ปัญหาของสินค้าเกษตรอยู่ที่ราคา มื่อราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้ตกต่ำ รัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไขโดยการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรอยู่เสมอ

การเข้าไปแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร เป็นเรื่องของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย โดยมีเหตุผลที่แตกต่างกันในการเข้าไปแทรกแซง คำถามก็คือ ด้วยเหตุผลอะไรและแค่ไหนที่รัฐควรจะเข้าไปแทรกแซง

ขอยกตัวอย่างกรณีของประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง ที่เคยใช้นโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร จนเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่การบิดเบือนสภาพทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้ประเทศไม่พัฒนาตัวเองไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม จนทำให้ประเทศล้มเหลวมาแล้ว เรียกได้ว่า แบกกันจนหลังแอ่น หลังหักไปตามๆ กัน

......................

"ประเทศบราซิล" บราซิลเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ มีพื้นที่ติดกับเกือบทุกประเทศในทวีปยกเว้นเอกวาดอร์และประเทศชิลี พื้นที่ทางตะวันออกเกือบทั้งหมดของทวีปละตินอเมริกาจนกระทั่งถึงบริเวณตอนกลางของทวีป รวมถึงหมู่เกาะหลายแห่งในมหาสมุทรแอตแลนดติกเป็นของประเทศบราซิล ประเทศบราซิลมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในโลก รองจากรัสเซีย แคนาดา จีน และสหรัฐอเมริกา ด้วยขนาดที่ใหญ่ของบราซิลนี้ กินพื้นที่ถึง 4 เขตเวลา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของบราซิลมีความแตกต่างจากประเทศรอบข้างมาตั้งแต่ก่อตั้งอาณานิคม เพราะการครอบครองบราซิลในระยะแรกไม่ได้เป็นไปในรูปแบบของการจัดตั้งอาณานิคมอื่น ๆ เนื่องจากโปรตุเกสเป็นประเทศเล็ก ๆ ขาดแคลนททั้งงบประมาณ กองทัพเรือ และข้าราชการที่จะตั้งรูปแบบการปกครองอาณานิคมในบราซิลได้ ด้วยเหตุนี้โปรตุเกสจึงใช้รูปแบบของบรรษัทการค้าในการเข้ามาบริหารจัดการอาณานิคมบราซิล เพื่อที่จะตั้งหลักปักฐานและป้องกันไม่ให้ดินแดนแถบนี้ถูกแย่งชิงโดยชาติมหาอำนาจอื่น 

...............

"น้ำตาล: พืชเศรษฐกิจช่วงแรก"

ในช่วงแรก ชาวโปรตุเกสได้จัดตั้งบริษัทผลิตน้ำตาลในดินแดนแถบตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ในปี ค.ศ. 1531 บริษัทผลิตน้ำตาลของโปรตุเกสเริ่มต้นดำเนินการ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งระบบการขนส่งและผลิตอาหารเพื่อแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล ไม่นานหลังจากนั้น โปรตุเกสก็ประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ น้ำตาลจากไร่ขนาดใหญ่ได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของแหล่งอาณานิคม โปรตุเกสนำเข้าเทคโนโลยีการปลูกอ้อยมาจากหมู่เกาะในแถบแอตแลนติก และนำเข้าเครื่องแปรรูปให้เป็นน้ำตาล ส่วนแรงงานที่ใช้ในไร่อ้อยมาจากทาสชาวอาฟริกัน ส่วนทักษะและเงินทุนในการทำการตลาดและการขายได้จากชาวดัช ซึ่งได้ทำให้น้ำตาลจากบราซิลเข้าไปตีตลาดยุโรปได้เป็นผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว บราซิลกลายเป็นแหล่งรายได้ที่มาจากอุตสาหกรรมการเกษตรที่สำคัญของโปรตุเกส จากการที่อุตสาหกรรมน้ำตาลของโปรตุเกสประสบความสำเร็จจากความร่วมมือของหลายชาติ แต่กลับประสบปัญหา เมื่อสเปนทำสงครามกับดัชในช่วงปี ค.ศ. 1635 นั้น โปรตุเกสได้เข้าข้างสเปน ชาวดัชจึงถูกขับไล่ออกไปจากบราซิล หลังจากนั้นชาวดัชได้หันไปตั้งอาณานิคมน้ำตาลใหม่ในมหาสมุทรแคริเบียน ส่งผลให้บราซิลในฐานะอาณานิคมน้ำตาลของโปรตุเกสอยู่ในฐานะลำบาก

เหตุการณ์สงครามนี้ส่งผลต่ออำนาจทางการเมืองของโปรตุเกสในดินแดนอาณานิคมด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อราคาน้ำตาลตกลงรัฐบาลโปรตุเกสก็มีรายได้น้อยลดน้อยลงไปด้วย เนื่องจากโปรตุเกสพึ่งพาน้ำตาลเป็นสินค้าออกเพียงอย่างเดียว จากประสบการณ์ดังกล่าว ได้ทำให้โปรตุเกสต้องปรับระบบเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีการส่งออกสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ไม่สามารถพึ่งพาน้ำตาลได้เพียงอย่างเดียว และเริ่มขยายดินแดนอาณานิคมเข้าไปในเขตภาคพื้นทวีป จากน้ำตาลที่เป็นพืชที่ต้องอาศัยจมูกคนอื่นหายใจ จึงเปลี่ยนแปลงไปเป็นพืชอื่นที่บราซิลลงไม้ลงมือทำด้วยตัวเอง

...............

"กำเนิดกาแฟ"

หลังจากที่ประสบปัญหาในการปลูกน้ำตาล ต่อมา ได้เกิดพืชทางการเกษตรที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของบราซิลจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นพืชที่มีอิทธิพลต่อประเทศบราซิลที่มากกว่าพืชใด ๆ ที่ผ่านมา พืชชนิดนั้นคือ “กาแฟ” ซึ่งได้เริ่มนำเข้ามาในบราซิลในช่วงศตวรรษที่ 18 เพื่อการบริโภคภายในประเทศ แต่หลังจากที่ราคากาแฟพุ่งขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1820-1830 ได้ส่งผลให้กาแฟกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง

จากแต่เดิมที่มีการปลูกกาแฟบนที่ราบสูงใกล้เมืองริโอ เด จาเนโร เนื่องจากมีภูมิประเทศที่เหมาะสม มีแรงงานทาสล้นเหลือ และอยู่ใกล้ท่าเรือ กลายเป็นการขยายการปลูกกาแฟไปทั่วประเทศ นอกจากนี้นายทุนชาวบราซิลที่ร่ำรวยขึ้นมาจากธุรกิจการขุดทอง ก็มีอิทธิพลในการกดดันให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือในการขยายพื้นที่ปลูกกาแฟ และการให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนในสาธารณูปโภคการขนส่ง

ด้วยเหตุนี้จึงมีการขยายพื้นที่ปลูกกาแฟจากไร่กาแฟบริเวณใกล้เมืองริโอ เด จาเนโร ได้ขยายไปยังหุบเขาปาไรบา (Paraiba Valley) และ รัฐเซาเปาโล (Sao Paulo) ซึ่งได้กลายเป็นภูมิภาคส่งออกกาแฟที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ในช่วงระยะแรกการปลูกกาแฟได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ในภายหลังการอุตสาหกรรมการปลูกกาแฟได้ถูกจำกัดไว้ด้วยข้อจำกัดสองข้อคือ ความยากลำบากในการขนส่ง เนื่องจากไม่ได้มีการลงทุนในสาธารณูปโภคด้านการคมนาคม และการขาดแคลนแรงงาน เพราะกาแฟเป็นพืชที่ใช้แรงงานสูง

การปลูกกาแฟในเขตพื้นที่ภาคพื้นทวีปและทางตะวันตกเฉียงเหนือ อยู่ห่างไกลจากท่าเรือ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่ง จากบริเวณใกล้เมืองริโอ เด จาเนโร ไปถึงหุบเขาปาไรบา และขยายไปถึงที่ราบสูงในเซา เปาโล ด้วยเหตุนี้จึงมีการขยายทางรถไฟเพิ่มขึ้นจากในปี ค.ศ. 1860 ที่บราซิลมีทางรถไฟเพียง 223 กิโลเมตร กลายเป็น 6,930 กิโลเมตรในปี ค.ศ. 1885

ในระยะเวลาต่อมา การเพาะปลูกกาแฟบราซิลเริ่มมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากบราซิลได้ล้มเลิกระบบแรงงานทาสมาตั้งแต่ ค.ศ. 1840 จึงได้มีความพยายามให้มีการอพยพแรงงานเข้ามาหางานทำ จำนวนมหาศาล พร้อม ๆ กับปรากฎการณ์ที่กาแฟเป็นสินค้าหลักของประเทศ โดยในปี ค.ศ. 1891 กาแฟมีค่า 63% ของมูลค่าการส่งออกและในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1901-1910 กาแฟมีค่า 51% ของมูลค่าการส่งออก นอกจากกาแฟแล้ว พืชส่งออกหลักของบราซิลยังมี น้ำตาล ฝ้าย ยาสูบ โกโก้ และในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้มีการขยายตัวของการปลูกยางพาราด้วย

......

"ปัญหากาแฟกับการแทรกแซงราคา"

การพึ่งพารายได้จากการส่งออกกาแฟของบราซิลได้ก่อให้เปิดปัญหาในช่วงต้นปี ค.ศ. 1900-1901 เนื่องจากมีปริมาณกาแฟล้นตลาดโลก ราคากาแฟจึงตกต่ำ รัฐบาลจึงได้พยายามเข้ามาควบคุมราคา โดยการควบคุมการผลิตและการส่งออก จากการที่บราซิลส่งออกกาแฟถึงราวสี่ในห้าของปริมาณกาแฟทั่วโลก รัฐบาลจึงคิดว่า การกำหนดปริมาณและราคากาแฟของรัฐบาลบราซิล จะส่งผลต่อราคาตลาดกาแฟโลกได้ แต่หลังจากปี ค.ศ. 1906 ปริมาณกาแฟได้เพิ่มจำนวนขึ้นมาราว 2 เท่า ส่งผลให้การเก็บรักษากาแฟในประเทศต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และนำไปสู่การกู้ยืมเงินระหว่างประเทศที่มีจำนวนมากขึ้นเข้าไปอีก นโยบายของรัฐในการควบคุมราคากาแฟไม่สามารถเพิ่มราคากาแฟให้สูงขึ้นดังที่ต้องการ เป็นเพียงการทำให้ราคากาแฟไม่ตกลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่

นโยบายการควบคุมราคากาแฟถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จนถึงช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก (Great Depression) ทำให้บราซิลพบปัญหากาแฟล้นตลาด ซึ่งรัฐบาลบราซิลต้องใช้จ่ายเงินในการอุดหนุนราคากาแฟ การจ่ายเงินอุดหนุนราคากาแฟทำให้ไร่กาแฟขยายตัวมากขึ้น ซึ่งทำให้กาแฟยิ่งล้นตลาดมากขึ้น ในช่วงเวลาการขยายตัวของเศรษฐกิจกาแฟ ก็ได้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมบางประเภท โดยเฉพาะสิ่งทอ เสื้อผ้า อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของรายได้ภายในประเทศ เพราะเมื่อผู้คนมีรายได้มากขึ้น ก็ต้องการสินค้าอื่นๆ มากขึ้น นอกจากนี้มีการขยายตัวของการคมนาคมขนส่ง การขยายตัวของไฟฟ้า ความเป็นเมือง และชนชั้นพ่อค้า แต่การขยายตัวในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะเป็นการขยายตัวที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตเมือง เช่นเดียวกับการขยายตัวของการปลูกยางในฐานะพืชเศรษฐกิจ การขยายตัวของธุรกิจยางและกาแฟ ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ การพัฒนาและการเจริญเติบโตกระจุกตัวอยู่ที่เขตตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ใกล้ท่าเรือและภูมิประเทศเหมาะสมกับการปลูกกาแฟ

....

"อวสานนโยบายอุ้มกาแฟ"

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจแทรกแซงเศรษฐกิจโดยการอุดหนุนราคาสินค้าภายในประเทศนำมาสู่ภาวะหนี้ภาครัฐ จนรัฐบาลถูกกดดันให้ระงับการใช้เงินเพื่อนำมาใช้หนี้ แต่ผลผลิตกาแฟที่เกินขึ้นมาทำให้รัฐบาลต้องแทรกแซงตลาดกาแฟมากกว่าเดิม ในที่สุดโครงการแทรกแซงราคากาแฟต้องถึงกาลล้มละลายในปี 1930

รัฐบาลต้องป้องกันไม่ให้ราคากาแฟตกลงไป โดยการซื้อเมล็ดกาแฟไว้ ในที่สุดโครงการนี้ล้มเหลว นำมาสู่ปัญหาเศรษฐกิจของทั้งประเทศ ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงทศวรรษถัดมาเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงนั้น ราคากาแฟตกต่ำอันเป็นผลจากภาวะชะงักงันในอุปทานโลกช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้กาแฟล้นตลาดมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920s บราซิลประสบปัญหาการขาดดุลการค้า และนำมาสู่ปัญหาหนี้ต่างประเทศ และวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นภายนอกประเทศที่ใช้เวลาอีกราวหนึ่งทศวรรษในการแก้ไขปัญหา

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

ปัญหาการแทรกแซงพลังงานในบราซิล 1950-1990



นอกจากการอุ้มกาแฟจนหลังแอ่นแล้ว ในช่วงหลังทศวรรษที่ 1950 บราซิลยังอุ้มพลังงานด้วย ปัญหาเรื่องพลังงานในบราซิล มีสาเหตุหลักมาจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมาก

ในช่วงทศวรรษที่ 1950 นั้น พลังงานหลักของประเทศได้มาจากไม้ ถ่าน และ กากอ้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว พลังงานจากแหล่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เพียงพอต่อการขยายตัวทางอุตสาหกรรมสมัยใหม่ต้องการพลังงานที่มากกว่าแหล่งพลังงานข้างต้น ดังนั้นบราซิลจึงได้หันเหไปผลิตพลังงานจากไฟฟ้าและปิโตรเลียมแทน ที่เขียนนี้ไม่ใช่อะไรหรอก เห็นคนอยากเปลี่ยนนโยบายพลังงานมาเป็นการอุ้มพลังงาน อ่านแล้วนึกถึงประสบการณ์ที่เลวร้ายของบราซิล เลยมาเล่าให้ฟัง..

 ...................

"4 ทศวรรษของการอุ้มราคาพลังงาน"

ในปี ค.ศ.1950 ประเทศบราซิลสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 1.9 ล้านกิโลวัต และใช้พลังงานจากการนำเข้าปิโตรเลียมเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีปัญหาการขาดแคลนกระแสไฟฟ้า ทั้งในด้านการผลิตเพื่อการอุตสาหกรรม และต่อการขยายตัวของพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเมือง ความต้องการน้ำมันก็มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนโยบายที่ต้องการทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมหลักในยุทธศาสตร์การผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า ซึ่งพึ่งพารถขนาดใหญ่ในการขนส่งทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างถนนที่ทันสมัย อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ก่อนทศวรรษที่ 1990 เป็นช่วงที่ประเทศบราซิลยังใช้นโยบายอุ้มราคาพลังงานอยู่ ประเทศบราซิลควบคุมราคาพลังงานภายในประเทศให้ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายที่ช่วยเหลือการควบคุมเงินเฟ้อ แต่การควบคุมอัตราค่าพลังงาน ที่ไม่เป็นไปตามต้นทุนที่เกิดขึ้นทำให้การขยายตัวของผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าขาดแคลนเงินทุน และไม่สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นการขยายตัวในอุตสาหกรรมจึงได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง และได้ทำให้รัฐซึ่งเป็นผู้ผูกขาดการผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า ตกอยู่ในภาวะติดหนี้สิน แม้ว่าการเพิ่มราคาค่าไฟในบางโอกาส ได้ทำให้รัฐวิสาหกิจสามารถหลุดจากภาวะหนี้ได้บ้าง แต่รัฐบาลมักจะเข้ามาแทรกแซงราคาค่าไฟอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศมีสูงจนเกินไป

ถึงแม้ว่าหน่วยงานที่เป็นกรมธนารักษ์ของประเทศจะแสดงความกังวลต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการแทรกแซงราคาค่าพลังงาน แต่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนกระทั่งปลายทศวรรษที่ 1980 จึงได้เกิดสัญญาณที่หน่วยงานที่ผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศกำลังจะเผชิญกับปัญหาการล้มละลาย ในทศวรรษถัดมา รัฐบาลได้พยายามกำหนดนโยบายหลายประการที่จะลดภาระการผูกขาดของตน โดยเริ่มต้นจากการลดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ การปฏิรูปตลาด และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ได้ เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของปัญหานโยบายพลังงานภายในประเทศ เพราะยังมีการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศอยู่ กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มในประเทศไม่ต้องการให้แก้ไขปัญหานี้

ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างราคาพลังงานภายในประเทศ จึงเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ราคาพลังงานภายในประเทศจึงต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น และไม่ได้กระตุ้นให้มีการพิจารณาการผลิตพลังงานจากแหล่งอื่น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าอย่างมาก เช่น การผลิตอะลูมิเนียม ทำให้ราคาต้นทุนไม่สะท้อนราคาต้นทุนที่แท้จริง และผลักดันให้รัฐวิสาหกิจที่ผลิตพลังงานต้องแบกรับภาระหนี้อย่างหนัก

 ......

"ความไม่จริงจังในการบริหารความเสี่ยงของพลังงาน"

ในทศวรรษที่ 1970-1980 ได้มีการเปลี่ยนแปลงลงทุนในพลังงานกระแสไฟฟ้าที่มาจากน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้ในปี ค.ศ.1993 กระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ คิดเป็นร้อยละ 93.3 ของพลังงานทั้งหมดภายในประเทศ โดยการสร้างเขื่อนจำนวนมาก และในบราซิลมีเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคือ เขื่อนอิตาอิปู (Itaipu Dam)ในรัฐแม่น้ำปารานา (Rio Paraná) ทางตอนใต้และเขื่อน ทูกูรุย (Tucuruí) ในรัฐปารา Pará กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศนี้ถูกผูกขาดโดยรัฐบาล ผู้ที่จะมาลงทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ก็คือรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลมลรัฐเท่านั้น รัฐบาลเข้ามาควบคุมการผลิตกระแสไฟฟ้า และการกระจายกระแสไฟฟ้าด้วย แม้ว่าโดยหลักการแล้ว การที่บราซิลมีพลังงานน้ำเหลือเฟือ และสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ไม่ยากเกินไป เพียงแต่การบริหารจัดการที่ล่าช้าและแนวทางการบริหารแบบอนุรักษ์นิยม ที่ไม่ยอมให้เงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงในการผลิตกระแสไฟฟ้ามานานหลายทศวรรษ

.......

"ราคาน้ำมันแพง และการแสวงหาพลังงานทดแทน" ในระยะแรกการนำเข้าน้ำมันสามารถแก้ไขปัญหาความต้องการน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากน้ำมันได้ แต่ในระยะเวลาต่อมา ปัญหาการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตลอดจนยุทธศาสตร์การผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าที่ไม่ต้องการพึ่งพาต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลบราซิลพยายามพึ่งพาตัวเองในด้านปิโตรเลียม ในปี ค.ศ. 1950 รัฐบาลบราซิลได้ผูกขาดการสำรวจ ขุดเจาะ กลั่น และขนสั่งน้ำมันให้กับบริษัทน้ำมันบราซิล (Petróleo Brasileiro S.A.—Petrobrás) ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาล ในช่วงนั้นมีการให้ความสำคัญกับการกลั่นน้ำมัน เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาไม่สูงมาก ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมปิโตรเลียมในบราซิลระยะแรกจึงเน้นกับความสำคัญกับการกลั่นน้ำมันเท่านั้น โดยไม่ได้เน้นด้านการสำรวจและขุดเจาะแหล่งน้ำมัน

ต่อมาราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้น โดยวิกฤติการณ์น้ำมันในทศวรรษที่ 1970 ได้ทำให้บราซิลตกอยู่ในภาวะลำบาก ใน ค.ศ.1974 การบริโภคน้ำมันของบราซิลอยู่ภายใต้การนำเข้าถึงร้อยละ 80 การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันได้ทำให้ประเทศประสบปัญหาการขาดดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้นโยบายพลังงานจึงต้องมุ่งไปที่การลดการพึ่งพาการนำเข้าปิโตรเลียม นโยบายดังกล่าวถูกทุ่มเทไปที่การหาพลังงานทดแทน ผู้กำหนดนโยบายจึงมองไปที่พลังงานไฟฟ้าและเอททานอล ตลอดจนความพยายามขยายการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมภายในประเทศ แต่กว่าจะพบแหล่งน้ำมันได้กินระยะเวลาไปถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 ของอัตราการลงทุนภายในประเทศ ไปเป็นร้อยละ 23.5 ในปี ค.ศ.1982-83 ในส่วนของรายได้ประชาชาติก็พบว่าการลงทุนในพลังงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในทศวรรษที่ 1970 ไปเป็นร้อยละ 5 ในปี ค.ศ. 1982
..........................


 "ยิ่งมีเอททานอล ยิ่งเดือดร้อน"

จากประสบการณ์ที่ประเทศได้เผชิญกับวิกฤติการณ์น้ำมันถึงสองครั้งในทศวรรษที่ 1970 ทำให้รัฐบาลบราซิลในขณะนั้นคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะยังคงราคาสูงไปเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงทุ่มเทให้กับการแสวงหาและทดสอบพลังงานทดแทนที่จะมาแทนที่น้ำมัน ในทศวรรษถัดมา แม้ราคาน้ำมันจะลดต่ำลง แต่รัฐบาลยังคงนโยบายสรรหาพลังงานทดแทนอยู่ รัฐบาลจึงใช้นโยบายการตรึงราคาน้ำมันไว้คงที่ โดยให้น้ำมันเบนซินมีราคาแพงที่สุด ไม่ใช่เพียงเพื่อการลดการใช้น้ำมันเบนซินที่มีราคาเสี่ยงต่อการแกว่งตัวขึ้นสูง แต่เพื่อการอุดหนุนบริษัทผลิตน้ำมันของประเทศเปรโตบราส์ (Petrobrás) ในการสำรวจและค้นหาแหล่งพลังงานทดแทน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังกำหนดให้ราคาน้ำมันดีเซล และโพรเพน (ที่ใช้ในครัวเรือน) มีราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกเป็นอย่างมาก โดยมีการอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพื่ออุดหนุนปัญหาการคมนาคมขนส่ง

ตลอดระยะเวลาการพัฒนาประเทศก่อนกลางทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลบราซิลได้พยายามแทรกแซงราคาพลังงานอยู่เสมอ ทำให้ราคาพลังงานในท้องตลาดไม่ได้สะท้อนราคาพลังงานที่แท้จริง ผลคือได้สร้างภาระหนี้ให้กับรัฐอย่างมหาศาล เช่น รัฐบาลเกรงว่าราคาน้ำมันจะสูงและจะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ รัฐบาลจึงใช้นโยบายเพื่อจูงใจให้คนหันไปใช้น้ำมันให้น้อยลง และให้ผู้คนหันมาใช้น้ำมันแก๊ซโซฮอล รัฐบาลจึงทำให้กดราคาเอทานอลให้มีมูลค่าเพียง 60% ของราคาน้ำมัน และนำไปใช้ผสมกับน้ำมันเพื่อให้เป็นแก๊ซโซฮอลคือเอทานอลที่ถูกผสมไปในน้ำมันในอัตราส่วน 20:80 ทำให้น้ำมันแก๊ซโซฮอลมีราคาต่ำกว่าน้ำมัน แต่กลายเป็นว่า รัฐบาลเองที่ต้องแบกรับภาระเอทานอล

นโยบายที่แข็งกระด้างเกินไปของการอุ้มราคาน้ำมัน ได้สร้างปัญหาที่หนักหน่วงให้กับประเทศ การที่รัฐบาลอุ้มราคาแก๊ซโซฮอล และดีเซล ทำให้ราคาน้ำมันเบนซิลและแก๊ซโซฮอล์มีความแตกต่างกันมาก ผู้คนจึงพากันหันมาใช้แก๊ซโซฮอลที่มีราคาต่ำกว่าโดยการนำรถยนต์ไปเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้สามารถใช้แก๊ซโซฮอลได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีปัญหาการคาดการณ์ผิดที่คิดว่าราคาน้ำมันจะสูงอย่างต่อเนื่องเช่นที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1979 เพราะหลังจากนั้นราคาน้ำมันโลกตกต่ำลง แต่ราคาที่กำหนดไว้ตายตัวส่งผลต่อผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้น้ำมันแก๊ซโซฮอล ราคาน้ำมันยังตกต่ำลงอีกเนื่องจากรัฐบาลพยายามกำหนดราคาสินค้าและบริการไว้เพื่อลดปัญหาภาวะเงินเฟ้อ

จากการที่แก๊ซโซฮอลมีราคาต่ำกว่าน้ำมัน จึงไม่ได้เอื้อให้บริษัทต่าง ๆ ลงทุนในกิจการผลิตน้ำมัน ด้วยเหตุนี้บริษัทเปโตรบราส์ที่ควรจะได้กำไรจากการขายน้ำมันกลับประสบปัญหา เพราะประชาชนไม่ซื้อน้ำมันเบนซินที่มีราคาสูงกว่าดีเซลและแก๊ซโซฮอล บริษัทจึงต้องหันไปพึ่งเงินอุดหนุนรัฐบาลเพื่อขยายโครงการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาการอุ้มราคาพลังงานอื่น ๆ

นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในการใช้น้ำมันดีเซล ในภาคการขนส่ง ผสมผสานกับเทคโนโลยีในการกลั่นน้ำมันดิบซึ่งจะได้ทั้งน้ำมันเบนซิลและน้ำมันดีเซล บริษัทโปโตรบราส์ถูกบังคับให้ลงทุนอย่างหนักเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการกลั่นน้ำมันให้ผลิตดีเซลให้ได้มากกว่าเบนซินที่มีราคาสูง ในช่วงที่ยังเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไม่ได้ทำให้เปโตรบราส์ต้องผลิตน้ำมันเบนซิลมากกว่าปริมาณที่ต้องการใช้ภายในประเทศ โดยส่วนเกินของน้ำมันเบนซิลจะต้องถูกส่งไปขายต่างประเทศในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด เพราะความต้องการดีเซลเพิ่มขึ้นเรือย ๆ ในขณะที่ความต้องการน้ำมันเบนซินตกต่ำลงเรื่อยๆ จนกระทั่งในทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลถึงได้ลดการอุดหนุนพลังงาน เพื่อลดความแตกต่างระหว่างราคาน้ำมัน แก๊ซโซลีน และดีเซลลง

วันนี้มาเล่าเรื่อง คลองกระ

1. จริงๆ การขุดคลองกระนี่ถูกบันทึกไว้ว่า เป็นความพยายามมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว มาบูมอีกรอบในสมัย ร. 4-5 ตอนนั้นฝรั่งเศสอยากจะมาขุดมากๆ แต่ไทยเราสงวนไว้ไม่ให้ขุด 

2. ต่อมามีเรื่องความพยายามอยากจะขุดอีกหลายรอบ เรียกได้ว่ามีกระแสทุกๆ 10 ปี งานศึกษาข้อดีข้อเสีย รวมทั้งตำแหน่งแห่งที่ในการขุด เอกสารเกี่ยวกับคลองกระมีมากมายเรียกได้ว่าพอ ๆ กับ งานศึกษาเรื่องความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ 

3. กระแสต่อต้านการขุดคลองกระ เป็นสาเหตุมาจากฝ่ายความมั่นคง คือ กลัวว่าจะมีการแบ่งแยกดินแดน (อย่างน้อยคงทางกายภาพ) บางคนอ้างว่า สิงคโปร์กับมาเลเซียไม่อยากให้สร้าง เพราะกลัวไทยมาแย่งเส้นทางการเดินเรือ

 4. งานคลองกระงวดนี้ (ตุลาคม 2557) มาจากความพยายามของบริษัทเอกชนที่ทำงานด้านกก่อสร้างกว่า 10 แห่งในประเทศจีนร่วมมือกันทำการศึกษาความเป็นไปได้ แต่จนวันนี้ยังไม่มีความตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐอย่างเป็นทางการนะจ๊ะ

 5. รัฐบาลไทยยังแบ่งรับแบ่งสู้ จริงๆ ตามบทบาทนี่ทหารไม่ควรจะชอบ ทหารควรจะรีบออกมาปฏิเสธการขดคลองกระด้วยกลัวปัญหาความมั่นคง แต่มาวันนี้ รับบาลเป็นทหาร และจีนเป็นมิตรประเทศ ถ้ารัฐบาลเอาด้วยทหารจะได้ประโยชน์ด้านอื่น หรือถ้าไม่เอาต้องพยายามปฏฺิเสธอย่างมีชั้นเชิง หรือเอาเข้าจริงๆ อาจไม่ปฏิเสธ เพราะมีเป็นมหาอภิอัศจรรย์บิ๊กแกรนด์ไจเอ้นท์โปรเจคท์

6. ถ้ามีการขุดคลองกระจริงๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่โตในบริเวณก่อสร้าง มีการขนอุปกรณ์ขนาดใหญ่เข้าไป "ขุด" เกิดระบบบริหารจัดการต่างๆ เกิดชุมชน สังคมใหม่ในบริเวณนั้น

7. เรื่องที่ห่วงจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องภายหลังการก่อสร้าง อาจมีปัญหาในเรื่องอำนาจอธิปไตยจริงๆ ถ้าจีนจะมาลงทุนเยอะ ในขณะที่ไทยไม่มีตังค์แบบนี้และไม่ค่อยมีทางเลือกแบนี้ เชื่อได้ว่าสุดท้ายคงโดนบังคับทำสัญญาที่เสียเปรียบ คลองกระจะไม่ได้เป็นของคนไทยไปจนถึงลูกถึงหลาน

8. โครงการอภิ มหาโปรเจ็คท์แบบนี้ ถ้าจะทำ ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาทำดีกว่าไหม รัฐบาลที่มาด้วยวิธีการยึดอำนาจ ไม่ควรจะทำโครงการอะไรที่ยืดเยื้อไปถึงลูกหลาน

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

ราคาน้ำมัน และผลกระทบต่อการเมืองในอาเซียน

"ราคาน้ำมันตกต่ำ" ทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมัน อย่างเช่น ซาอุดิอาระเบีย ต้องปรับนโยบายโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดเงินอุดหนุนน้ำมันกว่า 50%

ผลก็คือ ทำให้น้ำมันราคาแพงขึ้น และส่งผลต่อค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอื่น ๆ ที่แพงขึ้นไปด้วย น่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชนแหล่ะ... โดยเฉพาะประชาชนที่ยากจนของซาอุ... โดยเฉพาะประชาชนที่นับถือชีอะห์....

 (แต่ในช่วงต้นปีรัฐบาลแจกเงินประชาชน 2100 ล้านบาท และจัดงานฉลองเฉลิมอะไรสักอย่าง ใช้เงินเป็นจำนวนมาก) ... แกคงไม่คิดว่าราคาน้ำมันจะตกยาวมั้ง.... คิดว่า โอเปคจะแข็งพอ และจะช่วยฟื้นราคาน้ำมันได้

...



ฟังข่าวนี้แล้วทำให้คิดถึงประเทศในอาเซียนอีกประเทศหนึ่งอย่าง "บรูไน" บรูไน เป็นประเทศที่พึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นสินค้าออกเพียงอย่างเดียว โดยคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 90 ของการส่งออก ในขณะที่จ้างแรงงานได้เพียงร้อยละ 3 แม้ว่า

ที่ผ่านมาสุลต่านจะประกาศให้มีสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ 2035 แต่การดำเนินงานยังแลดูไม่ก้าวหน้ามากเท่าไหร่


เห็นอย่างนี้ บรูไนเป็นประเทศสวัสดิการนะจ๊ะ แต่เป็นประเทศสวัสดิการที่แตกต่างจากประเทศในยุโรป คือ ประเทศในยุโรปรัฐจัดสวัสดิการให้ แต่เก็บภาษีมาก ส่วนบรูไนรัฐจัดสวัสดิการให้แต่ไม่มีภาษี คนบรูไนไม่ต้องเสียภาษีนะจ๊ะ.... ทุกคนได้รับสวัสดิการต่าง ๆ จากรัฐ เช่น สุขภาพ ที่อยู่อาศัย หรือการศึกษา ซึ่งคนบรูไนได้รับการศึกษาถึงปริญญาตรีโดยไม่ต้องเสียตังค์ ในระดับปริญญาโท จะไปเรียนโทประเทศไหนก้อไปได้  ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีปัญญาจะส่งสวัสดิการให้กับประชาชน เพราะราคาน้ำมันค่อนข้างสูง และรัฐบาลเป็นเจ้าของบริษัทน้ำมันเอง ....

นอกจากนี้ยังต้องการให้ประชาชนมีความพึ่งพิงทางเศรษฐกิจกับรัฐบาล เพื่อที่จะได้มีความอ่อนแอทางการเมือง แต่เมื่อมีปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำอย่างนี้เป็นระยะเวลาหนึ่งมาแล้ว และจะคงยังตกต่ำอย่างนี้ ...

มันจึงน่าเป็นห่วง เพราะน่าจะส่งผลกระทบต่อการเมือง ปัญหาทางเศรษฐกิจของบรูไน จะส่งผลต่อปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันนี้ บรูไนเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ที่ประกาศต่ออายุทุก ๆ สองปี ...

บรูไนเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองอยู่บนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาทำได้โดยการสร้างรัฐให้เป็นรัฐสวัสดิการ รัฐแจกทุกอย่าง ให้คนกินอิ่ม เพื่อไม่ต้องพูด... แต่ต่อไปนี้จะกินอิ่มได้ตลอดหรือเปล่า .... ความขัดแย้งทางการเมืองที่เคยซุกอยู่ใต้พรมมา 40 กว่าปี จะผุดขึ้นมาอีกหรือเปล่า... ตรงนี้เป็นระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่งในอาเซียน ... ที่น่าสนใจ

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559

REVIEW: ความสัมพันธ์ฟิลิปปินส์-สหรัฐ ในทศวรรษที่สูญหาย (1991-2001) ฑภิพร สุพร

REVIEW: ความสัมพันธ์ฟิลิปปินส์-สหรัฐ ในทศวรรษที่สูญหาย (1991-2001) ฑภิพร สุพร 




วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ขอแนะนำหนังสือเรื่อง ความสัมพันธ์ฟิลิปปินส์-สหรัฐ ในทศวรรษที่สูญหาย (1991-2001) โดย ฑภิพร สุพร

 ซึ่งก่อนอื่น อนุญาตทำความรู้จักผู้เขียนกันก่อน ฑภิพร สุพร เป็นบัณฑิตจากรั้วสีเขียว สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปะศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากภาควิชารัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาบัณฑิตจากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2557

 ฑภิพร สุพร ได้ทำงานวิจัยเรื่อง “ความสัมพันธ์ฟิลิปปินส์-สหรัฐ ในทศวรรษที่สูญหาย (1991-2001)” ให้กับสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีความหมายและความสำคัญต่อนโยบายของไทยต่ออาเซียนและมหาอำนาจ ตลอดจนให้ภาพที่สำคัญของประชาคมอาเซียนที่เรากำลังเป็นสมาชิกอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาคมการเมืองความมั่นคง อันเป็นเสาหลักที่สำคัญของประชาคมอาเซียน

ความสนใจในขั้นแรกในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ ฑภิพร ผู้ได้รับเกียรตินิยมในสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มาจากเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่จุดประกายให้ ฑภิพร ได้เริ่มศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างป็นทางการ และเฝ้าติดตามสถานการณ์และปรากฎการณ์ภายหลังจากนั้นมาอยู่เสมอ

ฑภิพรกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ “ระบบการเมืองระหว่างประเทศหลังยุคสงครามเย็น” เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างเป็นหลักเป็นการมากขึ้น ที่ชัดเจนก็คือ สหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์กลับมามีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น และในทางหลักการคือ ในทางวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 กลายมาเป็นหมุดหมายทางการเมืองของการอธิบายวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ต่างไปจากสนธิสัญญาสันติภาพเวสฟาเลีย สงครามโลกครั้งที่ 1 และสอง และการสิ้นสุดของสงครามเย็น 

ที่เลือกหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา Review เป็นเล่มแรก เนื่องจากเป็นหนังสือที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมุมมองของภัยความมั่นคงแบบดั้งเดิม ซึ่งมีคนเขียนในแนวนี้น้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยส่วนใหญ่งานที่เกี่ยวกับอาเซียนจะมุ่งเน้นเรื่อง เศรษฐกิจ มากกว่า เรื่องความมั่นคงแบบดั้งเดิม เพราะหนังสือเล่มนี้เสนอว่าการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพันธมิตรทางทหารระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯยังเป็นประเด็นที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้บริบทของการขับเคี่ยวแข่งขันทางอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐฯในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปรากฏให้เห็นความพยายามของสหรัฐฯในการผลักดันยุทธศาสตร์ปรับสมดุลใหม่ ซึ่งมีนัยที่สำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของพันธมิตรของสหรัฐฯอย่างฟิลิปปินส์ภายใต้ประธานาธิบดี Benigno Aquino III (2010- ปัจจุบัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือเล่มนี้ให้การวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับ “ความสามารถของประชาคมอาเซียน” ที่จะตอบโต้พฤติกรรมและท่าทีอันแข็งกร้าวของจีนในกรณีพิพาททะเลจีนใต้

 ข้อความที่หนังสือเล่มนี้ต้องการจะสื่อคือ สมการทางความมั่นคงของฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯได้เปลี่ยนไปจากการมีโซเวียตเป็นภัยคุกคามร่วมกัน ไปสู่การมีจีนเป็น "Potent Threat" ของทั้งสองชาติเนี่ย มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที แต่ค่อยๆพัฒนามาเรื่อยๆจากยุค 90 จนถึงปัจจุบันที่จีนเริ่มขยับขยายอิทธิพลเข้ามายังพื้นที่พิพาทมากขึ้น พูดง่ายๆคือ กำลัง flexing muscle ในทะเลจีนใต้ที่จีนถือเป็น "สนามหลังบ้าน" หรือเป็นเขตอิทธิพลของตัวเอง โดยสิ่งที่ชัดเจนมากที่สุดตอนนี้คือ การถมทะเลสร้างเกาะเทียม -- ซึ่งแม้ตามกฏหมายระหว่างประเทศจะทำให้จีนมีสิทธิเพิ่มขึ้นในการกล่าวอ้างพื้นที่พิพาท เพราะไม่ใช่เกาะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ -- แต่ก็ทำให้บรรดา claimant states เช่น ฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม ไม่สบายใจเป็นอย่างมาก ความคืบหน้าที่น่าสนใจมากอย่างนึงคือ ความร่วมมือที่ขยายไปไกลว่าความร่วมมือทางทหารระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ เราจะเห็นว่า ฟิลิปปินส์กับญี่ปุ่น -- ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีประเด็นพิพาทกับจีนในกรณีหมู่เกาะสแปรตลีย์และเซ็นโกกุตามลำดับ -- เริ่มจับมือกัน มีการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารและความมั่นคงกัน พูดง่ายๆ ก็เป็นการส่งสัญญาณไปยังจีนนั่นเอง นี่ยังไม่นับกรณีที่เกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ตกลงกันเรื่อง comfort women สำเร็จอีก ที่เขียนมาทั้งหมดนี่ เป็นการชี้ให้มองในภาพรวมว่า บรรดารัฐที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และมีข้อพิพาทกับจีน มีความเคลื่อนไหวยังไง เขยิบเข้าใกล้กันมากขึ้นยังไง ซึ่งเป็นภาพใหญ่ของยุทธศาสตร์ทางความมั่นคงของสหรัฐฯที่คนยังไม่ได้พูดถึงกันมากนัก

 วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย 1.เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นพลังของพันธมิตรทางทหารระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯภายหลังการปิดฐานทัพ 2.เพื่อศึกษาคุณลักษณะของพันธมิตรระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯในยุคหลังการปิดฐานทัพ 3.เพื่อศึกษานัยของการฟื้นพลังของพันธมิตรระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯและนัยต่อประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

ความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา-ฟิลิปปินส์ ภายใต้ “ทศวรรษที่สูญหาย?”

สาเหตุที่ฑภิพร สุพร เรียก ค.ศ. 1991-2001 ว่าเป็นทศวรรษที่สูญหายนั้นคือ งานศึกษาที่มีอยู่โดยทั่วไปกล่าวว่า สหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ลดระดับความสัมพันธ์กันในทศวรรษดังกล่าว เนื่องจากสหรัฐอเมริกาถอนฐานทัพออกไป เนื่องจาก ในทศวรรษดังกล่าวเป็นทศวรรษหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น ต่อเนื่องไปถึงยุควินาศกรรม 2001 โดยในยุคสงครามเย็นนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับฟิลิปปินส์ เป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะสนิทสนมต่อกันมาก เนื่องจาก สหรัฐอเมริการบชนะสเปนในปี ค.ศ. 1898 และได้ฟิลิปปินส์มาเป็นอาณานิคม ซึ่งฟิลิปปินส์ภายใต้อาณานิคมของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างมีความสุขมาก เพราะสหรัฐอเมริกาปกครองฟิลิปปินส์อย่างดี ให้อิสระและโอกาสมากกว่าในสมัยที่ฟิลิปปินส์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน และแม้ว่าอเมริกาจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปกครองใหม่ของฟิลิปปินส์ แต่เนื่องจากตอนอยู่ในช่วงอาณานิคมสเปน ฟิลิปปินส์ก็พยายามเรียกร้องเอกราชมาโดยตลอด สหรัฐอเมริกาจึงผ่อนปรนให้ฟิลิปปินส์มีการปกครองของตนเอง โดยสหรัฐอเมริกายังมีอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะอยู่ในปี ค.ศ. 1935 มานูเอล กีซอน (Manuel Quizon) ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของเครือรัฐฟิลิปปินส์ (The Philippines Commonwealth) ซึ่งเป็นประเทศในอาณัติปกครองของสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นก้าวแรกของการปลดปล่อยฟิลิปปินส์ให้เป็นอิสระด้วยการปกครองตนเอง ฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกาจึงสนิทกันมากในช่วงอาณานิคม

หลังจากฟิลิปปินส์ได้เป็นเอกราชจากสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1946 สหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเนื่องกันอีก เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต้องการให้ฟิลิปปินส์เป็นพันธมิตรภายใต้การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกาเห็นความสำคัญของฟิลิปปินส์ในฐานะจุดยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงและสอดประสานกับยุทธศาสตร์การปิดล้อมคอมมิวนิสต์ในเอเชียแปซิฟิค ทั้งสองประเทศจึงเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกัน ทั้งในช่วงอาณานิคมและช่วงยุคสงครามเย็น 

ในทัศนะของผู้กำหนดนโยบายฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ สหภาพโซเวียตเป็นรัฐที่มีขีดความสามารถในการรุกราน มีเจตนาที่จะเปลี่ยนให้รัฐในภูมิภาคกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ตลอดจนมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และอาจส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดปลอดภัยของฟิลิปปินส์และรัฐในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสหภาพโซเวียตส่งกองกำลังเข้ามาประจำการ ณ อ่าวคัมรานห์ ประเทศเวียดนาม การต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นทำให้สถานะของพันธมิตรทางทหารระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯมีความสำคัญต่อกันและกันอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ กล่าวคือ ในขณะที่ฟิลิปปินส์ยังคงต้องการการค้ำประกันทางความมั่นคงจากสหรัฐฯ สหรัฐฯเองก็พิจารณาว่าฐานทัพในฟิลิปปินส์นั้นเปรียบเสมือนองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยส่งเสริมปฏิบัติการทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาสมุทรอินเดีย ตลอดจนเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นความสำคัญของฐานทัพฟิลิปปินส์ในทัศนะของสหรัฐฯ และความสำคัญของสหรัฐฯต่อการค้ำประกันทางความมั่นคงแก่ฟิลิปปินส์ต่างก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง ความท้าทายหลักที่สหรัฐฯจำต้องเผชิญคือ สหรัฐฯจะกำหนดทิศทางของนโยบายต่างประเทศ และบทบาทของตนอย่างไร แม้โลกในยุคหลังสงครามเย็นจะเป็นโลกที่สหรัฐฯผงาดขึ้นเป็นชาติอภิมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดระเบียบแบบแผนและทิศทางของการเมืองระหว่างประเทศ ประกอบกับเป็นโลกที่ประเด็นปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกกดทับเอาไว้ด้วยความขัดแย้งทางอุดมการณ์และประเด็นทางความมั่นคงแบบดั้งเดิม กลับเริ่มทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

โลกในยุคหลังสงครามเย็นนั้นก็ยังเป็นโลกที่ปรากฏให้เห็นทั้งปัญหาความขัดแย้งและสงครามระหว่างประเทศที่ยังมิได้สิ้นสุดลง จึงไม่ไกลเกินไปนักหากจะสรุปว่า สหรัฐฯ ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะรักษาสถานะชาติอภิมหาอำนาจของตนในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก นั้นไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญของประเด็นทางความมั่นคงแบบดั้งเดิมได้ โดยสิ่งที่สหรัฐฯให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ การสร้างและรักษาเครือข่ายพันธมิตรของตนในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางปัญหาและความท้าทายนานัปการในยุคหลังการปิดฐานทัพ สถานะของพันธมิตรทางทหารระหว่างฟิลิปปินส์ได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมถอยลงอย่างแท้จริง

การเสื่อมถอยของพันธมิตรก็มิได้หมายความว่าสายสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯจะสิ้นสุดลงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม พันธมิตรระหว่างทั้งสองประเทศกำลังอยู่ในช่วงของการปรับตัว โดยยังปรากฏให้เห็นโอกาสที่พันธมิตรทั้งสองชาติจะนิยาม "เหตุผลของการดำรงอยู่" ของพันธมิตรให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความท้าทายบทใหม่ของทั้งสองชาติ

ฑภิพรได้สรุปว่า ในทศวรรษดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการปิดฐานทัพสหรัฐฯในฟิลิปปินส์ ความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรทั้งสองชาติก็เสื่อมถอยลง แต่ไม่ได้หยุดยั้งลง เพราะในทศวรรษดังกล่าว พันธมิตรทั้งสองชาติก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไปและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและความท้าท้ายของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้เป็นอย่างดี โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้พันธมิตรระหว่างทั้งสองชาติยังสามารถดำรงอยู่ต่อไปภายหลังการปิดฐานทัพคือ “การเผชิญกับภัยคุกคามจากจีนในกรณีพิพาททะเลจีนใต้” ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ฑภิพรได้กล่าวถึง “ข้อพิพาททะเลจีนใต้” ในฐานะที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของการฟื้นพลังของพันธมิตรทั้งสองชาติในยุคหลังการปิดฐานทัพ

กล่าวคือ เมื่อฟิลิปปินส์จำต้องเผชิญกับขีดความสามารถทางทหารและท่าทีอันแข็งกร้าวของจีน ในเหตุการณ์ปะทะบริเวณ Mischief Reef ฟิลิปปินส์จึงหันไปรื้อฟื้นสายสัมพันธ์กับพันธมิตรอันเก่าแก่ของตนอย่างสหรัฐฯ แม้ในช่วงแรกสหรัฐฯจะมีท่าทีเป็นกลางต่อปัญหาพิพาทที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ แต่สหรัฐฯเองก็มีผลประโยชน์ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ประกอบกับยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯคือ “การรักษาสถานะของการเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของตนต่อไป” เมื่อปรากฏให้เห็นการขยับขยายเขตอิทธิพลของจีนเข้ามายังบริเวณที่สหรัฐฯพิจารณาว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ของตน การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างพันธมิตร จึงถือเป็นทางเลือกที่มีความสมเหตุสมผลมากที่สุดในทัศนะของผู้กำหนดนโยบายสหรัฐฯ

 ฑภิพรวิเคราะห์ว่า “ข้อพิพาททะเลจีนใต้” ส่งผลให้พันธมิตรทั้งสองชาติค้นพบ “เหตุผลของการดำรงอยู่” ตลอดจนช่วยทำให้พันธมิตรที่เหินห่างกลับมามีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น จนประสบความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงว่าด้วยการเยือนของกองกำลัง ซึ่งถือเป็นข้อตกลงที่มีสถานะเป็นกรอบทางกฎหมาย (legal basis) ของความร่วมมือทางทหารระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ โดยทำให้
 1. กองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯสามารถร่วมปฏิบัติการซ้อมรบร่วมกันบนแผ่นดินฟิลิปปินส์ได้อีกครั้ง
 2. ข้อตกลงดังกล่าวยังช่วยปูทางให้พันธมิตรทั้งสองชาติขยับขยายความร่วมมือทางความมั่นคงระหว่างกันต่อไปในยุคหลังเหตุการณ์ 9/11
 3. เป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นพลังและเสริมสร้างสายสัมพันธ์กับรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายของเครือข่ายพันธมิตรของสหรัฐฯให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น 

ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ยังได้ส่งผลกระทบต่อประชาคมอาเซียน ซึ่งมีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนเป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญ โดยได้ทำให้เห็นจุดอ่อน 3 ข้อที่บั่นทอนประสิทธิภาพของอาเซียนคือ
1. ปัญหาเรื่องการหวงแหนอำนาจอธิปไตย
2. หลักการเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกันของรัฐ
3. การเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ไม่สามารถตอบโต้กับปัญหาและความท้าทายจากภายนอกภูมิภาคได้อย่างเป็นเอกภาพ

 จุดอ่อนข้างต้นของอาเซียน ได้ทำให้เกิดการปรับตัวของอาเซียน โดยรัฐในภูมิภาคจึงตระหนักถึงปัญหาของความร่วมมือในระดับสถาบันภายในอาเซียนว่าไม่เพียงพอต่อการค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยของตนต่อไป และต้องการแสวงหาทางเลือกอื่นควบคู่กันไปกับการฝากความหวังไว้กับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปรากฏให้เห็นท่าทีอันเป็นภัยคุกคามจากจีนกรณีพิพาททะเลจีนใต้

ฑภิพรวิเคราห์ว่า นับตั้งแต่ที่พันธมิตรระหว่างฟิลิปปินส์-สหรัฐฯ ได้รับการฟื้นพลัง สหรัฐฯก็กลายเป็นรัฐมหาอำนาจที่มีบทบาทในฐานะผู้ค้ำประกันด้านความมั่นคงปลอดภัยให้แก่รัฐในภูมิภาคไปโดยปริยาย กระนั้นก็ดี นอกเหนือจากสหรัฐฯ จีนซึ่งผงาดขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจที่ขยับขยายอิทธิพลเข้ามายังดินแดนอุษาคเนย์ก็เป็นหนึ่งตัวแสดงที่มีความสำคัญยิ่งต่อเสถียรภาพทางการเมืองภายในภูมิภาค การขับเคี่ยวแข่งขันทางอำนาจระหว่างมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯและมหาอำนาจใหม่อย่างจีนนั้นตามมาด้วยชุดคำอธิบายเกี่ยวกับทางเลือกในการกำหนดนโยบายของรัฐในภูมิภาค
 1. ข้อเสนอที่ว่ารัฐในภูมิภาคจำต้องเลือกข้างระหว่างจีนและสหรัฐฯ
 2. รัฐในภูมิภาคไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลือกข้างว่าจะอยู่กับจีนหรือสหรัฐฯ แต่ควรใช้ยุทธศาสตร์ที่ผสมผสานกันระหว่างการปฏิสัมพันธ์กับจีน และการอำนวยความสะดวกแก่สหรัฐฯเพื่อโน้มน้าวให้สหรัฐฯรักษาบทบาทของการเป็นผู้ถ่วงดุลอำนาจจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป อย่างไรก็ดี

งานวิจัยนี้เสนอว่า ไม่ว่าบรรดารัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเลือกใช้ยุทธศาสตร์แบบใด ก็ไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่สำคัญได้ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นภูมิภาคที่ตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของรัฐมหาอำนาจที่มีบทบาทเหนือความร่วมมือในเชิงสถาบัน และแนวโน้มดังกล่าวก็จะยังเป็นแนวโน้มหลักของการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปอีกยาวนาน แม้อาเซียนจะประสบความสำเร็จในการยกระดับการบูรณาการสู่การเป็นประชาคมในปี 2015 แล้วก็ตาม 

ปัญหาภัยคุกคามในทะเลจีนใต้ มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์อย่างไร ในยุคสงครามเย็น “ภัยคอมมิวนิสต์” เป็นภัยคุกคามร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ ในยุคปัจจุบัน พฤติกรรมและเจตนาในการขยับขยายอิทธิพลของจีนเข้ามายังทะเลจีนใต้ก็นำไปสู่การสร้างสมการทางความมั่นคงใหม่ที่จีนได้กลายเป็นภัยคุกคามร่วมกันระหว่างมะนิลาและวอชิงตัน ซึ่งต่างเล็งเห็นความสำคัญในการคงไว้ซึ่งการเป็นพันธมิตร ตลอดจนพยายามที่จะยกระดับความร่วมมือทางความมั่นคงระหว่างทั้งสองชาติให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

 ด้วยเหตุนี้ พันธมิตรระหว่างทั้งสองชาตินั้นมีลักษณะที่สำคัญคือ การถ่วงดุลเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามจากจีน และการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการเยือนระหว่างกองกำลังระหว่างพันธมิตรทั้งสองชาติจึงเป็นการส่งสัญญาณไปยังจีนว่า สหรัฐฯมิได้ทอดทิ้งฟิลิปปินส์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากแต่ยังต้องการรักษาบทบาทนำในฐานะรัฐมหาอำนาจซึ่งมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาคนี้ต่อไป และที่สำคัญที่สุด

ข้อตกลงดังกล่าวยังเป็นรากฐานสำคัญของสายสัมพันธ์ทางความมั่นคงระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ซึ่งช่วยให้พันธมิตรทั้งสองชาติร่วมมือกันเพื่อตอบโต้กับความท้าทายของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าว สหรัฐฯจึงมีข้ออ้างทุกประการ ที่จะเพิ่มบทบาทของตนในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนเริ่มแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อปัญหาพิพาททะเลจีนใต้มากยิ่งขึ้น

โดยจุดยืนของสหรัฐฯที่ว่า “สหรัฐอเมริกามีผลประโยชน์แห่งชาติในเสรีภาพในการเดินเรือ การเข้าถึงพื้นที่ทางทะเลอย่างเสรี และการเคารพ กฎหมายระหว่างประเทศ ในทะเลจีนใต้” มักเป็นถ้อยแถลงที่สหรัฐฯแสดงออกต่อปัญหาพิพาททะเลจีนใต้ในบริบทปัจจุบันอยู่เสมอ

 อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ได้เน้นว่า “การพิจารณาว่าสหรัฐฯนั้นได้ “หวนคืนสู่เอเชีย” นั้นจึงเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อนจากความเป็นจริง” เพราะสหรัฐฯเป็นชาติที่มีผลประโยชน์ในเอเชียแปซิฟิกมา ช้านานและไม่เคยถอนกองกำลังออกจากภูมิภาคนี้ เพราะฉะนั้น สหรัฐฯจึงไม่จำเป็นที่ จะต้อง “หวนคืน” สู่เอเชียแต่อย่างใด เพราะสหรัฐฯก็ตระหนักถึงขีดความสามารถและศักยภาพของจีน ซึ่งอาจเป็นภัยต่อสถานะของการเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวในภูมิภาคของสหรัฐฯมาโดยตลอด เมื่อจีนเริ่มผงาดขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจใหม่ และเริ่มแสดงท่าทีและเจตนาอันแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น การให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชีย การเสริมสร้างสายสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรและมิตรประเทศ ตลอดจนการปรากฏตัวเพื่อยืนยันสถานะของการเป็นมหาอำนาจของตน จึงล้วนสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของนโยบายต่างประเทศของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯที่ไม่เคยละสายตาจากภูมิภาคเอเชีย

 เพราะฉะนั้น แทนที่จะกล่าวว่านโยบายการปรับสมดุลใหม่ของสหรัฐฯนั้นสะท้อนให้เห็นการกลับสู่เอเชียของสหรัฐฯ ควรจะกล่าวเสียใหม่ว่า นโยบายดังกล่าวนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มเติมบทบาทและการปรากฏตัวของสหรัฐฯที่มีอยู่แต่เดิมในภูมิภาคเอเชียให้มีมากยิ่งขึ้นในห้วงยามที่ปรากฏให้เห็นการขยับขยายอำนาจและอิทธิพลของมหาอำนาจใหม่อย่างจีนเข้ามายังเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ

 หนังสือเล่มนี้ยังต้องการตอบคำถามสำคัญที่ว่า การฟื้นพลังของพันธมิตรระหว่างฟิลิปปินส์และ สหรัฐฯมีนัยอย่างไรต่อประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ควบคู่กันไปกับการชี้ให้เห็นว่า ประชาคมอาเซียนนั้นมิได้มีแค่ประชาคมเศรษฐกิจ หากแต่ยังประกอบด้วยเสาหลักที่สำคัญอีกสองประการที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของประชาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสาด้านประชาคมความมั่นคง

อย่างไรก็ดี หนังสือเล่มนี้ก็มีข้อจำกัดที่สำคัญอย่างน้อยสองประการ ประการแรก ขอบเขตของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้อยู่ระหว่างปี 1991-2001 แต่ต้องการนำเสนอนัยที่สำคัญของชุดความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรทั้งสองชาติต่อประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประการที่สอง ในช่วงที่เขียนหนังสือเล่มนี้ประชาคมอาเซียนยังไม่ถือกำเนิดขึ้น เพราะฉะนั้น การตอบคำถามที่สำคัญข้างต้นจึงเป็นไปในรูปแบบของการทดลองนำเสนอชุดคำอธิบายที่สะท้อนความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นโดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสถานะของอาเซียนในบริบทปัจจุบันเป็นสำคัญ บทสรุปของหนังสือเล่มนี้ที่จะมีต่อพัฒนาการของประชาคมอาเซียนคือ หลักการการไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน, การหวงแหนอำนาจอธิปไตย และการไม่สามารถตัดสินใจร่วมภันในฐานะองค์กรระหว่างประเทศนั้น เป็นจุดอ่อนที่ทำให้อาเซียนไม่อาจเป็นองค์กรที่ค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยให้กับสมาชิก และต้องการแสวงหาทางเลือกอื่นควบคู่กันไปกับการฝากความหวังไว้กับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเห็นว่า จีนเป็นภัยคุกคามต่อกรณีพิพาททะเลจีนใต้ และไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่สำคัญได้ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นภูมิภาคที่ตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของรัฐมหาอำนาจที่มีบทบาทเหนือความร่วมมือในเชิงสถาบัน และแนวโน้มดังกล่าวก็จะยังเป็นแนวโน้มหลักของการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปอีกยาวนาน แม้อาเซียนจะประสบความสำเร็จในการยกระดับการบูรณาการสู่การเป็นประชาคมในปี 2015 แล้วก็ตาม

วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2559

เมียนมาร์เปิดเสรีโทรศัพท์มือถือแล้ว ... รู้ยัง


เมื่อเช้า วันที่ 4 มกราคม 2558
ฟังคุณนพพร วงศ์อนันต์ พูดเรื่องอาเซียน....ใน 96.5
เขาพูดเรื่องเมียนมาร์....


เล่าให้ฟังว่า คนเมียน์มาร์มากกว่าครึ่ง มีโทรศัพท์ใช้ และคนที่มีโทรศัพท์ใชันั้น ส่วนใหญ่คือ ราว 80 %ใช้โทรศัพท์ smart phone (ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีแค่ 70-75 %) สาเหตุมาจากการที่โทรศัพท์มีราคาถูกลงมาก และ provider ในเมียนมาร์ก้อมีหลายเจ้า ทั้งของรัฐบาล, เทเลนอร์ และอูรีดู ของการ์ตาอีกประเทศนึง
คนเมียร์มาร์ส่วนใหญ่ที่ใช้ smartphone นั้น ชอบใช้ Facebook และ Viber
"""""""""""""""
คุณนพพรเล่าให้ฟังว่า ที่คนเมียนมาร์ออกมาประท้วงรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 24 ธค. นั้น มาจากการรณรงค์เรียกร้องของคนพม่า ที่ส่งข่าวกันในทาง social media ในเรื่องคดีเกาะเต่า และยังมีนักร้องเซเลปของเมียนมาร์อีกคน ที่ออกมาช่วยรณรงค์เรื่องนี้


ในเรื่องข้อเรียกร้องนั้น เขาไม่ได้เรียกร้องเฉพาะกับรัฐบาลไทยเท่านั้น แต่เขาเรียกร้องกับรัฐบาลทหารตัวเองด้วย ที่ไม่สร้างงานให้คนท้องถิ่น จนต้องออกไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งไม่มีอะไรคุ้มครอง นอกจากนี้เมื่อคนเมียนมาร์ถูกตัดสินคดีความ ทางการเมียนมาร์ก้อไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ...


คนเมียนมาร์ มีเหตุผล 100% ในการออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลไทย และรัฐบาลตัวเอง และคนเมียร์มาร์เป็นคนที่ติดตามข้อมูลข่าวสาร ไม่ได้จมงมโง่ โดนใครเขาหลอกเอาง่าย ๆ


ดังนั้นถ้าทางการข่าวไทยจะกล่าวว่า "การชุมนุมของคนเมียนมาร์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยุยงปลุกปั่นของคนไทย" นั้นเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังเป็นอย่างมาก


...................................................
ทางการไทยควรมีการทำการข่าวโดยยกอคติออกไปให้มากกว่านี้ ...ไม่ใช่อะไร ๆ ก้อโยงกับเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง